HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/02/2555 ]
คนรุ่นใหม่กับภารกิจสู้มะเร็งตับ
          จินดาวัฒน์ ลาภเลี้ยงตระกูล
          ภาพล้อมวงกินข้าวเหนียวจิ้มแจ่วอย่างสนุกสนาน เป็นภาพที่สะท้อนถึงความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตตามรูปแบบของชาวอีสานบ้านเฮา และโดยไม่ต้องการพิธีรีตองใด ๆ การทำครัวริมทุ่งปลายนาก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก นอกจากจะได้บรรยากาศม่วนซื่นแล้วยังต้องติดใจในรสชาติที่แซบหลาย เพราะมีเนื้อปลาสดเปี่ยมด้วยโปรตีน พร้อมด้วยเครื่องเทศรสชาติร้อนแรง ทั้งพริก กระเทียม น้ำปลา และที่ขาดไม่ได้คือน้ำมะนาวเพื่อลดความคาวและทำให้เนื้อปลาดิบ ๆ แข็งเป็นสีขาว
          '.เพราะความเชื่อที่ว่าน้ำมะนาว หรือแอลกอฮอล์ในเหล้าจะช่วยฆ่าเชื้อโรคและพยาธิต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อปลา และทำให้เนื้อปลาสุกได้นั้น เป็นความเชื่อที่ผิดถนัด และนั่นเองที่เป็นตัวการทำให้ภาคอีสานของไทย ติดอันดับพบผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ในตับมากที่สุดในโลก."  คำยืนยันที่หวังจะลบความเชื่อเดิม ๆ โดย นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ บอกเล่าพร้อมอธิบายถึงรูปแบบของโรคมะเร็งตับและสถิติการเกิดของโรค
          มะเร็งตับ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ "มะเร็งตับ ชนิดเซลล์ตับ" สาเหตุหลักเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ซี และสาร อะฟลาทอกซินในเชื้อราบางชนิดที่ขึ้นบนถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม เป็นต้น ส่วนมะเร็งตับอีกชนิด เรียกว่า "มะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี" สาเหตุหลักเกิดจากพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งมาจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และการได้รับสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า สารไนโตรซามีน จากอาหารจำพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม ฯลฯ  และอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น
          โดยปัจจุบันเราจะพบสถิติการเกิดโรคมะเร็งตับ ชนิดเซลล์ตับมากที่สุดทั่วประเทศ แต่ในขณะเดียวกันอัตราการพบมะเร็งตับ ชนิดเซลล์ท่อน้ำดี กลับพบมากที่สุดเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คิดเป็นประชากรจำนวนประมาณ 6 ล้านคนทั่วประเทศที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และหากเฉพาะเจาะจงชาวอีสานบ้านเฮา ในจำนวน 1 แสนคน ก็จะพบผู้ชายป่วยเป็นโรคนี้เฉลี่ย 80 คน ส่วนผู้หญิงอยู่ที่เฉลี่ย 40 คน นอกจากนี้มะเร็งตับยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตชายไทยมากเป็นอันดับหนึ่งด้วย
          'จุดน่าสนใจที่ว่าเหตุใดจึงพบเพศชายป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิงถึงเท่าตัว ก็เป็นเพราะความเชื่ออีกนั่นแหละ โดยส่วนมากคนอีสานมักจะกินของดิบพร้อมกับเหล้าในมื้ออาหาร เพราะคิดว่าช่วยเจริญอาหารและฆ่าเชื้อโรคในเนื้อปลาได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ดังนั้นเมื่อกินไปนาน ๆ เข้า ทั้งพิษจากแอลกอฮอล์ก็เข้าไปทำร้ายตับ ร่วมกับพยาธิที่เข้าไปเจริญเติบโตในท่อน้ำดีซึ่งอยู่ในตับ ทำให้ในที่สุดก็ป่วยเป็นมะเร็งตับ"
          ที่ผ่านมามูลนิธิสถาบัน
          มะเร็งแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของ บริษัท ไบเออร์ไทย ได้จัดโครงการ "เรียนรู้เท่าทัน ป้องกันมะเร็งตับ"ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยในปีแรกเป็นการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชุมชนผ่านการฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อสร้างความเข้าใจโดยตรง จากนั้นในปี 2553 ก็เริ่มขยายวงกว้างไปสู่การอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเยาวชน หรือ อสม.เยาวชน จาก 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          ผลลัพธ์เริ่มบังเกิดในปีสุดท้ายของโครงการ เมื่อ อสม.เยาวชนเหล่านั้นนำความรู้ที่ได้ไปสานต่อจนเกิดเป็นกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การลงพื้นที่ของกลุ่มนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุบลราชธานี ตัวแทน อสม.เยาวชน จังหวัดอุบลราชธานี
          นายทินกร สมัญญา หรือ น้องเกมเล่าว่า ในปีที่ผ่านมา นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มรภ.อุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 แห่ง ใน 2 อำเภอ ได้แก่ รร.บ้านแขม รร.บ้านยางน้อย อ.เขื่องใน และ รร.บ้านดอนก่อ อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นอำเภอที่พบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี
          "หลักสำคัญในการลงไปให้ความรู้น้อง ๆ เราจะใช้สื่อง่าย ๆ ในการสร้างความเข้าใจ เช่น บทเรียนการ์ตูน เพลงพร้อมท่าทางประกอบสนุก ๆ ที่ทั้งหมดเราคิดขึ้นมาเอง โดยสิ่งสำคัญคือต้องให้น้อง ๆ จดจำและสามารถเล่าต่อได้ เพื่อที่จะได้นำไปเผยแพร่ต่อชุมชน เช่น เราใช้วิธีสร้างเรื่องเล่าเป็นนิทานและเล่นให้น้อง ๆ ดู แล้วก็ให้เขาร่วมเล่นละครด้วยตัวเอง เนื้อเรื่องก็เป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน อย่างการกินปลาที่จับได้จากหนองคลองบึงโดยไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้สุกก่อน การเรียนรู้ต่าง ๆ เหล่านี้จะสร้างการจดจำให้กับพวกเขา อย่างน้อย ๆ ต่อไป น้อง ๆกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ต้องป่วยเป็นโรคร้ายเพราะความเคยชินที่ผิด ๆ กับการกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และในที่สุดสถิติของการตายเพราะโรคนี้อาจจะลดลงได้"
          น้องน้ำ หรือ ด.ญ.สายธาร พลจันทร์ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอไม่เคยรู้จักกับโรคร้ายอย่างมะเร็งตับมาก่อน แต่พอได้รับฟังความรู้จากพี่ ๆ ก็รู้สึกกลัวมาก ๆแถมยังคิดว่าตัวเองและพ่อแม่โชคดีที่ไม่มีใครนิยมกินของสุก ๆ ดิบ ๆ กันมาแต่ไหนแต่ไร เพราะถือว่าเป็นของแปลกก็เลยไม่ชอบกิน ดังนั้นจึงไม่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยง แต่ในครอบครัวของคนใกล้ชิด อย่างบ้านของลุงป้าน้าอานั้น เธอบอกว่าไม่แตกต่างจากครอบครัวชาวอีสานทั่วไป ที่มักชอบบริโภคอาหารอีสานที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เอามาก ๆ
          "หนูก็เตือนเขาค่ะ เวลาเห็นคนรู้จักกันกินของดิบ ก็บอกเขาว่ากินแล้วจะเป็นมะเร็งตับแล้วก็ตายด้วย ส่วนมากเขาก็จะถามว่าเป็นยังไง หนูก็อธิบายให้เข้าใจว่าเกิดจากพยาธิที่อาศัยอยู่ในปลาน้ำจืดที่เขากินทั้งที่ยังไม่สุก ส่วนมากเขาก็รับฟังดี แต่จะเชื่อแล้วทำตามด้วยหรือเปล่า หนูไม่ทราบค่ะ"
          แล้วก็จริงอย่างที่เด็กพูด นั่นคืออาจมีบ้างที่ยังไม่รู้ว่าอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบเป็นตัวการของโรคร้าย แต่ก็มีไม่น้อยที่รู้แล้วแต่ก็ยังกินเพราะเคยชินและชอบ ซึ่ง พญ.อิสราภรณ์ แสงใสแก้ว จากสาขาเคมีบำบัด ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี บอกว่า สาเหตุที่การรณรงค์ดูเหมือนจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล เพราะโรคนี้ เมื่อเป็นแล้วกว่าจะเห็นอาการจะกินระยะเวลานาน โดยข้อมูลที่คนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาหาหมอหลังพบว่าป่วยเป็นโรคนี้แล้วโอกาสที่จะไม่ตายนั้น "มีน้อยมาก""โดยส่วนมากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะพบอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องและน้ำหนักตัวลด ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณอันตรายแล้วสำหรับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวก็กินระยะเวลานาน และพอมาหาหมอก็มักจะได้รับคำตอบว่าให้กลับไปใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายกับครอบครัวอย่างมีความสุขจะดีกว่า นั่นหมายความว่าอัตราการรอดชีวิตมีน้อยมาก ซึ่งจากสถิติที่พบหลังการตรวจเจอโรคแล้ว คนไข้จะอยู่รอดต่อได้อีกแค่ประมาณ 3-6 เดือน และหากมีการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จะยื้อชีวิตอยู่ต่อได้สูงสุด 1 ปีครึ่งเท่านั้น ส่วนวิธีการรักษาเพื่อให้หายขาดทำได้ทางเดียวคือการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกให้หมด แต่ในท้ายที่สุดก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกอยู่ดี ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด"
          พูดกันตรง ๆ เรื่องของมัก (ชอบ) บวกกับความอยากและความเชื่อผิด ๆ นั้น ดูจะเป็นงานที่ยากและหนักเอาการสำหรับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ที่ถูกต้องให้กับชาวบ้านรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เช่นนั้นแล้วการเพาะบ่มความรู้ให้กับเยาวชนและต่อยอดไปถึงน้อง ๆ รุ่นเด็กเล็กของโครงการฯ นี้ ก็หวังว่าจะเป็นยาขนานเอกที่จะช่วยทำลายสถิติการครองอันดับเป็นโรคมะเร็งตับของชาวอีสานบ้านเราให้ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า.

pageview  1204946    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved