HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 29/05/2555 ]
ผวาเทือกเขาภูพาน-แหล่งเพาะเชื้อมาลาเรีย ระวังยุงก้นปล่องกัด..อันตรายถึงชีวิต!!

การแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรีย หรือโรคไข้จับสั่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนแผ่นดินที่ราบสูงของ "เมืองน้ำดำ" จ.กาฬสินธุ์ ได้สร้างความหวาดผวาให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ผืนป่าภูพาน หลังจากที่ โรงพยาบาลสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ได้ประกาศผลการสอบสวนโรคมาลาเรีย นั้นเกิดจากสาเหตุที่ชาวบ้านได้เดินทางเข้าไปหาของป่าภายในอุทยานแห่งชาติภูพาน
          นพ.สมยศ เหรียญกิตติวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ปัญหาโรคไข้มาลาเรีย ทีมแพทย์โรงพยาบาล และกลุ่มงานป้องกันโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุข ได้เฝ้าสังเกตปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้มาก่อนหน้า 3 ปี เพราะตั้งแต่ปี 2553 ใน
          พื้นที่เริ่มมีการพบประชาชนติดเชื้อโรคไข้ป่า หรือโรคมาลาเรียมาแล้ว ซึ่งกระบวนการสอบสวนโรคยังไม่ชัดเจน เนื่องจากผู้ป่วยมาจากจังหวัดอื่น จนมาเกิดความชัดเจนในปี 2555 หลังจากงานป้องกันโรคติดต่อโรงพยาบาล ทำการตั้งสมมุติฐานพร้อมกับบันทึกสถิติพบว่า ในเดือนมกราคม 2555 เริ่มพบผู้ป่วยพร้อมกันถึง 6 ราย และเพิ่มมากขึ้นถึง 62 รายในเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยถึง 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.แซงบาดาล ต.มหาไชย และ ต.ผาเสวย
          "แนวทางการสอบสวนโรคที่น่าตกใจ ผู้ป่วยทุกรายเกิดจากผลการเข้ารับเชื้อภายในป่าภูพาน ที่ระบุว่าได้เดินเข้าไปหาของในป่าลึก ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าได้ถูกยุงก้นปล่องในป่ากัด แต่เมื่อผ่านกระบวนการรักษาผู้ป่วยบางรายไม่ยอมรับประทานยาให้ครบ จึงทำให้เกิดเชื้อตกค้างในตัว และยุงก็ยังไปกัดชาวบ้านในหมู่บ้าน จนทำให้เกรงว่าจะเกิดการระบาดที่อาจจะลุกลามเนื่องจากโรคนี้มีลักษณะคล้ายกับโรคไข้เลือดออกหรือโรคฉี่หนู ที่จะมีอาการตัวร้อนอย่างรุนแรง" นพ.สมยศ กล่าวขณะที่ นพ.พิสิทธิ์  เอื้อวงศ์กูล  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียหรือโรคไข้จับสั่น มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่ยังคงเดินทางเข้าไปหาของป่าภายในอุทยานแห่งชาติภูพาน ซึ่งจากการสอบสวนโรคทำให้ทราบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่อำเภอสมเด็จ จำนวน 62 ราย เป็นกลุ่มคนที่ไปติดเชื้อโรคไข้มาลาเรียจากป่าลึกในเขตป่าภูพานด้านจังหวัดสกลนคร อีกทั้งยังพบว่ามีประชาชน ในเขต อ.ห้วยผึ้ง อ.นาคู โดยเฉพาะ อ.คำม่วง ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ล่าสุดปัจจุบันพบตัวเลขผู้ป่วยแล้ว 102 ราย
          นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ย้ำว่า โรคนี้ถึงแม้ปัจจุบันจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในกลุ่มผู้ป่วยซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำจะเสี่ยงทำให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากโรคนี้เชื้อโรคจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดง ไม่ว่าจะเป็นในตับหรือบางรายหากรุนแรงจะทำให้เชื้อโรคขึ้นสมองดังนั้นแนวทางการป้องกันประชาชนไม่ควรเข้าป่าและหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด อย่างไรก็ตามในขณะนี้ได้กำชับให้ อสม. ทุกหมู่บ้านเข้าทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงกับให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้ครบตามจำนวนเพื่อกำจัดเชื้อในร่างกายให้หมดไป
          สำหรับโรคมาลาเรียในกลุ่มผู้ติดเชื้อ โรคนี้จะเริ่มทำการฟักตัวทั่วไปเป็นเวลา 10-14 วัน ตั้งแต่ยุงกัดไปจนเริ่มอาการมาลาเรีย ซึ่งเมื่อแสดงอาการ 2-3 วันแรก ไข้ยังจับไม่เป็นเวลา แต่เมื่อมีอาการไข้จะเริ่มหนาวสั่นเกร็ง อุณหภูมิในร่างกายสูง แต่ชีพจรจะเต้นเร็วและเบา แรงดันโลหิตแรง ผิวซีด มีอาการอาเจียนคลื่นไส้บางรายภูมิต้านทานต่ำจะทำให้เชื้อกินเม็ดเลือดแดง หรือขึ้นสมองจนเสียชีวิต
          อย่างไรก็ตามเมื่อจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรีย ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ดังนี้ สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อน ๆ ทายากันยุง นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน) ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ควรพ่นยากันยุงก่อน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการป้องกันได้เป็นอย่างดี หากไม่ละเลยการระบาดของโรคนี้ก็จะไม่มีเช่นกัน.


pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved