HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 11/02/2555 ]
ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลตซีสต์

         อาจารย์นายแพทย์ศรีเธียร เลิศวิกูล

          ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
          หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของโรคช็อกโกแลตซีสต์ หรือโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งหมายถึง โรคที่มีภาวการณ์เจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่
          ลักษณะอาการ โดยปกติแล้วเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญเติบโตภายในโพรงมดลูก  แต่ถ้ามีการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูกผิดที่จะทำให้เกิดอาการ ซึ่งอาการแสดงของโรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่พบภายนอกมดลูก เป็นชนิดที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้อง รวมถึงอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบได้ที่ ท่อไต ลำไส้เล็ก ปอด สมอง และบริเวณผิวหนัง หรือแผลผ่าตัด เป็นต้น อีกชนิดพบได้ในกล้ามเนื้อมดลูก อันเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญแทรกอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนและตรวจพบว่ามดลูกมีขนาดโตขึ้น โดยทั่วไปโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จะหมายถึง ชนิดที่พบภายนอกมดลูก
          ช็อกโกแลตซีสต์ และคำว่า ซีสต์ หมายถึง ถุงน้ำ ช็อกโกแลตซีสต์ จึงเป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคเยื่อบุโพรงมดเจริญผิดที่ โดยตัวโรคไปเกิดขึ้นที่รังไข่ในลักษณะของถุงน้ำ ที่เราเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ เพราะลักษณะของถุงน้ำในโรคนี้ ภายในมีของเหลวที่มีลักษณะคล้ายกับช็อกโกแลต
          สำหรับสาเหตุของการเกิดถุงน้ำช็อกโกแลต เชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดระดู หรือประจำเดือนมีการไหลย้อนกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ผ่านทางท่อนำไข่ ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาผู้หญิงมีประจำเดือน นอกจากเลือดประจำเดือนจะไหลออกมาทางช่องคลอดแล้ว จะมีเลือดบางส่วนไหลผ่านท่อนำไข่เข้าไปในอุ้งเชิงกราน โดยเลือดประจำเดือนนี้จะมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีกลไกในการกำจัดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้ แต่ในผู้หญิงบางคนมีความผิดปกติของกลไกในการกำจัดเซลล์เหล่านี้ ทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมานั้น ไปฝังตัวตามจุดต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกราน รวมถึงรังไข่ และเจริญเติบโตจนทำให้เกิดถุงน้ำขึ้น เวลาที่เรามีประจำเดือน เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่ในถุงน้ำก็จะมีเลือดออกเข้าไปในถุงน้ำนั้นด้วย เมื่อเวลาผ่านไป น้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบในถุงเลือดนั้นจะถูกดูดซึมกลับ ทำให้เลือดในถุงมีลักษณะเข้มขึ้น และเมื่อค้างอยู่นาน ๆ ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต เราจึงเรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีสต์
          ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงจะสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน พบว่าสตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อน ๆ สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน(วัยทอง) ช้ากว่าปกติ สตรีที่มีประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน สตรีที่รอบเดือนมาถี่หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้น สตรีที่มีแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคนี้ สตรีที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าสตรีที่ดื่มแอลกอฮอล์ และกาแฟมาก ๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้น
          สำหรับอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต ได้แก่ อาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง (มีอาการปวดท้องน้อยนานกว่า 6 เดือน) มีบุตรยาก ในบางคนคลำได้ก้อนที่ท้องน้อย หรือบางคนอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ส่วนน้อยอาจมีอาการอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของโรค เช่น มีก้อนโตขึ้นและปวดในช่วงที่เป็นประจำเดือน หรือมีอาการไอเป็นเลือดในช่วงเป็นประจำเดือน เนื่องจากมีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่ปอด เป็นต้น
          แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดประจำเดือนนั้น เป็นอาการปวดประจำเดือนตามปกติที่ผู้หญิงเป็นกัน หรือเป็นจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ในเรื่องนี้แนะนำให้ดูที่อายุ และลักษณะอาการปวดประจำเดือนที่เป็น ถ้าอายุยังไม่มากแล้วมีอาการปวดท้องน้อยเวลามีประจำเดือน โดยเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่เริ่มเป็นประจำเดือนครั้งแรก อาการปวดเป็นเท่า ๆ เดิมไม่ได้ปวดรุนแรงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดประจำเดือนธรรมดา แต่ถ้าอายุมากขึ้น แล้วอยู่ ๆ มาเริ่มมีอาการปวดประจำเดือน หรืออาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เดิมมีอาการปวดประจำเดือนไม่มาก พอทนได้ หรือทานเพียงยาพาราเซตามอลก็หาย แต่ต่อมาอาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น ต้องทานยาแก้ปวดปริมาณมากขึ้น หรือต้องทานยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น มีอาการปวดจนต้องหยุดเรียน หยุดงาน หรือปวดจนรบกวนชีวิตประจำวัน หรือบางคนถึงขั้นต้องไปฉีดยาแก้ปวดที่คลินิกหรือโรงพยาบาล อาการดังกล่าวค่อนข้างบ่งชี้ว่า น่าจะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าโรคช็อกโกแลตซีสต์นี้เป็นอันตรายต่อ
          สุขภาพอย่างไร ภาวะนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจำเดือน ทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปปวด ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางครั้งส่งผลทางด้านการงานและสังคม ทำให้เราต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานเนื่องจากอาการปวด ในบางคนเกิดการแตกของถุงน้ำ จะทำให้เกิดอาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน นอกจากนั้นโรคนี้อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะ
          ทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางราย
          เป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อ
          นำไข่ ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องรักษา
          โดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยี
          ช่วยในการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็ก
          หลอดแก้ว สำหรับบางท่านกังวลว่า
          ช็อกโกแลตซีสต์นี้สามารถกลายเป็น
          มะเร็งได้ไหม ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า โอกาสที่โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นจะกลายเป็นมะเร็ง มีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1%
          ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ แนะนำให้พบสูตินรีแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจภายใน ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์นั้นอาจทำการตรวจทางหน้าท้อง หรือตรวจทางช่องคลอด ซึ่งแพทย์จะเลือกตรวจตามความเหมาะสม แต่สำหรับการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุดคือ การส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ เอามาตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งการตรวจโดยวิธีส่องกล้องนี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกคน แพทย์จะทำเมื่อเห็นว่ามีความเหมาะสม
          การรักษาโรคนี้ หลัก ๆ มี 3 วิธี คือ การใช้ยา การผ่าตัด หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน โดยวิธีการรักษาจะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วย ได้แก่ อาการของผู้ป่วย อายุ ความต้องการมีบุตร และความรุนแรงของโรค โดยการรักษาแบบใช้ยามีทั้งการใช้ยาในกลุ่มที่มีฮอร์โมน และไม่มีฮอร์โมน ส่วนการผ่าตัดก็มีทั้งวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งวิธีการผ่าตัดส่องกล้องจะมีข้อดีคือ แผลเล็ก ปวดแผลน้อย ใช้เวลานอนรักษาในโรงพยาบาลหรือการพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้นกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่ว่าวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และต้องอาศัยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งวิธีการรักษานั้น แพทย์จะเลือกตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย
          สุดท้ายนี้ ขอแนะนำว่า ในกรณีที่เรามีอาการปวดประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดนั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น ขอให้ท่านรีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

pageview  1204972    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved