HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 11/05/2555 ]
หยุดโรคร้ายภัยผู้หญิง 'กันมะเร็ง' 'ตั้งแต่เด็ก'แนวใหม่

"มะเร็ง" ยังคงเป็นกลุ่มโรคที่มวลมนุษยชาติยังต้องเกรงกลัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวงการแพทย์ก็มีองค์ความรู้เท่าทันโรคร้ายนี้มากในระดับหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าการรักษาอาจจะยังทำได้ยากยิ่ง แต่ยุคนี้กับการปฏิบัติตนที่เป็นการป้องกันภัยมะเร็งก็เป็นความรู้ที่เรียนรู้ได้ไม่ยาก ก็อยู่ที่จะปฏิบัติกันได้แค่ไหน นอกจากนี้ กับมะเร็งบางชนิดนั้นในยุคนี้ก็มีการคิดค้น 'วัคซีนป้องกัน" ได้ระดับหนึ่ง อย่าง 'มะเร็งปากมดลูก" อีกโรคร้ายภัยผู้หญิงในไทยขณะนี้ก็กำลังมีแนวคิดส่งเสริมการใช้ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกนั้น การป่วย-การรักษาก็จะแบ่งระยะเหมือนมะเร็งอื่น ๆ คือแบ่งออกเป็นระยะตั้งแต่ 0-4 โดยการรักษาก็ไล่ขึ้นไปตั้งแต่ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ถ้าเป็นระยะ 2 เซลล์มะเร็งกระจาย ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ต้องฉายรังสี และให้เคมีบำบัดหรือคีโม ซึ่งได้ผลราว 60%, ระยะ 3 เซลล์มะเร็งยิ่งกระจาย ซึ่งการใช้รังสีรักษา และให้เคมีบำบัด ในระยะ 3 นี้จะหวังผลได้เพียงแค่ 20-30%
          ระยะ 2 ถึงระยะ 3 จะต้องให้คีโมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 5 สัปดาห์ และฉายรังสีทุกวัน 5 สัปดาห์ ถ้าถึงระยะ 4 เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกาย การให้คีโม และรักษาตามอาการ หวังผลได้เพียง 5-10% ซึ่งโอกาสรอดน้อยมาก และนอกจากนี้ ย้อนกลับไปดูที่ระยะ 2 แม้ผลการรักษาจะมีโอกาส 60% ที่จะหาย แต่อีก 40% คือยังมีโอกาสเป็นใหม่อีก ซึ่งถ้าเป็นอีกก็จะยิ่งรักษายากมาก โอกาสมีแค่ 5-10% เท่านั้น เพราะมะเร็งจะดื้อยา
          นี่ฉายภาพการรักษาที่ยาก สิ้นเปลือง ทรมานการป่วยเป็น "มะเร็งปากมดลูก" เกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพ็ปพิลโลมาไวรัส หรือเอชพีวี (Human Papilloma virus : HPV) ชนิดที่ก่อมะเร็ง ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่เคยมี กำลังมี หรือจะมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกโดยมะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และในประเทศไทยก็มีผู้ป่วยจำนวนมาก บางรายเป็นคนดัง บางรายเป็นดารา ซึ่งก็มีข่าวการเสียชีวิตอยู่เนือง ๆ ควบคู่กับข่าวความทรมาน ของผู้ที่ป่วย ครอบครัว กับอาการของโรค และกับค่าใช้จ่ายในการรักษา
          กับเรื่อง "มะเร็งปากมดลูก" ในประเทศไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ระบุเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า.แต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกกว่า 5,200 รายส่วนใหญ่ร้อยละ 60 พบในกลุ่มอายุ 15-59 ปี แต่การเกิดในหญิงไทยที่พบมากสุดคืออายุ 40-45 ปี โดย พบผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละประมาณ 275,000 ราย
          สำหรับในไทย ที่ผ่านมาอัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีราว 10 ล้านคน ได้ร้อยละ 70 ซึ่งก็ต้องถือว่าการควบคุมป้องกันมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทยยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากประเพณี ความเชื่อ และความเขินอาย ไม่กล้าพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่
          เมื่อป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว จะต้องใช้เวลารักษาติดต่อกัน 4-5 ปี ค่ารักษาต่อรายเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาท และบางรายการรักษาก็ไม่ได้ผล เพราะรู้และรักษาเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามแล้ว
          ทั้งนี้ กับการควบคุมป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยให้ได้ผลดีขึ้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดเรื่องการใช้ 'วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี" ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ ควบคู่กับการตรวจคัดกรองเพื่อการรู้และรักษาได้ทัน โดย วิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยไว้ว่า.นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ให้ศึกษาเรื่องนี้ โดยล่าสุดมีตัวเลขผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ควรรับวัคซีนป้องกันประมาณ 4 แสนราย ส่วนใหญ่จะเน้น เด็กหญิงกลุ่มอายุ 12 ขวบ อย่างไรก็ดี ที่ยังต้องศึกษาคือเรื่องราคาวัคซีนที่ยังสูง ซึ่งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เคยศึกษาว่าไม่ควรเกินเข็มละ 200 บาท จุดนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา
          ด้าน นพ.สุรวิทย์ ระบุถึงเรื่องวัคซีนนี้ว่า.กระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดจะใช้ฉีดให้เด็กหญิงอายุ 12 ขวบ ที่กำลังเรียนชั้น ป.6 ซึ่งยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ฉีดคนละ 3 เข็ม จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตลอดชีวิต ซึ่งขณะนี้หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงมาเลเซีย บรรจุการฉีดวัคซีนนี้เป็นนโยบายวัคซีนแห่งชาติ และพบว่าได้ผลดี โดยในไทยขณะนี้ได้ให้กรมอนามัยทำโครงการ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวขณะนี้ราคาเข็มละประมาณ 1,000 บาท แต่ถ้ามีการใช้ปริมาณมาก ๆ ราคาน่าจะถูกลงประมาณเท่าตัว ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้ม เมื่อเทียบกับการสิ้นเปลืองในการรักษา
          แนวคิดการฉีด 'วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก" นี้ ได้รับการสนับสนุนจาก 6 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ คือ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) ซึ่งหลังดำเนินการก็มั่นใจว่าภายใน 5-10 ปี ไทยจะลดปัญหามะเร็งปากมดลูกได้กว่าร้อยละ 70
          ก็นับว่าน่าสนใจ และน่าติดตาม 'แนวทางใหม่"'ป้องกันมะเร็งตั้งแต่วัยเด็ก" สำหรับหญิงไทย.


pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved