HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 25/04/2561 ]
ตรวจสอบ เครื่องสำอาง ก่อนใช้ ระวัง!สวม-ปลอมเลขจดแจ้ง

  ปัจจุบันมีเครื่องสำอางออกมาวางจำหน่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เป็นครีมทำให้ขาวใส ชะลอวัย ลดริ้วรอย รักษาฝ้า-กระ ซึ่งมักจะดึงศิลปินดารามาเป็นเจ้าของแบรนด์หรือรีวิวสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดียและโทรทัศน์เพื่อดึงดูดจูงใจให้ผู้บริโภคใช้ตาม หรือจะเป็นเพราะกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตเรื่อง "เครื่องสำอาง" ยังเข้มไม่มากพอ ทำให้มีเครื่องสำอางในท้องตลาดกว่า 5-6 แสนรายการ แม้จะมีส่วนที่ได้รับการ "จดแจ้ง" หมดอายุในเดือนกันยายน 2561 ราว 4 แสนรายการ
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 นิยาม เครื่องสำอาง หมายถึง วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบหรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกของร่างกายมนุษย์ รวมถึงการใช้กับฟันและเยื่อบุในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะที่ปรากฏหรือระงับกลิ่นกายหรือปกป้องดูแลส่วนต่างๆ นั้น ให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งเครื่องประทินต่างๆ สำหรับผิวด้วย  ที่สำคัญ  กำหนดให้ผู้ที่จะผลิต นำเข้าเพื่อขายหรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางต้อง "จดแจ้ง" รายละเอียดของเครื่องสำอางก่อน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า  การขอเลขที่จดแจ้ง 13 หลักซึ่งเป็นระบบขออนุญาตของเครื่องสำอาง มีขั้นตอน  คือ 1.ยื่นสถานที่ผลิต เพื่อขอรับเลขที่จดแจ้ง 8 ตัวหลัก 2.หากได้ 8 ตัวมาแล้ว ก็ต้องยื่นขอ 5 ตัวหลังผ่านสารบบ โดยการส่งข้อมูลผู้ผลิตต่างๆ รวมทั้งสารประกอบที่ใช้ ซึ่งระยะเวลาที่พิจารณาจะแตกต่างกันตามแต่ผลิตภัณฑ์ คือ หากมีสารประกอบที่ อย.เคยอนุญาตมาแล้ว ก็จะง่ายต่อการพิจารณา ประมาณ 20 วันทำการ
          แต่หากมีสารที่ยังไม่ได้รับอนุญาตในการตรวจก็ต้องใช้เวลาประมาณ 28 วันทำการ เพราะต้องตรวจอย่างละเอียด และจะมีทีมสุ่มตรวจสารประกอบหลังได้รับอนุญาตเพื่อป้องกันการเติมแต่งเพิ่มในภายหลัง ในกรณีการย้ายสถานที่ผลิตแต่เป็นผู้ประกอบการรายเดิม ก็ต้องขอมายังอย. ก่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงหมายเลข 8 ตัวหน้า ดังนั้นผลิตภัณฑ์ตัวเดิม แต่เปลี่ยนที่ผลิตเลข 8 ตัวหน้าก็จะต่างกัน
          "ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นทั้งอาหารเสริม ยา และเครื่องมือแพทย์ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องจาก อย.หรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th เลือกหมวดผู้บริโภค ในส่วนตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคก็ได้มีการคุยกันในการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยมีวิธีให้ผู้บริโภคตรวจสอบฉลากด้วยวิธีง่ายๆ และแม่นยำ เช่น การใช้เลข 13 หลักอาจจะทำให้ตรวจสอบยากหรือยุ่งยากเกินไป ดังนั้นอาจจะมีการทำคิวอาร์โค้ดติดไปยังตัวผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคสามารถสแกนตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น" ภก.สมชายกล่าว
          สำหรับแนวทางการพิจารณารับ จดแจ้งรายละเอียดเครื่องสำอาง  เจ้าหน้าที่จะพิจารณารายละเอียดของชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง เป็นข้อความที่ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเครื่องสำอางและไม่มีคำที่ห้ามนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อการค้าและเครื่องสำอาง ได้แก่ คำที่แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา เช่น สื่อถึงการบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือภาวะผิดปกติของร่างกาย สื่อถึงการฆ่าเชื้อ ห้ามใช้ชื่อพืชที่ไม่ใช่ชื่อทางพฤกษศาสตร์ ที่อาจทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของเครื่องสำอาง เช่น ว่านมหาเสน่ห์ หญ้ารีแพร์ ว่านสาวหลง เป็นต้น
          รวมถึง ตรวจสอบรายการสารด้านเครื่องสำอาง จะต้องไม่พบสารที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง และสารที่ใช้เป็นส่วนผสมได้ต้องมีปริมาณและเงื่อนไขตามที่กำหนด ทั้งวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนในการผลิต วัตถุกันเสีย สีและสารป้องกันแสงแดด อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้บริโภคต้องตระหนักในการเลือกใช้เครื่องสำอาง  มิอาจดูเพียงมีหรือไม่มีเลข อย.ได้อีกต่อไป แต่ต้องนำเลขจดแจ้งของเครื่องสำอางมาตรวจสอบผ่านระบบของอย.ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากแม้เครื่องสำอางนั้นจะมีการบอกถึงเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง แต่บ่อยครั้งที่พบว่ามีการ "สวม" และ "ปลอม" เลขจดแจ้ง โดยการนำเลขจดแจ้งของเครื่องสำอางอื่นมาใส่เป็นของตนเองหรือใส่เลขจดแจ้งที่ไม่มีอยู่ในระบบจริง ฉะนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคต้องดูเมื่อเข้าระบบตรวจสอบเลข คือ ต้องดูว่าเลขจดแจ้งตรงกับเครื่องสำอางชนิดนั้นๆ หรือไม่ เป็นสำคัญ !!!
          และหากใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดผลเสียหรือพบเห็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ควรร้องเรียนมายัง อย. ผ่านสายด่วน 1556 ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลัง ผู้ที่แจ้งความนำจับจะได้รับสินบนนำจับและเงินรางวัล  55% ของเงินค่าปรับ แบ่งจ่ายเป็นเงินสินบน 30% และจ่ายเป็นเงินรางวัล 25%
          ทว่า สิ่งที่เป็นคำถามคาใจผู้บริโภคไม่น้อย คือ ระบบควบคุมเครื่องสำอางเพียงแค่ "จดแจ้ง" เพียงพอหรือไม่ และอย.ดำเนินการสุ่มตรวจหลังอนุญาตได้ครอบคลุมมากน้อยเพียงใด ทั้งที่บางแบรนด์มีการโฆษณาอย่างโจ๋งครึ่มผ่าน ผู้มีชื่อเสียง
          ลักษณะเครื่องสำอางที่ไม่รับจดแจ้ง
          1.เครื่องสำอางนั้นไม่ปลอดภัยในการใช้ คือ เป็นเครื่องสำอางที่ผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้, มีสารอันสลายตัวได้รวมอยู่ด้วยและอาจทำให้เกิดเป็นพิษอันเป็นอันตรายต่อผู้ใช้, มีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เจือปนอยู่ด้วย และมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
          2.เครื่องสำอางนั้นใช้ชื่อไปในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทำให้เข้าใจผิดจากความจริง
          3.เครื่องสำอางที่ใช้ชื่อไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทยหรือส่อไปในทางทำลายคุณค่าของภาษาไทย
          ที่มา: พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558


pageview  1205134    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved