HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 18/04/2561 ]
มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต เด็กไทยเกิดน้อยแต่มีคุณภาพ

  ประเทศไทยประสบปัญหาคนเกิดน้อย มีอัตราการเกิดทารกเพียง 1.6 คน ต่ำกว่าอัตราทดแทนของประชากรที่ควรจะอยู่ที่ 2.1 คน ทว่า การส่งเสริม กระตุ้นให้คนเกิดมากขึ้นเป็นเรื่องยาก แม้แต่ในต่างประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ  สิ่งสำคัญที่กรมอนามัยมุ่งเน้นจึงอยู่ที่ต้องทำให้การเกิดน้อยนั้นเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เกิดเป็นการ ขับเคลื่อน "มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต"
          "1,000 วันแรกนับตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิและทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา จนถึงอายุ 2 ปี เป็นช่วงที่โครงสร้างสมองมีการพัฒนาสูงสุด ทั้งการสร้างเซลล์สมองและการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมอง เกิดเป็นโครงข่ายเส้นประสาทนับล้านโครงข่าย ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง เด็กจะมีความสามารถในการเรียนรู้จดจำ รวมถึงเป็นช่วงที่การเจริญเติบโตของร่างกายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน" นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัยอธิบาย
          นพ.วชิระ บอกด้วยว่า  จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า โภชนาการในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตมีความสำคัญมากถึง 80% ต่อการกำหนดภาวะสุขภาพไปตลอดชีวิต ขณะที่ปัจจัยด้านพันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อแม่มีส่วนกำหนดเพียง 20% เท่านั้น หากในช่วง 1,000 วัน ได้รับอาหารน้อยไปส่งผลให้ทารกในครรภ์และเด็ก 0-2 ปีเจริญเติบโตไม่ดี น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม มีภาวะเตี้ย ทางตรงกันข้าม หากได้รับอาหารมากเกินไป ทารกจะมีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม จะเติบโตเป็นเด็กอ้วน ผู้ใหญ่อ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่นกัน
          สำหรับแนวทางการดำเนินงานมหัศจรรย์ 1,000 วัน นพ.วชิระ กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 ช่วงวัย แต่ละช่วงวัยจะมีการยกระดับ 3 ส่วน ประกอบด้วย ช่วงวัยที่ 1 หญิงตั้งครรภ์ ระยะ 270 วัน ยกระดับคลินิกฝากครรภ์เน้นฝากท้องเร็วก่อน 12 สัปดาห์ ดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ด้วยการฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ เฝ้าระวังและติดตาม น้ำหนักหญิงตั้งครรภ์ ทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการ ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการ ให้คำแนะนำเรื่องอาหารหญิงตั้งครรภ์ กิจกรรมทางกายและการนอน สุขภาพช่องปาก ป้องกันอุบัติเหตุ จ่ายยาเม็ดไอโอดีน เหล็ก โฟลิก แก่หญิงตั้งครรภ์ ทุกคนตลอดการตั้งครรภ์ ตรวจสุขภาพช่องปากทุกรายและให้บริการทันตกรรมตามความจำเป็นในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
          ยกระดับบริการสอนสาธิตให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีทักษะ มีความสามารถในการจุดกราฟโภชนาการและแปลผลได้ถูกต้องเพื่อให้ทราบแนวโน้มการเพิ่มน้ำหนักได้อย่างถูกต้อง จัดอาหารหญิงตั้งครรภ์ที่เหมาะสม จ่ายฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อลดการคลอดก่อนกำหนด สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เยี่ยมบ้านหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์เดือนละ 1 ครั้ง และผู้ที่มีน้ำหนักน้อย หรืออ้วนทุก 2 สัปดาห์ และยกระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย สนับสนุนนมหญิงตั้งครรภ์ 90 วัน 90 กล่องในไตรมาส 3 มีมาตรการทางสงัคมในชุมชนเพื่อส่งเสริมโภชนาการ กิจกรรมทางกาย สุขภาพช่องปาก และค้นหาหญิงตั้งครรภ์เพื่อเข้าถึงบริการก่อน 12 สัปดาห์
          ช่วงวัยที่ 2 เด็กอายุ 0-6 เดือน ระยะ 180 วัน ส่วนของคลินิกสุขภาพเด็กดีส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วนนมแม่ เฝ้าระวังส่วนสูงและน้ำหนักเด็กทุกคน ประเมินพฤติกรรมเมนพฤตกรรมการบริโภคอาหารทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการที่คลินิก แนะนำเรื่องนมแม่ อาหารหญิงให้นมบุตร กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟัน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันอุบัติเหตุ จ่ายยาเม็ดไอโอดีน เหล็ก โฟลิก แก่หญิงหลังคลอดทุกคนตลอดการให้นมลูก 6 เดือน ตรวจสุขภาพช่องปากเด็ก แนะนำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
          สำหรับบริการ สอนสาธิตให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงเด็กทุกคนมีทักษะและความรู้ในการจัดอาหารหญิงให้นมบุตรที่เหมาะสม เฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการ  ทีมหมอครอบครัว โรงพยาบาล อสม.และทีมพัฒนาเด็กและครอบครัว เยี่ยมบ้านเด็กแรกเกิด-6 เดือน โดยเด็กที่สูงดีสมส่วนทุกเดือน เด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มส่วนสูงน้ำหนักไม่ดีทุกเดือน เด็กท้วม ค่อนข้างเตี้ย ค่อนข้างผอม น้ำหนักค่อนข้างน้อย ทุก 2 สัปดาห์ เด็กเตี้ย ผอม อ้วน น้ำหนักน้อยทุกสัปดาห์ และชุมชน สนับสนุนนมหญิงตั้งครรภ์ 90 วัน 90 กล่อง เฝ้าระวังและติดตามส่วนสูงน้ำหนักเด็กในชุมชนทุก 3 เดือน มีมุมนมแม่ในสถานประกอบการ/หน่วยงานราชการ และมีมาตรการทางสังคมในชุมชนเพื่อส่งเสริมโภชนาการ กิจกรรมทางกาย สุขภาพช่องปาก
          และช่วงวัยที่ 3 เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี ระยะ 550 วัน คลินิกสุขภาพเด็กดี คัดกรอง ส่งเสริม ติดตาม กระตุ้นพัฒนาการเด็ก เฝ้าระวังและติดตามส่วนสูงน้ำหนักเด็กทุกคน ประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการที่คลินิก แนะนำเรื่องกิน กอด เล่น เล่า นอน เฝ้าดูฟันเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันอุบัติเหตุ จ่ายยาน้ำเสริมธาตุเหล็กเด้กทุกคน ตรวจสุขภาพช่องปาก ทาฟลูออไรด์วานิชเพื่อป้องกันฟันผุ เด็กที่มีฟันผุได้รับการส่งต่อ
          ในส่วนบริการ สอนให้พ่อแม่ ผู้เลี้ยงเด็กมีทักษะและความรู้ในเรื่องจัดอาหารทารก 6-12 เดือน และเด็กอายุ 1-2 ปีที่เหมาะสม แปรงฟันให้เด็กแบบลงมือปฏิบัติและการตรวจฟันเด็กด้วยตนเอง เฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการ สนับสนุนแปรงสีฟันอันแรกให้เด็กอายุ 6 เดือน เยี่ยมบ้านเด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี เด็กที่สูงดีสมส่วนและเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มส่วนสูงน้ำหนักไม่ดี ทุกเดือน เด็กท้วม ค่อนข้างเตี้ย ค่อนข้างผอม น้ำหนักค่อนข้างน้อย ทุก 2 สัปดาห์ เด็กเตี้ย ผอม อ้วน น้ำหนักน้อยทุกสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยงต่อการเปิดฟันผุของเด็กและเด็กที่มีความเสี่ยงได้รับการดูแลติดตามทุก 3 เดือน และส่วนของชุมชน สนับสนุนไข่ให้เด็ก 6 เดือน-2 ปีวันละ 1 ฟอง และนมให้แก่เด็กอายุ 1-2 ปีวันละ 1 กล่อง จัดให้มีลานเล่น พื้นที่ที่เอื้อต่อการเล่น จัดให้มีห้องสมุด มุมหนังสือสำหรับครอบครัว เป็นต้น
          ท้ายที่สุด นพ.วชิระ กล่าวว่า การเพิ่มอัตราการเกิดใหม่เป็นไปได้ยากมาก  ประเทศสิงคโปร์ยังไม่สามารถทำได้แม้จะมีมาตรการให้เงินส่งเสริมเพื่อการมีบุตรแล้วก็ตาม สำหรับประเทศไทย สิ่งสำคัญจึงต้องทำให้อัตราการเกิดน้อยเป็นการเกิดที่มีคุณภาพ


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved