HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 25/04/2555 ]
เจาะลึก...เส้นทางชีวิต "แพทย์เสริมสวย"


          "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง" สำนวนสุภาษิตไทยที่บ่งชี้ว่า คนเราจะสวยได้ก็ด้วยการรู้จักแต่งตัว ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เขินอายที่จะเดินเข้าหาคลินิกศัลยกรรมความงาม หรือที่เรียกกันว่าไปหาหมอเสริมสวย ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไทยกว่า 1,000 แห่ง ปรากฏอยู่ทั่วทุกแหล่งชุมชนและห้างสรรพสินค้าชื่อดัง มีการตกแต่งคลินิกหรือสถานที่ให้บริการลูกค้าให้ดูน่าเชื่อถือ เหมือนเป็นแหล่งเฉพาะของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเทคโนโลยีความงาม
          แต่ในความเป็นจริงแล้ว แพทย์หรือหมอ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของคลินิกเหล่านี้ มีจำนวนน้อยมากที่เรียนจบแพทย์เฉพาะทางผิวหนัง จนได้ "วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง" จากแพทยสภา(Board of Dermatology) จากตัวเลขสถิติของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย พบว่ามีเพียง 448 คนเท่านั้น ดังนั้นหมอที่ประจำอยู่คลินิกที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วไทยนั้น ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่ "แพทย์ผิวหนัง" หรือ เดอร์มาโทโลจิสต์(Dermatologist) แต่เป็นเพียงหมอที่เรียนจบมาทางอายุรกรรมหรือสาขาอื่นๆ แล้วนำประกาศนียบัตรมาเปิดคลินิกเสริมสวยแล้วติดป้ายอ้างว่าเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญความงาม!!
          ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังตัวแทนจากสมาคมฯ เปิดเผยให้ฟังว่า คำพูดที่ถูกต้องในการเรียกแพทย์เรียนจบด้านผิวหนังโดยตรงคือ "ตจแพทย์" หรือ "เดอร์มาโทโลจิสต์" การจะได้ใบรับรองเป็นตจแพทย์ต้องสอบเข้าเรียนสถาบันแพทย์เหมือนนักเรียนหมอทั่วไปเรียน 6 ปี จบออกมาก็ไปเป็นหมอฝึกหัดใช้ทุน 3 ปี ระหว่างนั้นคือเมื่อหมดสัญญาใช้ทุนจากรัฐบาล จึงเลือกได้ว่าจะไปเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือ สเปเชี่ยลลิสต์ด้านไหน แต่ละด้านไม่เหมือนกันอย่างน้อยอีกประมาณ 3-4 ปีแล้วแต่สาขาเฉพาะ สำหรับผู้เลือกเรียนเป็นตจแพทย์จะเรียนต่อที่ "สถาบันโรคผิวหนัง" ใช้เวลาอีก 4 ปี คือเริ่มเรียนอายุรกรรมทั่วไปอีกครั้งประมาณ 1 ปีเต็ม เพราะหมอผิวหนังต้องรู้เรื่องโรคทั่วไป และทำงานเหมือนแพทย์ประจำด้านอายุรกรรมหลังจากนั้นก็เรียนเรื่องผิวหนังโดยเฉพาะอีก 3 ปี พอเรียนจบไม่ใช่ว่าจะได้ใบรับรองง่ายๆ แต่ต้องไปสอบเพื่อได้ใบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังจากแพทยสภา
          "ตอนเรียนแพทยศาสตบัณฑิต 6 ปี ก็เหมือนเรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ทุกคนต้องเรียนวิชาโรคผิวหนังพื้นฐานที่พบบ่อย แต่ไม่ได้ตรวจหรือศึกษาคนไข้ผิวหนังมากนัก แต่ถ้ามาเรียนเฉพาะทางเพื่อเป็นหมอโรคผิวหนังอีก 4 ปี เปรียบเสมือนได้วุฒิบัตรปริญญาเอกด้านผิวหนัง แต่ถ้าหมอคนไหนเลือกไปเรียนต่อสถาบันผิวหนังจากต่างประเทศ ควรต้องจบระดับพีเอชดีหรือปริญญาเอกเช่นกัน แล้วก็มาสอบเพื่อได้ใบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังจากแพทยสภา"
          สาเหตุที่ "ตจแพทย์" ในเมืองไทยมีอยู่น้อยมาก ทั้งที่มีตลาดรองรับอยู่ทั่วไป ซึ่งต้องการใบประกาศนียบัตรแพทย์ผิวหนังมาติดโชว์ลูกค้าหน้าร้านนั้น พญ.สุวิราภร อธิบายว่า สืบเนื่องจากข้อจำกัดของสถาบันที่จะเปิดสอนวิชานี้ ทำให้แต่ละปีรองรับแพทย์ที่อยากเรียนต่อได้เพียงไม่เกิน 20 คน กระสอบแข่งขันมีสูงมาก และมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นหมอที่สังกัดและมีตำแหน่งในโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น หลายคนจึงหันไปเรียนต่อคอร์สระยะสั้นๆ ที่ต่างประเทศแทน อย่างไรก็ตาม กำลังมีการวางแผนจัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์ผิวหนังขึ้นมาเป็นสถาบันใหม่ เพื่อรองรับความต้องการในส่วนนี้
          ด้านแหล่งข่าวในแพทยสภาให้ข้อมูลว่า จำนวนหมอที่ได้วุฒิบัตรเป็นหมอผิวหนังมีน้อยมาก และกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดขนาดใหญ่ ทำให้มีหลายจังหวัดที่เปิดคลินิกรักษาโรคผิวหนังแต่ไม่มีตจแพทย์เลยในจังหวัดนั้น ทั้งหมดเป็นแค่หมออายุรกรรมทั่วไปหรือหมอที่ไม่ได้จบเป็นตจแพทย์เลยในจังหวัดนั้น ทั้งหมดเป็นแค่หมออายุกรรมทั่วไปหรือหมอที่ไม่ได้จบเป็นตจแพทย์โดยตรง ทางแพทยสภาตรวจสอบพบหลายครั้งแล้วคลินิกส่วนใหญ่ชอบอ้างว่ารักษาโดย "แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม" "แพทย์ศัลยกรรมความงาม" ฯลฯ ซึ่งพวกนี้เป็นคำเลี่ยง จริงๆ แล้วตำแหน่งเหล่านี้ไม่มีต้องใช้ว่า "แพทย์โรคผิวหนัง" เท่านั้นห้ามเติมห้ามต่ออะไรทั้งสิ้น เมื่อแพทยสภาตรวจพบว่าคลินิกแห่งไหนติดสติกเกอร์หรือติดป้ายใช้คำโฆษณาเหล่านี้ ก็จะส่งจดหมายเตือนไป พวกเขาก็จะปลดป้ายลง โดยเฉพาะคลินิกความงามที่มีหลายสาขาทั่วประเทศจะใช้กลยุทธ์เรียกลูกค้าหรือสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าโดยใช้คำเหล่านี้ แต่แพทยสภาไม่สามารถลงโทษอะไรได้มากนัก เพราะตามหลักกฎหมายแล้วใครเรียนจบปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และมีใบประกอบโรคศิลปะ ก็สามารถเปิดคลินกรักษาโรคอะไรก็ได้
          นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มหมอที่ไปเรียนต่อต่างประเทศในคอร์สสั้นๆ เช่น การทำเลเซอร์ ผ่าตัดเส้นเลือดขอด ภูมิแพ้ ฯลฯ แล้วได้วุฒิบัตรย่อยเฉพาะทางแบบ 3-6 เดือน แล้วเอามาติดโชว์ในคลินิกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ดังนั้น วิธีการเดียวที่คนไข้หรือลูกค้าจะรู้ความจริง คือ ก่อนตัดสินใจรักษาคลินิกไหนก็ตามให้ถามว่ามีวุฒิบัตรเป็นแพทย์โรคผิวหนังหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็น "เสียเงินแล้วยังเสียใจ" แม้ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนแต่กลุ่มที่โดนหมอเทียมหลอกทำศัลยกรรมจนหน้าพังยับเยินนั้น มีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่กล้าออกจากบ้านมาร้องเรียนเพราะกลัวเสียหน้าจึงขอเตือนให้ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อแพทย์ผิวหนังได้ ที่เว็บไซต์ http://www.dst.or.th หรือสอบถามที่ 0-2716-6857
          ในแต่ละปีมีเพียง 20 คนเท่านั้นที่ได้เรียนต่อในสถาบันแพทย์ผิวหนัง 5 แห่ง ได้แก่
          1 สาขาวิชาตจวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
          2 หน่วยโรคผิวหนัง รพ.รามาธิบดี
          3 ภาควิชาตจวิทยาศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
          4 แผนกผิวหนัง รพ.พระมงกุฎเกล้า
          5 สถาบันโรคผิวหนัง กระทรวงสาธารณสุข


pageview  1204857    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved