HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 14/07/2560 ]
'ครอบครัว'ยาวิเศษดูแล-รักษาผู้ป่วยสูงอายุไม่ไหวต้องเอกชน-รัฐสร้างบ้านพักรองรับ

 ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558 ในผู้สูงอายุ 8 ล้านคน พบว่ามีถึง 1.3 ล้านคน ที่อยู่ในสภาพติดบ้านและอยู่ในสภาพหง่อม นอนติดเตียง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องพึ่งพิงคนช่วยดูแล ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในปี 2560 จะมีผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง รวมกันกว่า 3.7 แสนคน และในอีก 20 ปีข้างหน้าคือในปี 2580 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 แสนคน และในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากที่สุดในอาเซียน
          "จริงๆ แล้วคนที่ดูแลคนแก่หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ดีที่สุดคือ ครอบครัว แต่ถ้าไม่มีคนดูแล ทางเลือกที่มีในปัจจุบันก็จะเป็นศูนย์รับดูแลผู้สูงอายุของเอกชน หรือของรัฐก็มีรองรับ ซึ่งตามแผนที่วางไว้ในอนาคตรัฐบาลจะสร้างศูนย์รองรับตัวอย่างขึ้นมานำร่องที่จ.นครพนม และที่แม่สอด จ.ตาก ลำปาง และเชียงใหม่ โดยเป็นซีเนียร์คอมเพล็กซ์ขนาด 30 เตียงและพยายามดึงภาคเอกชนมาลงทุน โดยเร็วๆ นี้ คาดว่าดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนได้ที่ นครไชยศรี จ.นครปฐม ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต" สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อธิบาย
          แนวโน้มผู้สูงวัยป่วยติดบ้านติดเตียงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพราะไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนแก่เพิ่มมากขึ้น เมื่อแก่ก็ย่อมตามมาด้วยอาการเจ็บป่วย ล่าสุดกระทรวง พม. สาธารณสุข ศึกษาธิการ และมหาดไทย ได้ลงนามร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รองรับผู้สูงอายุ โดยมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ที่มีอยู่ 878 แห่งเป็นศูนย์กลางผลักดันภารกิจด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตามแผนนี้จะต้องผลักดันให้มี ศพอส.ครบทุกตำบลทั่วประเทศ 7,775 แห่ง
          ในอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้บริหารจัดการศพอส.แต่ละแห่ง จะเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุได้ประมาณ 10 เตียงเพื่อให้บริการผู้สูงอายุในท้องถิ่น ตามแผนในอำเภอก็จะมีศูนย์รับดูแลประมาณ 30 เตียง และ 50 เตียงในรูปแบบเดียวกับบ้านบางแค เป็นซีเนียร์คอมเพล็กซ์ที่มีระบบการดูแลครบวงจร ขณะเดียวกันภาครัฐก็พยายามส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในระบบการให้บริการดังกล่าวมากขึ้น
          "เร็วๆ นี้จะมีมาตรฐานสถานบริการที่ รับดูแลผู้สูงอายุออกมาเป็นแนวทางเดียวกัน โดยผู้ดูแลตามศูนย์ต่างๆ จะต้องผ่านการอบรม 70 ชม. ถ้าเป็นผู้ที่ทำงานในสถานบริการ/รพ.ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตร 420 ชม.และอบรมเพิ่มเติมอีก 210 ชม. จะไปทำงานต่างประเทศ ส่วนผู้ที่ดูแลคนในครอบครัวตามบ้านจะมีหลักสูตรอบรมให้ 18 ชม. ทั้งหมดนี้เป็นแผนการรับมือสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"
          นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครผู้สูงอายุ ของ พม. 80,000 คน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่ง อสม.ที่ดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน 15 คน จะได้รับงบอุดหนุน 5,000 บาท ซึ่งในอนาคตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดูแลอาสาสมัครเหล่านี้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในอนาคต ปัจจุบัน อสม.ที่รับ "ผู้ดูแลคนไข้ติดเตียง" ช่วงกลางวันตั้งแต่ 07.30-16.30 น. วันละ 400 บาท แต่หากดูแลช่วงกลางคืนด้วยก็จะเพิ่มอีก 400 บาท" ขณะที่ศูนย์รับดูแลคนไข้ประจำที่บ้านคนไข้จะอยู่ที่ 20,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน หากเป็นคนที่ผ่านการเรียนหลักสูตรบริบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลกลางวัน 08.30-16.30 น. กลางคืน 16.30-24.00 น. และ 24.00-08.30 น. กะละ 500 บาท


pageview  1205067    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved