HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 03/07/2560 ]
วิธีป้องกัน'นักกีฬาอี-สปอร์ต'เสี่ยงตาบอด?

"กรมสุขภาพจิต"เด็กวัยรุ่น "ติดเกม" อย่างหนักจนมีอาการป่วยทาง เปิดเผยข้อมูลจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น 1.5 เท่าในรอบ 3 ปี ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14-16 ปี อาการคล้ายเด็กสมาธิสั้นเป็นโรคดื้อต่อต้านโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมขโมย หนีเรียน ฯลฯ
          แต่อาการป่วยสำคัญที่สังเกตยากนัก คือ "โรคกล้ามเนื้อตากระตุก" ที่สำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ เพราะ "เด็กติดเกม" ไม่ยอมบอก
          พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า สถาบันร่วมกับ รพ.รามาธิบดี และศิริราชพยาบาลศึกษา วิจัยหัวข้อ "ปัญหาติดเกมในประเทศไทยปี 2558"จนได้ผลออกมาว่า เด็กวัยรุ่นไทยเสพติดเกมประมาณร้อยละ 13-17 คิดเป็นจำนวนตัวเลขประชากรประมาณ 1.3p1.6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกระแสของ "เกม" ที่ถูกโปรโมททำโฆษณาออกมาในรูปของ "นักกีฬาอี-สปอร์ต" ทำให้เด็กติดเกมใฝ่ฝันอยากเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการนักแข่งเกม แต่สถิติเด็กทำสำเร็จจนพิชิตชัยชนะมีน้อยมากเพียง 0.00007 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
          "งานวิจัยพบเกมพวกนี้ทำให้วัยรุ่นมีแนวโน้มก่อพฤติกรรมรุนแรงจากการเลียนแบบเกม และเสี่ยงมีนิสัยติดพนันด้วย โดยเฉพาะวัยรุ่น 15-24 ปี กลายเป็นนักพนันหน้าใหม่ถึงร้อยละ 0.6 ถ้าพบเด็กหมกมุ่นเล่นเกมอินเทอร์เน็ต แล้วเกิดอาการหงุดหงิดเมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม หรืออาละวาด ทำลายข้าวของ ทำร้ายพ่อแม่ หรือทำร้ายตัวเอง  ให้รีบพามาพบจิตแพทย์"
          สำหรับ "เกม" ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตแพทย์เป็นห่วงมากสุดคือ ประเภทเกมโมบ้า (Multiple Online Battle Arena : MOBA) ลักษณะเป็นเกมจำลองวางแผนต่อสู้ผ่านตัวฮีโร่เสมือนจริง การเล่นแบ่งเป็นทีมคู่ต่อสู้ 2 ฝ่าย เพื่อให้ผู้เล่นควบคุมตัวละครฮีโร่ของตนเอง แล้วเชื่อมต่อกับนักเล่นเกมคนอื่นได้ หรือสร้างเป็นทีมเดียวกันและสามารถพูดคุยสื่อสารออนไลน์กับสมาชิกในทีมแบบเรียลไทม์ ทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเล่นเกม เหมือนนัดทีมเพื่อนๆ ไปต่อสู้แข่งขันกับทีมอื่น การเล่นเกมประเภทนี้ทำได้ต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน หากใช้เวลาเล่นมากเท่าไรตัวละครในเกมก็เก่งมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ติดใจอยากฝึกฝนเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ เพื่อไต่เต้าเป็นเซียนเกมชื่อเสียงโด่งดัง!
          ผู้ผลิตเกมใช้กลยุทธ์สร้างสนามแข่งขัน  "อี-สปอร์ต" ให้เซียนเกมเหล่านี้มาแสดงฝีมือ เงินรางวัลล่อใจหลักสิบล้านบาท จนเกิดความสับสนในผู้ปกครองบางราย ที่หลงคิดไปว่าสนามแข่งขันเกมเป็นสนามกีฬาประเภทหนึ่ง หากลูกฝึกเล่นเกมจนเก่งแล้วจะได้เงินรางวัลจำนวนมาก
          มีเด็กเพียงไม่กี่คนที่มีพรสวรรค์ทำ ตามฝันสำเร็จเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตได้ แต่ เด็กส่วนใหญ่กลับกลายเป็น "ผู้ป่วยจากการติดเกมคอมพิวเตอร์" (Computer Game Addiction) เสียทั้งสุขภาพร่างกายและเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต นักวิจัยเกาหลีใต้พบว่า ผู้เล่นเกม 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละประมาณ 3 ชั่วโมง จะส่งผลกระทบต่อระบบสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ ส่งผลเสียต่อการเรียนหนังสือ หรือหน้าที่การงาน และส่งผลต่อพฤติกรรมหลายด้าน เช่น การควบคุมความคิด อารมณ์ ฯลฯ
          โดยเฉพาะเป็นต้นเหตุของอาการป่วย  "โรคกล้ามเนื้อตากระตุก" เด็กติดเกมส่วนใหญ่ เมื่อเริ่มมีอาการดังกล่าวจะพยายามปกปิดไม่ให้ ผู้ปกครองรู้ เพราะกลัวถูกห้ามเล่นเกมอีกต่อไป การเก็บซ่อนอาการป่วยไว้เป็นความลับ ยิ่งทำให้อาการย่ำแย่ลง จนตากระตุกมากขึ้นจนทนไม่ไหว กว่าผู้ปกครองจะรับรู้แล้วพาไปหาหมอก็อาการหนักจนแทบจะเยียวยารักษาไม่ไหว
          "ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล"คณบดีคณะ ทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างระบบสายตาและระบบการมองเห็น อธิบายสาเหตุเด็กติดเกมแล้วมีปัญหาโรคกล้ามเนื้อตากระตุกว่า เกิดจากพฤติกรรม3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.เด็กจ้องมองจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือ เป็นลักษณะการมองในระยะใกล้ต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง ทำให้ผิดธรรมชาติที่สายตาควรมองออกไประยะไกลสลับไปมา
          2.การเล่นเกมคือการเพ่งมองในรายละเอียด เพื่อต่อสู้เอาชนะ แตกต่างจากการใช้สายตามองคอมพิวเตอร์ทำงานหรือทำอย่างอื่น การใช้สายตาเพ่งเล็งสิ่งใดต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงทำให้ดวงตาอ่อนล้า และ 3.แสงที่ออกมาจากคอมพิวเตอร์ไม่เหมือนแสงที่ออกมาธรรมชาติ การมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ บางส่วนมาจากจอที่เปล่งแสงด้วยแอลอีดี
          ดร.ดนัยอธิบายต่อว่า แสงจากหลอดไฟไม่ได้เป็นแสงธรรมชาติ และถูกออกแบบให้พุ่งเข้าหาดวงตาโดยตรง เคยมีการทดสอบในหนูทดลองโดยใช้แสงแอลอีดีส่องเข้าไปในตาเป็นระยะเวลานานๆ ผลคือเกิดบาดแผลที่เนื้อเยื่อจอตาของหนูทดลอง นอกจากนี้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต  สมาร์ทโฟน จะมี "แสงสีฟ้า" หรือแสงที่มีพลังงานสูง HEV light (High-energy visible light)แสงนี้สามารถทะลุได้ถึงจอประสาทตา
          "อาการของคนที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นประจำ แล้วเริ่มมีภาวะของตากระตุกหรือโรคกล้ามเนื้อตา กระตุก ถือเป็นสัญญาณอันตรายเตือนให้รู้ว่า จอตากำลังมีอาการผิดปกติ หากยังไม่ระวังเลิกเล่นหรือ พักช่วง อาจถึงกับทำให้ตามองไม่เห็นชั่วขณะ ถ้ารุนแรงมากจอตาอาจเสื่อมถาวรไปเลยก็ได้ หรือถ้ากรณีรุนแรงมากถึงขั้นทำให้ตาบอดได้"
          ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวแนะนำสำหรับผู้เริ่มมีปัญหาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานว่า ต้องตั้งเวลาให้สายตาได้พักทุก 45 นาที โดยลุกขึ้นมองออกไปนอกหน้าต่าง พยายามมองไปไกลๆ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องกินอาหารจำพวกผักผลไม้ที่มีวิตามินดี
          "องค์การอนามัยโลกกำลังเตือนว่า อนาคตประชากรโลกอาจมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 จากตอนนี้ประมาณร้อยละ 20 สำหรับสถิติประเทศไทย เด็กเล็กสายตาสั้น ร้อยละ 10-20 พอเข้าสู่วัยรุ่นเพิ่มเป็น ร้อยละ 30  ส่วนวัยทำงานประมาณร้อยละ 30-40 พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเริ่มเอาใจใส่เรื่องสายตา ถ้าหากสายตาสั้นตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมีโอกาสสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายหากยังใช้ตาไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้กลายเป็นคนตาผิดปกติ ไม่ถึงกับตาบอดแต่จะกลายเป็นคนมองเห็นอะไรไม่ชัดตลอดไป" ดร.ดนัยกล่าวเตือน
          กระแสนักกีฬาอี-สปอร์ต "eSports" (electronic sports) เกิดจากการประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ สร้างตัวตน "นักเล่นเกม" ยกสถานะให้ดูดีในสังคม เพราะรู้สึกเหมือนกำลังเล่นกีฬาแข่งขันทางคอมพิวเตอร์ ขณะที่ฝ่ายรู้ลึกในแวดวงเกมคอมพิวเตอร์แสดงความเป็นห่วงว่า "กลุ่มธุรกิจเกม"
          กำลังใช้กลยุทธ์จัดแข่งขันเพิ่มเงินรางวัล หลักสิบล้านบาท เพื่อล่อให้วัยรุ่นฝันหวานอยาก ยกสถานะตัวเองใหม่เป็น "นักกีฬาอี-สปอร์ต" ปัจจุบันตลาดเกมทั่วโลกมีมูลค่ารวม 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น เกมจากเครื่องคอมพิวเตอร์ (PC Game) ร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือเล่นจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต เฉพาะปี 2559 มีการจัดการแข่งขัน "อี-สปอร์ต" ในไทย 8 รายการใหญ่ เงินรางวัลรวมกว่า 27 ล้านบาท
          ข้อมูลจากเว็บไซต์ brandinside.asia เดือนมีนาคม 2560 ระบุว่า การแข่งขันเกมกลาย เป็นกีฬารูปแบบใหม่ สามารถทำเงินมหาศาล หรือทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ ประเทศไทยตลาดเกมเติบโตพุ่งสูงถึง 9,000 ล้านบาท โดยเกมไม่ได้มีไว้แค่ความบันเทิง หรือเล่นสนุกเหมือนที่ผ่านมา แต่มี เงินรางวัลตอบแทนแบบนักกีฬาสโมสรด้วย เช่น สโมสรในอเมริกา ยุโรป จีน
          ดังนั้นครอบครัวที่มีนักกีฬาอี-สปอร์ต ต้องเริ่มฝึกสังเกตว่า การเล่นเกมนั้นทำให้เกิดอาการป่วยอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กวัยรุ่น เนื่องจากจิตแพทย์ยืนยันว่า ลูกติดเกมเกิด จากพ่อแม่ไม่มีเวลาสนใจลูก และไม่เคยตั้งกฎกติกาไว้ในบ้าน ไม่เคยสนใจว่าเด็กมีสุขภาพร่างกายปกติดีหรือไม่ คิดเพียงว่า
          "ลูกเล่นเกมดีกว่าออกไปเที่ยวเตร่ข้างนอกบ้าน!"
          สำหรับผู้ที่เริ่มสงสัยว่าสมาชิกในบ้านอาจติด "เกมโมบ้า"? ให้แอบสังเกต หน้าจอคอมพ์หรือหน้าจอมือถือว่า  ชื่อเกม "League of Legends"  หรือ "Dota2" หรือไม่ เนื่องจากเป็น 2 เกมยอดนิยม มีครองตลาดผู้เล่น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของเกมโมบ้าทั้งหมด!?!
          "'แสงสีฟ้า' หรือแสงที่มีพลังงานสูง...เริ่มจากกล้ามเนื้อตากระตุกส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่ค่อยรู้ เพราะเด็กไม่ยอมบอก"


pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved