HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 05/07/2560 ]
เริ่มกฎหมายยาสูบ2560สกัดหน้าใหม่ลดภัยให้คนไม่เสพ

คงเป็นความลำบากอีกระดับ ของบรรดาสิงห์อมควัน และเจ้าของกิจการเกี่ยวเนื่องกับการทำมาค้าขายบุหรี่ เมื่อกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 2560)
          ที่ว่าลำบาก เพราะเรื่อง "สุขภาพ" โดยรวมของสังคมต้องมาก่อนอื่นใด ดังนั้น กระแสสังคมทุกวันนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ สินค้าทำลายสุขภาพทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มที่ต้องรณรงค์ให้ลด ละ เลิก ลำดับต้นๆ คงไม่พ้นบุหรี่กับเหล้า
          ยิ่งไปกว่านั้น การตรากฎหมายใหม่ๆ ออกมา ยังมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเน้นไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากพิษภัยที่ตนเองไม่ได้เสพหรือก่อขึ้นอีกด้วย ดังเช่นที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่บังคับใช้แล้ว มุ่งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ป้องกันเยาวชนจากการติดบุหรี่ และควบคุมกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบุหรี่
          ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 โดยมาตรการสำคัญที่ประชาชนต้องรับทราบเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้อง ประกอบด้วย 1.กำหนดห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 2.ห้ามให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ 3.ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบใน 4 กลุ่มสถานที่ ได้แก่ วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานพยาบาลและร้านขายยา สถานศึกษาทุกระดับ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
          4.กำหนดห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ อาทิ พริตตี้ส่งเสริมการขายในงานคอนเสิร์ต 5.ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบทำกิจกรรมซีเอสอาร์ อุปถัมภ์สนับสนุนบุคคล หรือองค์กร ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ 6.ห้ามตั้งวางโชว์ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือซองบุหรี่ ณ จุดขายปลีกที่ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนมองเห็น 7.ห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน 8.เพิ่มโทษ ผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่เป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ 9.กำหนดหน้าที่ให้เจ้าของสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ดูแลให้ไม่มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการ เจ้าของสถานที่มีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท
          ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัญหาการบริโภคยาสูบเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้ป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร โดยคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงถึงปีละกว่า 5 หมื่นคน นอกจากนี้กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ยังทำให้นักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเป็นผู้เสพติดไปตลอดชีวิต รวมทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรค เสพติดยาสูบ ทำให้สูญเสียงบประมาณไปกับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากการสูบบุหรี่ สูงถึง 74,884 ล้านบาท
          อย่างไรก็ตาม รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ได้ออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ขึ้น เพื่อเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรร้ายของการติดบุหรี่อันเนื่องมาจากกลยุทธ์การตลาดบุหรี่ที่หลากหลายขึ้น และเป็น การคุ้มครองสิทธิของเยาวชนและสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และที่สำคัญอีกอย่างคือประเทศไทยเข้าร่วมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-FCTC) จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ และแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าว
          ทั้งนี้ พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ เน้นคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ เยาวชน และควบคุมการตลาด รวมถึงห้ามตั้งวางโชว์ซองบุหรี่ตามจุดขายปลีก ที่ทำให้ประชาชนมองเห็น และห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน นอกจากนี้ ยังเตือนสิงห์นักสูบที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ เพิ่มโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
          ผู้สื่อข่าวได้สอบถามร้านขายของชำแห่งหนึ่ง ย่านพญาไท ถึง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยนางหมวย (ไม่ขอเปิดเผยชื่อและนามสกุล) บอกว่า เบื้องต้นพอทราบถึงกฎหมายใหม่ที่จะออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยทางยี่ปั๊วได้นำป้ายข้อความประกาศการใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมาติดให้ที่ร้าน ซึ่งในส่วนร้านค้าของตนหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะปฏิบัติตาม ในส่วนของการตั้งวางโชว์ซองบุหรี่ ปกติทางร้านจะตั้งวางในตู้กระจกก็จะนำกระดาษแบบทึบมาติดรอบตู้ เพื่อไม่ให้บุคคลหรือลูกค้ามองเห็นซองบุหรี่จากภายนอก สำหรับเรื่องการแบ่งขายบุหรี่รายมวนนั้น ก็คงต้องเลิกขาย
          "แน่นอนว่าทางร้านต้องได้รับผลกระทบ เพราะในส่วนของลูกค้าที่มาซื้อบุหรี่แบบแบ่งขายก็จะหายไป แต่ก็คงไม่ได้กระทบมากนัก เนื่องจากที่ร้านมีเพียงบุหรี่ไทย 2 ยี่ห้อ ที่เดิมทีทางร้านแบ่งขาย ส่วนบุหรี่นอกและบุหรี่ยี่ห้ออื่นๆ จะขายเต็มซอง เนื่องจากหากแบ่งขายจะไม่มีกำไร ขณะเดียวกันผลกระทบน่าจะตกอยู่ที่คนซื้อด้วย เนื่องจากคนที่ซื้อบุหรี่แบ่งขายส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูง วันหนึ่งกำเงิน 100 บาท ซื้อข้าว น้ำ บุหรี่แบบแบ่งขาย ก็หมดแล้ว หากจะต้องนำเงิน 100 บาทไปซื้อบุหรี่แบบเต็มซอง ก็ต้องมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแน่นอน" นางหมวยกล่าว
          ส่วนคนที่ซื้อบุหรี่แบบแบ่งขาย ส่วนใหญ่ต้องการจะลดบุหรี่ ซึ่งไม่ได้มีความต้องการสูบในแต่ละวันมากมาย โดยซื้อวันละ 3 มวน 5 มวน หรือ 10 มวน เพื่อเป็นการบังคับตัวเอง จำกัดการสูบเพียงแค่นี้ หรือบางคนที่ต้องการเลิกบุหรี่แต่หักดิบไม่ได้ก็ค่อยๆ ลด ซื้อแบบแบ่งขาย ถ้าหากซื้อเป็นซองก็จะหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งก็ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ว่า เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เชื่อว่าลดการเข้าถึงและเป็นการลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ได้แน่นอน เพราะมีการกำหนดห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์สูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามแบ่งซองขาย ห้ามให้เห็นซองบุหรี่ บริษัทสถานประกอบการห้ามทำซีเอสอาร์ ห้ามใช้พริตตี้ หรือส่งเสริมการขายต่างๆ และในอนาคตจะมีกฎหมายลูก ห้ามใช้สีสันบนซองบุหรี่ จะมีการเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสุขภาพ
          นอกจากนั้น ที่สำคัญพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการประจำจังหวัดที่จะต้องทำหน้าที่รณรงค์ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการทำงานอย่างจริงจัง จะส่งผลให้คนสูบบุหรี่ลดลงอย่างแน่นอน แต่จะลดลงมากน้อยนั้นคงต้องติดตามกัน ทั้งนี้ ในส่วนของบุหรี่ไฟฟ้านั้น ขณะนี้มีการห้ามโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และอนาคตอาจจะมีกฎหมายลูกในเรื่องนี้ ก็ต้องดูความพร้อมของกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆ
          "พ่อแม่มีความสำคัญอย่างมากในการกระตุ้น และเป็นต้นแบบแก่ลูกๆ ที่จะช่วยลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ได้ เพราะหากพ่อแม่ไม่สูบให้ลูกเห็น หรือไม่ใช้ให้ลูกไปซื้อบุหรี่ จะไม่เกิดทัศนคติที่มองว่าบุหรี่เป็นสินค้าหรือเป็นเรื่องปกติที่จะสูบบุหรี่ได้ นอกจากนั้น การที่พ่อหรือแม่สูบบุหรี่ จะทำให้ลูกติดบุหรี่ถึง 7 เท่า ดังนั้น ต่อให้มีกฎหมาย การรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ พ่อแม่ต้องเป็นส่วนสำคัญ จะเพิ่มหรือลดความเสี่ยงลูกติดบุหรี่" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว
          "ห้ามแบ่งซองขาย ห้ามให้เห็นซองบุหรี่ บริษัทสถานประกอบการห้ามทำซีเอสอาร์ ห้ามใช้พริตตี้ หรือส่งเสริมการขายต่างๆ และในอนาคตจะมีกฎหมายลูก ห้ามใช้สีสันบนซองบุหรี่ จะมีการเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสุขภาพ"


pageview  1204899    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved