HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 23/04/2555 ]
กินอย่างไร...ไม่ให้ไมเกรนถามหา

 "ไมเกรน" เป็นอาการปวดศรีษะที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศรีษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type hjeadache) ซึ่งพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า โดยมักเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศรีษะข้างเดียว หรืออาจย้ายข้างได้หรือปวดศรีษะทั้ง 2 ข้าง รูปแบบการปวดไมเกรนมีอาการปวดแบบตุ้บๆ (คล้ายเส้นเลือดเต้น) และอาจปวดรุนแรงมากร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการไม่อยากเห็นแสงจ้าและไม่อยากได้ยินเสียงดัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการปวดศรีษะจะเป็นอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง บางคนอาจมีอาการเจ็บที่บริเวณหนังศรีษะหรือรอบกระบอกตาร่วมด้วยได้
          ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากความไวของสมองมีมากกว่าปกติ สิ่งกระตุ้นชนิดต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเป็นการรักษาวิธีหนึ่งที่ผู้ป่วยไมเกรนสามารถทำได้เอง การสังเกตประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศรีษะทำให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าวได้

          อาการปวดศรีษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่
          1.ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน
          2.ไมเกรนที่มีอาการเตือน
          อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ อาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราว หรือมีอาการอ่อนแรง เป็นต้น
          ในผู้ป่วยบางรายจะพบว่ามีสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะไมเกรนขึ้นมา เช่น ภาวะเครียด การอดนอน การนอนและตื่นไม่เป็นเวลา ช่วงที่เป็นประจำเดือน กลิ่นหรือควัน การเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือความร้อน แสงแดด อาหารบางชนิด (อาหารหมักดอง ชีส ไวน์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ การอดอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศรีษะ
          กลุ่มอาหารที่กระตุ้นอาการปวดศรีษะ
          สารไทรามีน (Tyramine) พบเป็นองค์ประกอบธรรมชาติในอาหาร เช่น เนยแข็งที่บ่ม (Aged chsses), ปลารมควัน เนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธียืดอายุ ของหมักดองอาหารที่มีส่วนประกอบของยีสต์ เบียร์ เป็นต้น
          1.สารแอสปาแตม (Aspartame) เป็นสารให้ความหวานซึ่งหวานกว่าน้ำตาลปกติ 180-200 เท่า
          2.ผงชูรส (Monosodium glutamate; MSG) เป็นสารปรุงแต่งรสชาติอาหารที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมักถูกใช้สำหรับปรุงรสชาติอาหารให้อร่อย กลไกการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศรีษะอาจมาจากการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด หรือไปกระตุ้นให้เซลล์ของผนังหลอดเลือดหลั่งสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว นำไปสู่อาการปวดศรีษะในที่สุด
          3.ไนเตรต และไนไตรท์ (Nitrates and Nitrites) เป็นสารกันบูดที่ใช้ในการถนอมอาหาร อาหารหมักดองหรืออาหารรมควัน หลังจากรับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการปวดศรีษะในทันที หรืออาจจะใช้เวลานานกว่านั้น เป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ กลไกการกระตุ้นให้ปวดศรีษะอาจเกิดจากสารดังกล่าวไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารไนตริกออกไซด์หรือสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวชนิดอื่นๆ ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว
          4.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) โดยเฉพาะในไวน์แดง พบเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศรีษะไมเกรนได้บ่อย อาจจะทำให้มีอาการปวดศรีษะภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากดื่ม สาเหตุเกิดจากไวน์มีส่วนประกอบของไทรามีน, ซัลไฟท์, ฮีลตามีน, ฟลาโวนอย ซึ่งสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศรีษะได้
          อาการปวดศรีษะหลังดื่มแอลกอฮอล์ สามารถเกิดได้บ่อย ซึ่งอาจรวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเขียน เวียนศรีษะ ใจสั่น หงุดหงิด สมาธิแย่ลง อาการปวดศรีษะมักจะเกิดในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์
          5.กาเฟอีน เป็นสารที่พบในกาแฟ ชา โซดา และช็อกโกแลต ซึ่งรวมถึงยาแก้ปวดศรีษะที่มีส่วนผสมของสารนี้ กาเฟอีนจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางขึ้นกับขนาดที่รับประทานเข้าไป
          การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศรีษะสามารถทำได้ไม่ยาก ควรสังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะ นอนพักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ งดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และถ้าอาการปวดศรีษะรุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที เท่านี้ก็สามารถบอกลาไมเกรนตัวร้ายได้แล้ว
          เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์
          โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719


pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved