HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 03/05/2560 ]
รู้เท่าทัน'เฟซบุ๊ก'ปุ่มแจ้งลบด่วน!
  คลิปพ่อแขวนคอลูกวัย 11 เดือน กลายเป็นโศกนาฏกรรมสร้างความสะเทือนใจให้สาวกออนไลน์ไปทั่วโลก ความเศร้าสลดใจยิ่งเพิ่มทวีคูณหลังรับรู้ตัวเลขว่า มีผู้กดดูและกดแชร์โพสต์นี้มากถึง 3 แสนกว่าคนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง!?!
          ทำให้เกิดประเด็นน่าสนใจ 2 ประการ ได้แก่ 1 ผู้ชมและผู้แชร์ เปิดดู "เฟซบุ๊กไลฟ์ฆ่าคนตาย" นั้น มีความผิดหรือไม่อย่างไร?
          ประการที่ 2 คลิปนี้ถูกเผยแพร่นานกว่า 24 ชั่วโมง กว่าจะถูกเฟซบุ๊กลบออกไป หลังจากหน่วยงานรัฐของไทยแจ้งไป มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้เห็นคลิปดังกล่าว บางคนต้องการแจ้ง แต่ไม่รู้วิธีการแจ้งลบฉุกเฉินไปยังผู้ดูแลเฟซบุ๊ก?
          "รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์"
          คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น  ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมพิวเตอร์ อธิบาย ว่า หากภาพที่ปรากฏในคลิปเป็นภาพ ลามกอนาจาร สามารถเอาผิดได้ทั้ง  "ผู้ผลิตเนื้อหา" "ผู้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ" และ "พวกคนกดดู" ตาม
          พ.ร.บ.ว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์"
          แต่กรณีที่เกิดขึ้นนั้น หากผู้ผลิตเนื้อหาหรือตัวพ่อเด็กไม่ได้เสียชีวิตไปด้วยจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ในส่วนของกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์นั้น ถือว่าตัวพ่ออาจไม่ได้ทำผิด และคนดูก็ไม่ผิดด้วย เมื่อพิจารณาตามตัวอักษรของกฎหมายคอมพิวเตอร์ "มาตรา 14 และ มาตรา 16" ที่จะเริ่มมีผลใช้บังคับในเดือนพฤษภาคม 2560
          โดยมาตรา 14 มีสาระสำคัญดังนี้"ผู้ใดทำการโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือนำเข้าสู่ข้อมูลลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ มีโทษปรับ 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 5 ปี และถ้าหากมีผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษปรับ  6 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี"
          รศ.คณาธิปอธิบายต่อว่า เนื่องจากภาพในคลิปที่เกิดขึ้นเป็นเฟซบุ๊กไลฟ์ ไม่ได้มีการตัดต่อ ทำปลอม บิดเบือนหรือหลอกลวง ดังนั้นจึงไม่มีความผิดในข้อหานี้ และคนดูก็ไม่มีความผิดเพราะไม่รู้ว่าระหว่างที่ดูถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์นั้น จะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเป็นการดูคลิปเดียวกันเสร็จแล้ว ไปกดแชร์ส่งต่อให้ผู้อื่น อาจถูกตีความว่ามีความผิดได้ ตามมาตรา 16 ที่มีเนื้อหาสรุปไว้ว่า
          "ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง...ที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และ ถ้าเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย
          และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือ ได้รับความอับอาย ก็จะมีโทษเช่นเดียวกัน"
          ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายข้างต้นยอมรับว่า กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่กำลังจะบังคับใช้นั้น มีเนื้อหาหลายส่วนที่ต้องรอคดีตัวอย่างว่าหากมีใครฟ้องร้องแล้วศาลจะพิจารณาเป็นคดีตัวอย่างเช่นไร เช่น การแชร์คลิปคนฆ่าคนตายนั้น ผู้ดูและกดแชร์จะมีความผิดอย่างไรบ้าง และการแชร์ภาพศพหลังจากฆ่าคนตายแล้วจะมีการตีความอย่างไร
          ขณะที่ "นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน"
          ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนให้ผู้บริหารเฟซบุ๊กออกมารับผิดชอบต่อเครื่องมือถ่ายทอดสด "เฟซบุ๊กไลฟ์" (facebook live) เพราะถือว่าได้ผลประโยชน์จากช่องทางดังกล่าว ขณะที่คนในครอบครัวอยากลบคลิปออกแต่ไม่สามารถทำได้เอง ส่วน กสทช.ต้องมารับผิดชอบเพราะการถ่ายทอดสดให้ดู เนื่องจากการดูซ้ำ หรือแชร์ซ้ำ ยิ่งทำให้ญาติ ครอบครัว คนที่เสียชีวิตเกิดความหดหู่ เศร้าเสียใจ หรือคนทั่วไปที่มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วได้เห็นคลิปแบบนี้ อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้
          "ทั่วโลกกำลังกังวลกับการเสนอเนื้อหารุนแรงผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่ก่อนการถ่ายทอดสดแบบนี้มีเฉพาะช่องทีวีหรือสื่อหลัก ที่มีกระบวนการควบคุมดูแล วิเคราะห์ กลั่นกรอง ก่อนนำเสนอหรือเผยแพร่ออกอากาศ แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถที่จะแชร์ภาพหรือสื่อสารกันเองได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้อย่างเดิม อยากเสนอให้มีกลไก มาควบคุม หรือมีองค์กรกลางมากำกับดูแล" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
          ทั้งนี้ "ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา"
          กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมรับว่า กรณีถ่ายทอดสดเนื้อหารุนแรง เช่น วินาทีฆ่าตัวตาย ผูกคอตาย หรือข่มขืนรุมโทรมนั้น "กสทช." ไม่สามารถปิดกั้นหรือสั่งปิด สั่งลบได้ เพราะบริษัทของผู้ให้บริการเฟซบุ๊กหรือยูทูบอยู่นอกประเทศไทย สิ่งที่ทำได้เพียงประสานขอความร่วมมือโดยตรงไปยังผู้ให้บริการ เกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหา รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก
          เมื่อกฎหมายยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาผิดได้หรือไม่ และกสทช. ก็ไม่มีอำนาจสั่งปิด!?!
          สิ่งที่ประชาชนทำได้ในขณะนี้คือ การรู้เท่าทันสื่อโซเชียลมีเดีย และร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันเอง
          กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจากคลิปปลิดชีวิต เด็กวัย 11 เดือน ความยาวประมาณ 4 นาที  2 คลิป ถูกแชร์ออกไป มีคนกดดูคลิปแรกประมาณ 1.12 แสนคน และคลิปที่ 2 ประมาณ 2.58 แสนคน และเผยแพร่แชร์ต่อกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนเฟซบุ๊กจะได้รับแจ้งจาก กสทช. ให้ ลบทิ้ง
          ข้อมูลนี้ แสดงให้เห็นว่าคนดูกว่า 3 แสนคนนั้น มีบางส่วนต้องการแจ้งลบเนื้อหาในเฟซบุ๊ก นั้นแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
          สำหรับขั้นตอนการ "กดปุ่มแจ้งลบด่วน!"ไปยังเฟซบุ๊กโดยตรง เมื่อพบข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอที่ไม่เหมาะสม มีดังนี้
          1.กดคลิกที่มุมขวาด้านบนสุดที่เป็นรูปเครื่องหมายคล้ายตัว "v" จากนั้นจะปรากฏข้อความขึ้นมาให้กดเลือก "รายงานปัญหาโพสต์"
          2.ให้แจ้งเฟซบุ๊กว่าเกิดอะไรขึ้น "ฉันคิดว่าโพสต์นี้ไม่ควรอยู่บน Facebook" เสร็จแล้วกดปุ่มดำเนินการต่อ
          3.จะมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เลือกกดปุ่มตอบว่าตามเนื้อหาที่พบเช่น ไม่สุภาพ ก้าวร้าว ลามกอนาจาร มีคำพูดแสดงความเกลียดชัง ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย ฯลฯ
          4.จากนั้นจะมีวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นปรากฏ ขึ้นมา ถ้าต้องการแจ้งลบด่วนให้เลือกข้อความว่า "ขอให้พิจารณาโพสต์นี้" จากนั้นกดปุ่มยืนยัน  ถ้ายิ่งมีผู้ "กดปุ่มแจ้งลบ" ไปจำนวนมากเท่าไร  ทางเฟซบุ๊กจะได้รับการแจ้งเตือนถี่ขึ้น ทำให้การ ลบทิ้งเกิดได้เร็วขึ้นกว่าการแจ้งเตือนด้วยคนไม่ กี่คนด้วย
          พวกเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการ ช่วยสร้าง "สังคมออนไลน์" ให้งดงามน่าอยู่ ยิ่งขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา เพื่อกวาดล้างเนื้อหาสกปรก รุนแรง ลามกอนาจาร รวมถึงสิ่งที่ผิดกฎหมาย ออกไปให้เร็วที่สุด...
          ใครดูแล'เฟซบุ๊ก' 24ชม.!
          เมื่อเจอโพสต์ไม่เหมาะสม พลเมืองดี "กดปุ่มแจ้งลบด่วน !"ไปแล้ว "เฟซบุ๊ก" จะทำอย่างไรต่อไป?
          ผู้ใช้เฟซบุ๊กทั่วโลกมีประมาณเกือบ 2,000 ล้านคน เฉพาะในประเทศไทยมี 40 ล้านคน เป็นอันดับ 8 ของโลก ดังนั้นทีมงานรับเรื่องร้องเรียนที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และรองรับมากกว่า 20 ภาษานั้น ต้องมี "ภาษาไทย"อยู่ด้วยแน่นอน
          กลุ่มรับเรื่องร้องเรียน (User Operation Teams) แบ่งเป็น 4 ทีม คือ ทีมดูแลความปลอดภัย (Safety), ทีมดูแลเนื้อหาสร้างความเกลียดชังหรือการล่วงละเมิดต่างๆ (Hate and Harassment), ทีมรับผิดชอบการกลั่นแกล้งอื่นๆ (Abusive) และทีมดูแลการเข้าถึงเนื้อหา (Access)
          เมื่อรับเรื่องร้องเรียนเข้ามา เจ้าหน้าที่จะพิจารณาก่อนว่า ผิดกฎหมาย รุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ถ้าประเมินเบื้องต้นว่าผิดจริง เฟซบุ๊กจะเตือนผู้โพสต์ให้ลบทันที แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะลบให้เอง พร้อมแจ้งเตือนแบบใส่ในแบล็กลิสต์หรือหมายหัวไว้ว่า "ให้ระวัง อย่าทำอีก !" ถ้าใครไม่เชื่อทำซ้ำ จะโดนลบแอ็กเคาน์ (Account) เพื่อนๆ ผู้ติดตามหายหมดเกลี้ยง ต้องแอบไปเปิดชื่อใหม่แทน...

 


pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved