HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 27/04/2560 ]
แอพพลิเคชั่น'สบายใจ' ป้องกันคิดสั้น-ลดฆ่าตัวตาย

ปัญหา การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ทุกครอบครัว 2-3 ปีมานี้ ประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายปีละ 3,900-4,200 คน จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ พบว่าในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดจากสาเหตุทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว
          ล่าสุด กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า สบายใจ (sabaijai) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจสอบสภาพจิตใจ ความเสี่ยงต่อการคิดสั้นฆ่าตัวตายของตัวเองและคนใกล้ชิด โดยแนะนำให้ประชาชนติดตั้งแอพพลิเคชั่น "สบายใจ" ในมือถือ ช่วยตรวจสภาพจิตใจ ป้องกันคิดสั้น รู้ผลใน 3 นาที หลังใช้ 7 เดือน มีผู้ใช้งานจำนวนมากกว่า 1,000 คน ลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้
          น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี
          กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ทุกครอบครัว ข้อมูลในช่วง 2-3 ปีมานี้ ประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายปีละ 3,900-4,200 คน จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการป้องกันและเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของประเทศ พบว่าในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดจากทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักและร่วมมือกันลดปัญหา
          กรมสุขภาพจิตได้เร่งลดปัญหา โดยได้วางระบบป้องกันการฆ่าตัวตาย เน้นการคัดกรองจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวช โรคซึมเศร้า โรคเรื้อรัง ผู้ใช้สุราและสารเสพติด ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล และกลุ่มคนที่มีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน ดำเนินการในโรงพยาบาลทุกแห่ง ขยายผลลงถึงหมู่บ้านโดย อสม. เพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง
          ในปีนี้ได้เพิ่มการจัดทำฐานข้อมูลผู้ที่มีประวัติพยายามทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายทั่วประเทศ กลุ่มนี้มีมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4 เท่าตัว คาดว่ามีประมาณ 15,000 คน เพื่อการเฝ้าระวังทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 10 เท่าตัว ขณะนี้มีผู้อยู่ในระบบแล้ว 5,000 กว่าคน และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า สบายใจ (sabaijai) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นประเทศต้นๆ ของโลก เพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจสอบสภาพจิตใจ ความเสี่ยงต่อการคิดสั้นฆ่าตัวตายของตัวเองและคนใกล้ชิด
          "ขณะนี้ใช้มาแล้ว 7 เดือน พบว่ามีประชาชนใช้งานกว่า 1,000 คน ช่วยลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายลงได้อย่างดี และชื่นชอบแอพนี้ จึงขอแนะนำให้ผู้ที่ใช้มือถือในระบบแอนดรอยด์ ดาวน์โหลดหรือถ่ายภาพจากคิวอาร์โค้ด ติดตั้งไว้ที่หน้าจอมือถือที่ใช้เป็นประจำ เพราะหากตนหรือผู้ใกล้ชิดมีปัญหาสามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งให้สามารถใช้กับมือถือทุกระบบภายใน 3 เดือนและพัฒนาให้มีคุณภาพการสื่อสาร 2 ทางมากขึ้น โดยให้มีระบบการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการขณะใช้งานได้ทันที"
          น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯ ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสบายใจ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบให้ใช้งานง่าย ใช้ได้ทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุคือ 15-24 ปี, 25-59 ปี และ 60-65 ปี โดยใช้คำถาม 9 ข้อ ซึ่งได้มาจากการศึกษาวิจัยด้านพฤติกรรมความคิดของคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย รวมทั้งปัญหาชีวิตที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เช่น เศรษฐกิจ ผิดหวังความรัก สูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน ทุกข์ทรมานจากการป่วย เป็นต้น ตอบเพียง ใช่ ไม่ใช่ และทราบความเสี่ยงของตนเองได้ภายในไม่ถึง 3 นาที
          นอกจากนี้ ยังมีเมนูคำแนะนำเติมกำลังใจการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องการเรียน ความรัก การงาน การเงิน ครอบครัวและสุขภาพ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะมีเบอร์โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ขณะเดียวกันจะให้ผู้ใช้งานบันทึกหมายเลขโทรศัพท์คนที่อยากคุยด้วยเมื่อมีปัญหาไว้ประจำที่แอพพลิเคชั่นนี้ด้วย จากการประเมินผลพบว่าผู้ใช้พึงพอใจแอพนี้สูงถึง 4.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน สามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้ โดยเข้าไปที่เมนูเพลย์สโตร์ ที่หน้าจอ แล้วพิมพ์คำว่า สบายใจ ทั้งภาษาไทยหรืออังกฤษ หรือใช้วิธีการเชื่อมต่อทางคิวอาร์โค้ด จะสามารถเข้าสู่ กูเกิล เพลย์สโตร์ และสามารถดาวน์โหลดติดตั้งที่หน้าจอมือถือได้เลย
          ทั้งนี้ การไลฟ์สดการฆ่าตัวตายผ่านสังคมออนไลน์ เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น จากการปรากฏเป็นข่าวหรือกล่าวถึงในโลกสังคมออนไลน์ เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย ซึ่งการถ่ายทอดสดลักษณะนี้ ไม่สามารถที่จะตัดต่อ หรือเซ็นเซอร์ได้ในขณะออกอากาศ หากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (copycat suicide) หรือชี้นำให้เกิดการฆ่าตัวตาย ตามด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นทางออกของปัญหาได้ จึงควรที่จะมีการป้องกันไว้ก่อน
          "ติดตั้งไว้หน้าจอมือถือ ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในรอบ 7 เดือน มีผู้ใช้งานกว่า 1,000 คน ลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้"


pageview  1205116    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved