HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 09/03/2560 ]
รงเรียนพ่อแม่เลี้ยงดูแบบไหนไม่ให้กลายเป็น...'ลูกเทพ'

  "ลูกเทพ"บ่อยครั้งที่คนในสังคมจะใช้เรียกในเชิงเปรียบเปรยถึงลักษณะการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ในปัจจุบัน ที่มักจะตามใจ หรือประคบประหงมจนเกินไป ทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่แย่ ซึ่งการจะปลูกฝังให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นอย่างไรนั้น จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ระยะต้นของชีวิต โดยพ่อแม่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้มีการจัด "โรงเรียนพ่อแม่" เพื่อให้ความรู้การเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ เด็กเติบโตมีพัฒนาการและโภชนาการดี
          "โรงเรียนพ่อแม่เกิดจากที่เห็นความสำคัญของเด็กในช่วงต้นของชีวิต เพราะวัยนี้เป็นวัยทองรากฐานของชีวิต ที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่ดีของสังคม โดยในปี 2547 เป็นนโยบายของกรมอนามัย ที่ให้ศูนย์อนามัยทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศดำเนินการในเรื่องนี้" พญ.นนธนวนัณท์ สุนทรา กุมารแพทย์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 13 กรุงเทพฯ กรมอนามัย เล่าย้อนจุดเริ่มต้นของการดำเนินการ
          การเรียนรู้ในโรงเรียนพ่อแม่แบ่งเนื้อหาสาระเป็น 3 ช่วง เวลา 1.ระยะตั้งครรภ์ เน้นเรื่องวิธีการดูแลสุขภาพช่องปาก ของคุณแม่ ผลกระทบต่อทารก อาหารที่มีประโยชน์ รู้วิธีการ ส่งเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์ นวดกระชับความผูกพัน รู้อาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะเสี่ยงก็จะช่วยแก้ไข โดยพ่อจะต้องเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะเป็นการเน้นความรักความผูกพันที่พ่อแม่ต้องมีบทบาทร่วมกัน หากแม่มีความสุข ลูกก็ไม่ขาดออกซิเจน รวมถึงรู้ประโยชน์ของนมแม่และวิธีการกระตุ้น ช่วงเวลาในห้องคลอดจะให้ทารกดูดนมจากเต้าทันทีโดยมีพ่อช่วยอุ้ม
          2.ระยะหลังคลอด ช่วง 1-3 วันแรกสอนให้พ่อแม่เลี้ยงลูกเองได้ เน้นกินนมแม่ให้เป็น ท่าอุ้มในการให้นม นวดเบาๆ ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส การอาบน้ำลูกด้วยความนิ่มนวลมีผลต่อเส้นประสาท การเล่านิทานให้ลูกฟัง วิธีการดูแลตัวเองของคุณแม่ และอาการผิดปกติ โดยสอนให้พ่อคอยช่วย และ 3.ระยะเลี้ยงดูบุตร ช่วง 2 เดือนแรกเน้นการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว ส่วน 4-6 เดือน รู้วิธีการเริ่มอาหารเสริม การทำความสะอาดช่องปากลูก ส่งเสริมพัฒนาการสมวัย ปัญหาพฤติกรรมเด็ก และการสร้างวินัยเชิงบวก รวมทั้งมีการค้นหากลุ่มเสี่ยงเด็กที่จะเจริญเติบโตไม่เต็มศักยภาพทั้งโภชนาการ พัฒนาการและวินัยเชิงบวก
          ศูนย์อนามัยที่ 13 หัวใจของกระบวนการเรียนรู้ เรียกว่า การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL) ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้มาจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (DKMD) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการทำให้สมองเปิดให้ผู้เข้าเรียนมีการผ่อนคลาย จากนั้นเริ่ม 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.ดึงความรู้และประสบการณ์ของพ่อแม่ออกมา 2.กระตุ้นหรือเร้าใจให้เกิดความสนใจอยากที่จะเรียนรู้ 3.ให้องค์ความรู้ด้วยการทดลองลงมือทำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรียนรู้กันและกัน 4.ช่วยกันสรุป และ 5.นำไปปฏิบัติได้อย่างเข้าใจที่แท้จริง โดยที่ศูนย์จะ มีพ่อแม่เข้าร่วมกิจกรรมเดือนละประมาณ 200 คน และเตรียมที่จะขยายผลรูปแบบนี้ไป ดำเนินการที่ จ.สมุทรปราการ สระบุรี และปทุมธานี
          การสร้างวินัยเชิงบวกให้แก่ลูก พญ. นนธนวนัณท์
          บอกว่า ช่วง 1 ขวบปีแรกสำคัญมาก เป็นช่วงของการสร้างความรักความผูกพัน หากพ่อแม่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างถูกต้อง ผลก็จะเกิดที่ตัวเด็กมีความรักความผูกพันกันและกัน การฝึกวินัยลูกสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ 5 เดือน ฝึกจากสิ่งเล็กๆ เช่น ฝึกให้มีวินัยในการกิน ลดมื้อกลางคืนลง จะฝึกให้ลูกรู้จักอดทน รอคอย เป็นต้น ส่วนในช่วง 1-2 ปี จะต้องมี 2 ช. คือ ชม เมื่อลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง ควรให้การชื่นชม และโชว์ เพราะเด็กในวัยเตาะแตะจะชอบการโชว์ เมื่อทำอะไรได้จะชอบโชว์ ก็ควรให้ลูกได้ช่วยหยิบจับช่วยเหลือพ่อแม่เล็กๆ น้อยๆ เช่น หยิบผ้าอ้อมให้น้อง หรือช่วยตีไข่
          พญ.นนธนวนัณท์ บอกด้วยว่า แนวคิดสำคัญของโรงเรียนพ่อแม่จะเน้นเรื่องกิน กอด เล่น เล่า นอนโดยฝึกให้ลูกนอนเต็มอิ่ม เพื่อที่ฮอร์โมนการเจริญเติบโตจะได้หลั่งอย่างเต็มที่ และเฝ้าดูแลฟัน ไม่ให้ฟันผุ เพราะฟันที่ผุจะส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก และต้องหัดให้ลูกแปรงฟัน และดูแลฟัน
          "กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ ทำให้พ่อแม่มีความเข้าใจและมั่นใจว่าสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลเลี้ยงดูลูกได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ และเด็กจะเรียนรู้วินัยพื้นฐาน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะไม่ไปก่ออาชญากรรม" พญ.นนธนวนัณท์กล่าว
          พ่อแม่ที่สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโรงเรียนพ่อแม่สามารถสอบถามเบื้องต้นได้ที่ศูนย์อนามัยทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี ราชบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และยะลา ในส่วนของศูนย์อนามัยที่ 13 กรุงเทพฯ สอบถาม 0-2521-3056
          การดูแลและปลูกฝังพฤติกรรมลูก ควรเริ่มตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ มิอาจเริ่มต้นเมื่อโต เพราะอาจสายเกินไป!!!!
          วิธีฝึกลูก'ควบคุมตนเอง'
          การฝึกให้ได้ทั้งควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ไล่จากเรื่องใกล้ตัว ยังไม่ต้องไปไกล....กับสิ่งง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน 1.หากลูกต้องการของเล่นชิ้นใหม่บ่อยๆ ให้ปฏิเสธลูก แม้เขาจะร้องไห้ (ฝึกให้ลูกรู้จักคุมความ "อยาก" และรู้จักการ "ลด" ความอยาก)
          2.หากลูกต้องการกินขนมตอนนี้ ไม่ต้องไปรีบบริการ แต่ควรฝึกลูกให้รออย่างใจเย็น จนกว่าจะถึงเวลามื้อขนมต่อไป (ฝึกลูกให้ "ชะลอ" ความพึงพอใจ)
          3.หากลูกไม่ยอมปิดการ์ตูนตามตกลง ต่อรองแล้วต่อรองอีก แนะนำให้เด็ดขาด(ไม่ใช้อารมณ์) (ฝึกลูกให้ควบคุมตนเองให้ได้ตามสัญญา)
          4.หากลูกระเบิดอารมณ์ เราก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกควบคุมอารมณ์ตนเองเป็น ด้วยการเป็นต้นแบบของความสงบนิ่งและอยู่ใกล้ๆ รอเวลาสื่อสารกันอีกครั้ง (ฝึกลูกให้ควบคุมอารมณ์โกรธเอง)
          อย่าลืมว่า หากลูกสงบเพราะเราดุ ขู่ ตี ล่อหลอก ลูกจะไม่มีโอกาสได้ฝึก "ควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วยตนเอง" แต่กลายเป็น "เราควบคุมลูก" ให้หยุดอารมณ์


pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved