HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 16/02/2560 ]
เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ย้ำรักษาฟรี72ชั่วโมงแรกกรณีเข้าข่ายวิกฤติสีแดง

  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แก้ชื่อนโยบายใหม่ เป็น "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่" หลังประชาชนสับสนเข้าใจผิด ย้ำรักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก กรณีเข้าข่ายวิกฤติสีแดง สธ.เร่งออกประกาศหลักเกณฑ์ หวังใช้ทันสงกรานต์นี้
          เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กพฉ.ว่า ได้เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนชื่อ จากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ เป็นนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ เนื่องจากชื่อโครงการเดิมมีลักษณะที่เกินกว่าความเป็นจริง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในการรับบริการตามโครงการนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วโครงการมุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะวิกฤติ หรือฉุกเฉินสีแดง ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง โดยสามารถเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลนอกสิทธิ์และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
          รมว.สาธารณสุขกล่าวอีกว่าได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะกำกับดูแลสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ให้เร่งจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนนำมาใช้
          ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่จะให้แก่โรงพยาบาลเอกชนที่รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสีแดง ใช้ตามอัตราตารางราคาและอัตราจ่าย (Fee Schedule) ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดทำเสร็จเรียบร้อยและผ่านความเห็นชอบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งการจ่ายชดเชยให้แก่สถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในโครงการนี้ เบื้องต้นจะให้สำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่สำรองจ่ายไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากกรมบัญชีกลางและประกันสังคมในภายหลังเหมือนที่ทำมา แต่ในอนาคตแต่ละกองทุนรักษาพยาบาลจะต้องดำเนินการจ่ายให้กับสถานพยาบาลเอง
          นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดี สบส. กล่าวว่า นโยบายนี้กรมได้ยกร่างประกาศค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งนำมาจากอัตราที่ สพฉ.ทำเอาไว้ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนเสนอ รมว.สาธารณสุขพิจารณาและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้ชื่อ เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์ในปี 2558 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน กพฉ.
          ส่วนในมาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ระบุว่า สถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียยวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ


pageview  1204947    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved