HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 29/07/2558 ]
มหันตภัยยาเสพติดพิษร้ายคร่าสังคม-เยาวชน
ปัจจุบันยาเสพติดแพร่ระบาดรุนแรงในกลุ่มวัยเรียน สาเหตุหลักเป็นเพราะความอยากรู้อยากลองและค่านิยมที่ผิดจนถลำลึกยากจะถอนตัว จำนวนไม่น้อยเปลี่ยนสถานะจากผู้เสพไปเป็นผู้ค้า หรือที่เรียกกันว่า เด็กเดินยา เพียงเพื่อต้องการเงินมาหาซื้อยาเสพต่อ
          "เก้า" (นามสมมุติ) อายุ 22 ปี อดีตผู้ที่เคยเสพยาเสพติดมานานหลายสิบปี จนผันตัวมาเป็นเด็กเดินยา และเป็นเอเย่นต์รายย่อยภายในชุมชนเดียวกัน ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และเข้าออกคุกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง
          เก้า เล่าว่า เมื่อเสพยาเสพติดนานเข้าทุกวัน ทำให้เงินไม่พอที่จะซื้อยามาเสพ จึงผันตัวไปเป็นเด็กเดินยา ได้ค่าเดินนิดหน่อย แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการปริมาณยา จึงเป็นเอเย่นต์รายย่อยภายในชุมชน ถ้าใครต้องการซื้อยาก็จะรู้กันว่า ต้องซื้อยาจากเขา
          "ครั้งแรกลองเสพยาบ้า จากนั้นก็เป็นยาไอซ์ กัญชา จนถึงขั้นติดหนักขึ้น จากที่เสพวันละ 3-4 ตัว เพิ่มเป็นวันละ 10 ตัว เพราะสนุกสนาน และคลายเครียด ตอนนั้นคิดเพียงว่า ถ้าเป็นแค่เด็กเดินยาก็ได้แค่เสพไปวันๆ แต่ถ้าเป็นเอเย่นต์ก็ได้ทั้งเสพได้ทั้งเงินมาใช้เที่ยวเล่น เงินมันหมุนเยอะ" เก้า เปิดใจถึงประสบการณ์ในอดีต
          ไม่ต่างจาก ป๋อง (นามสมมุติ) เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ที่ได้ลองเสพยาบ้ามาตั้งแต่วัย 10 ขวบ เพราะเพื่อนชวนให้ลอง ทำให้ติดใจและทดลองยาเสพติดมาทุกประเภท จนทุกวันนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ ตั้งแต่เข้ามาพัวพันกับยาเสพติด และวงจรนี้ก็ไปไหนไม่ไกล อยู่แค่กลุ่มเล็กๆ ภายในชุมชนแห่งหนึ่ง ย่านสาทร ที่เป็นกลุ่มที่เสพยาเสพติดเหมือนกัน
          "มันติดครับ ติดพวกยาแล้วมันไม่ได้ไปโรงเรียน มันขี้เกียจครับ ครั้งแรกที่เล่นก็ลองเล่นดู แต่เล่นไปเล่นมามันติด จากนั้นก็ไปชวนเพื่อนๆ ลองเล่นดู และถ้าวันไหนไม่ได้เล่นก็จะรู้สึกปวดท้องแบบบอกอาการไม่ถูก จะกระสับกระส่าย ซึ่งมันทรมานมาก" เด็กหนุ่มผู้เสพยาเสพติด เปิดเผย
          นางลี (นามสมมุติ) ผู้เป็นยายของป๋อง ได้แต่เสียใจที่ไม่สามารถห้ามลูกหลานให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ ทำได้เพียงแค่ตักเตือน และรอวันที่เขาจะถูกตำรวจจับกุม
          "ฉันเตือนมันตลอด แต่มันไม่เคยเชื่อฟัง พ่อมันก็ไม่ค่อยว่าง ทำแต่งาน มันอยู่กับฉัน เสียใจไม่สามารถดูแลมันได้ดี ตอนนี้รอวันมันถูกจับจะได้เลิกยาเสียที ใจฉันอยากให้มันไปทำงานกับพ่อมัน มันจะได้ห่างไกลจากเพื่อนที่ไม่ดี" ญาติผู้เสพยาเสพติด กล่าว
          ข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พบว่า ตั้งแต่ปี 2557-2558 มีเยาวชนวัยเรียนทั่วประเทศติดยาเสพติดเกือบ 3 แสนคน ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งผันตัวจากผู้เสพไปสู่ผู้ค้ารายย่อย
          "เพิ่มพงษ์ เชาวลิต" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติดในชุมชนเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นการเข้าถึงยาเสพติด ซึ่งทำควบคู่กับการบำบัดผู้เสพ
          "พยายามตัดตอนผู้ค้าด้วยการยึดทรัพย์ ผู้เสพนำเข้าสู่บำบัด ถ้ายอมรับการบำบัดไม่ติดคดี เพราะเชื่อว่าคุกไม่ใช่ทางออก ผู้เสพบำบัดรักษาประมาณแสนกว่ารายแล้วที่เข้าบำบัดโดยสมัครใจ ขณะเดียวกันคนเสพที่ถูกจับกุมก็เกือบแสนรายเหมือนกัน ส่วนผู้ขายมีโทษอยู่แล้วในเรื่องการกระทำผิดหนักเบาตามการกระทำ ปีหนึ่งจะมีการจับกุมนักค้า 7-8 หมื่นราย" เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
          ถึงแม้ยาเสพติดอยู่ในสังคมไทยมานาน แต่วิวัฒนาการของวัยรุ่นกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากยาเสพติด หันไปเสพยากดประสาทที่ดื่มควบคู่กับน้ำอัดลม เพราะทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มและความสุขได้ไม่แตกต่างกัน จึงเป็นค่าที่นิยมผิดเพี้ยนไป บางรายอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
          ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนหญิงที่ตกลงไปในโคลนใต้สะพานภูมิพล ย่านพระราม 3 โดยนักเรียนหญิงรายนี้มีอาการชักจนตัวเกร็ง ถูกนำมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ต่อมาทราบว่านักเรียนหญิงรายนี้เมายาที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้ยาว่า ยาโปร ซึ่งกำลังแพร่หลายในกลุ่มวัยเรียน
          เจน (นามสมมุติ) สาววัยรุ่นอายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 ที่เคยกินยาโปรกับกลุ่ม เพื่อนๆ
          "ตอนนั้นเป็นช่วงที่เขาฮิตกินกัน เราก็เลยลองกินดูบ้าง จะรู้สึกเมาๆ และมีอาการเคลิ้ม แบบมีความสุข กินกันขำๆ กับเพื่อน ไม่ได้คิดอะไรมาก เวลาไปซื้อยาก็จะไปซื้อที่ร้านขายยาใกล้กับโรงเรียน" เจน เล่าถึงประสบการณ์
          ยาประเภทนี้จำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป และไม่สามารถตรวจหาสารเสพติดเจอเหมือนยาเสพติด จึงไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ
          ดร.ปิ่นทอง ใจสุทธิ รองผอ.ร.ร.บางปะกอกวิทยาคม ยอมรับว่า เด็กในยุคนี้ดื่มเครื่องดื่มผสมกับยาแก้ไอหรือยาแก้ปวดเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กมัธยมต้นและมัธยมปลาย สาเหตุที่เด็กหันไปกินยาประเภทนี้ เพราะเห็นเพื่อนกินจึงกิน ตาม
          "เด็กส่วนใหญ่ที่หันไปกินยาประเภทนี้ เพราะขาดความรักความอบอุ่น และวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากลอง รวมถึงชอบแข่งขันกันในกลุ่มเพื่อนว่าใครเก๋ากว่าใคร อีกทั้งเด็กวัยนี้เป็นวัยที่ทุกข์ง่าย แต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้เขาทุกข์ อันดับแรกก็ต้องเริ่มจากภายในโรงเรียนก่อน และค่อยไปที่ครอบครัว" รองผอ.ร.ร.บางปะกอกวิทยาคม เปิดเผย
          เช่นเดียวกัน ประพนธ์ อางตระกูล เลขาธิการ อย. ระบุว่า ยาแก้แพ้จะมีส่วนผสมของโปรเมทาซีน ซึ่งฤทธิ์ของยาจะทำให้ง่วงซึม แต่ถ้ากินควบคู่กับแอลกอฮอล์จะทำให้ฤทธิ์เพิ่มขึ้น แต่ถ้ากินเกินปริมาณที่แพทย์กำหนดจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอนและเกิดอาการชักได้ โดยปกติยาชนิดนี้ถือว่าเป็นยาอันตราย จะต้องมีการควบคุมและส่งมอบยาโดยเภสัชกรเท่านั้น อีกกลุ่มคือยาแก้ปวด ที่ออกฤทธิ์ระงับการปวดอย่างรุนแรงหรือระดับปานกลางที่ยาแก้ปวดชนิดอื่นไม่สามารถระงับได้ เพราะมีส่วนผสมของมอร์ฟีน แต่ถ้านำไปใช้ผิดวิธีอาจทำให้เสพติดและเสียชีวิตได้
          ยาแก้ปวดร้านขายยาจะต้องซื้อจากผู้ผลิตเดือนหนึ่งไม่เกิน 1,000 แคปซูล ขณะเดียวกันเวลาขายให้ผู้ที่มาซื้อก็จะต้องขายได้ไม่เกิน 20 แคปซูลต่อครั้ง และเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ห้ามขาย ในส่วนยาแก้แพ้ ร้านขายยาสามารถซื้อจากผู้ผลิตได้ไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และเวลาขายให้ผู้ซื้อต้องขายไม่เกิน 3 ขวดต่อคน
          ไม่เพียงแต่ร้านขายยาเท่านั้นที่ขายยาประเภทนี้ ในโซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีการซื้อขายยาและแนะนำวิธีการเสพให้แก่สมาชิกหรือผู้ที่สนใจเข้ามาติดตามและทดลองกิน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ได้ขอความร่วมมือ ไปยังกระทรวงไอซีที เพื่อให้ปิดเว็บไซต์ เหล่านี้แล้ว
          สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้มงวดกับร้านขายยา เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนำยาที่ใช้ในการรักษาโรคไปใช้เป็นสารตั้งต้นยาเสพติด หวังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน

pageview  1204947    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved