HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 01/03/2555 ]
มช.ชำแหละหมอกควันไฟป่า คนนอกเมืองเสี่ยง "มะเร็ง"

มช.ชำแหละหมอกควันไฟป่า คนนอกเมืองเสี่ยง 'มะเร็ง'
          กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง หลังจากหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติหมอกควันไฟป่าตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพพบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่สูดเอามลพิษจากภาวะหมอกควันเข้าไปทยอยเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ จำนวนหลายพันคน และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวหากสถานการณ์หมอกควันไม่คลี่คลายลง
          จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องหมอกควันไฟป่าต่อเนื่องกันหลายปี ผลการศึกษาทำให้สถาบันได้ผลวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่ในการเกิดหมอกควันไฟป่า รวมทั้งปัญหาสุขภาพของประชาชนที่รับสารพิษในหมอกควันเข้าไป และแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย
          ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโสศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. เปิดเผยถึงผลวิจัยเรื่องหมอกควันไฟป่าว่า จากผลการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันไฟป่าพบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เขตนอกเมืองสูงกว่าพื้นที่ในเมือง 2-3 เท่า ตามแต่สภาพอากาศ นอกจากนี้จากการตรวจปัสสาวะผู้ใหญ่และเด็กผู้ที่อาศัยนอกเมืองยังพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้รับสารพิษจากการเผา หรือ สารพีเอเอช (PAH) มากกว่าผู้ที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะจุดฮอตสปอตพบสารพิษมากกว่าถึง 13 เท่า
          “เราได้ข้อมูลว่าในช่วงที่มีมลพิษ อาการทางเดินหายใจในเด็กที่อยู่นอกเมืองจะเพิ่มขึ้นเด่นชัดมาก แต่นี่คืออาการเฉียบพลัน แต่สิ่งที่เราไปตรวจปัสสาวะบ่งชี้ถึงโรคเรื้อรัง พบว่าสารที่เข้าไปสู่ในร่างกาย ที่เรียกว่า พีเอเอช เป็นสารที่ก่อมะเร็งได้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยฯ กับคณาจารย์คณะต่างๆ ที่มาร่วมงานบ่งชี้ว่า ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มลพิษสูง จะมีความเสี่ยงทั้งโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง ตอนนี้เราตอบไม่ได้ว่าคนคนนั้นจะเป็นโรคมะเร็งเมื่อใด แต่ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งขึ้นในอนาคต” ดร.ทิพวรรณ กล่าว
          นักวิจัยอาวุโสศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยฯ พร้อมกับทำโครงการของบประมาณจากรัฐบาลในการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นในทุกอำเภอ รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันระยะยาวที่เกิดขึ้นใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปี 2555 ถึงปี 2559 รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในเรื่องภัยที่มากับหมอกควัน พร้อมโน้มน้าวให้ชาวบ้านเปลี่ยนกระบวนการทำมาหากินด้านการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาให้เห็นผลภายในปี 2559
          “แผนปี 2559 เราน่าจะมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ถ้าตอนนี้เราไม่มีแผน ทุกปีจะต้องเจอปัญหาแบบนี้ เพราะว่า ห้ามเผาเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แค่อั้นเอาไว้ แต่เชื้อไฟยังอยู่ ดังนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ แต่ว่าจะต้องทำในระยะเร่งด่วน ควรจะมีต้นแบบให้มีการศึกษา เพราะว่าในหลายกลุ่มยังไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา ถ้าในระดับผู้ใหญ่บ้านยังบอกว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหา การจะไปแก้ปัญหาให้เขาคงไม่สำเร็จ” หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. กล่าว
          นอกจากนี้ ดร.ทิพวรรณ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นหมอกควันที่ยังไม่เพียงพบว่า เครื่องวัดปริมาณฝุ่นส่วนใหญ่จะติดไว้ในบริเวณตัวเมืองของแต่ละจังหวัด ส่งผลให้การตรวจวัดค่าปริมาณฝุ่นไม่ได้ค่าตรวจวัดที่แท้จริง เพราะสถานการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่นอกตัวเมือง ดังนั้นการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
          ขณะที่ ผศ.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ คณะเทคนิคการแพทย์ และผู้วิจัยร่วม ในฐานะผู้ร่วมประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นหมอกควัน กล่าวว่า แต่เดิมเครื่องมือต่างๆ จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ศุภชัย ชัยสุวรรณ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มช. สร้างเครื่องวัดปริมาณฝุ่นหมอกควันติดตั้งในทุกชุมชน โดยหวังให้ชาวบ้านได้เห็นผลงานวิจัยที่เป็นตัวเลขชัดเจน เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลเรื่องสุขภาพ และแก้ไขปัญหาการเผาป่าไปด้วยกัน
          “เราตั้งใจประดิษฐ์เครื่องให้ราคาถูกลง และมีมาตรฐานเทียบเท่าเครื่องมือจากต่างประเทศ เทียบแล้วราคาถูกกว่าประมาณ 3 เท่า ส่วนประสิทธิภาพพบว่าของต่างประเทศจอแสดงผลต่างๆ มีติดกับตัวเครื่องขนาดเล็ก เราได้เพิ่มจอแสดงผลให้มีขนาดใหญ่ และเพิ่มหน้าที่การทำงาน ให้มีสัญญาณไฟที่เป็นสี เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย ทั้งนี้ หากถึงเกินมาตรฐาน ไฟก็จะเป็นสีส้ม สีแดง ตามลำดับ เราสามารถวัดระยะในรัศมีประมาณ 2-3 กิโลเมตร และประมวลผลตลอด 24 ชั่วโมง” ผู้ร่วมประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่นกล่าว
          ผศ.สุชาติ ระบุทิ้งท้ายว่า แม้ตอนนี้เครื่องมือดังกล่าวจะยังมีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 แต่หากนำไปใช้งานจริงจะต้องทำให้ค่าความคลาดเคลื่อนต่ำกว่านี้ โดยจะปรับปรุงแก้ไขระบบต่างๆ และเริ่มนำร่องติดตั้งใน มช. ภายในเดือนมีนาคมนี้
 


pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved