HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 16/01/2557 ]
นอนดึกทำฮอร์โมนเครียดพุ่งกระตุ้นอยากกินอาหารหวาน
 พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล นักวิชาการโครงการ "รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง" สร้างสังคมไทย "ไร้พุง"  เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาความอ้วน ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งโรคอ้วน มีปัจจัยที่มีความซับซ้อนตั้งแต่ระดับยีน บางคนมียีนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงทำให้เกิดโรคอ้วนได้ไปจนถึงโรคบางอย่าง หรือความเครียด การใช้ชีวิตประจำวันและการนอน
          "โดยเฉพาะการนอนดึกหรือนอนไม่พอ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับร่างกายหลายด้าน โดยด้านที่เกี่ยวกับความอ้วน  คือ ส่งผลให้ฮอร์โมนเครียดที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล หลั่งมากขึ้นในวันถัดมา ฮอร์โมนเครียดที่เพิ่มขึ้นนี้จะกระตุ้นให้คุณรู้สึกอยากอาหารหวานๆ หรือน้ำตาลมากกว่าเดิม นอกจากฮอร์โมนเครียดแล้ว ฮอร์โมนหิว หรือเกรลิน ก็จะหลั่งเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้หิวเป็นสองเท่า นอกจากนี้ยังทำให้ฮอร์โมนความอิ่ม หรือ เลปติน จะหลั่งลดลง ส่งผลให้แม้ว่าจะรับประทานแล้วแต่ก็รู้สึกไม่ค่อยอิ่มทำให้ต้องหาอะไรรับประทานอยู่ตลอดจนกลายเป็นการกินมากเกินไป และหากอยู่ในช่วงวัยรุ่นถ้านอนดึกก็ยังส่งผลทำให้เตี้ยด้วย" พญ.ธิดากานต์ กล่าว
          พญ.ธิดากานต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรทำคือ เข้านอนช่วง 21.00- 23.00 น. ไม่นอนดึกกว่าเที่ยงคืน ไม่เล่นมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือดูโทรทัศน์ช่วง 30-60 นาทีก่อนนอน แสงสว่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้อาจส่งผลให้นอนไม่หลับได้ อย่าดื่มชา กาแฟ 6 ชั่วโมงก่อนนอน จัดห้องนอนให้มืดสนิท เงียบ อุณหภูมิเหมาะ ตื่นนอนในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน การตื่นสายผิดปกติในวันหยุดจะส่งผลให้นอนไม่หลับได้ง่าย และการสวดมนต์หรือนั่งสมาธิก่อนนอนจะช่วยให้จิตใจสงบและหลับได้สบายขึ้น เมื่อหลับสบายก็จะทำให้ตื่นมาด้วยความสดใสและมีฮอร์โมนในร่างกายที่สมดุล

pageview  1205450    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved