HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 10/01/2557 ]
สธ.สั่งเฝ้าระวังมือเท้าปากคร่า3ขวบ
 สธ.สั่งเฝ้าระวังทั้งระบบ หลังโรคมือ เท้า ปาก คร่า 3 ขวบ กรมควบคุมโรคเผยปี 56 ป่วย 4.5 หมื่น ตาย 3 ย้ำต้องเข้มสุขลักษณะลดวงจรระบาด จีนเร่งค้นวัคซีน
          จากกรณีพบเด็กวัย 3 ขวบ 7 เดือน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ในเขตคลองเตย กรุงเทพฯ ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease : HFMD) สายพันธุ์ อีวี 71 เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา และยังพบเด็กนักเรียนโรงเรียนเดียวกันป่วยเพิ่มอีกนั้น
          ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สธ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กรมควบคุมโรค ลงควบคุมโรคที่โรงเรียนและติดตามที่บ้านของผู้เสียชีวิตและเด็กป่วยร่วมกับกทม. ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมโรคและจำกัดการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันได้เฝ้าระวังติดตามอาการเด็กในห้องเดียวกันและทั้งโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียน 200 คน เป็นเวลา 15 วัน ขณะนี้พบเด็กป่วยอีก 2 คน รับตัวไว้ดูแลในโรงพยาบาล เบื้องต้นอาการไม่รุนแรงและเก็บอุจจาระส่งตรวจหาชนิดเชื้อไวรัสต่อไป โดยให้โรงเรียนปิดเรียนเป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-12 มกราคม ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อทำลายเชื้อโรค โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก ให้คำแนะนำครูพี่เลี้ยงในการตรวจคัดกรองสุขภาพเด็กนักเรียนซ้ำอีกในวันที่ 13 มกราคมนี้
          "โรคมือ เท้า ปาก ไม่ใช่โรคใหม่ ไม่ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ พบได้ทั่วโลก และพบในไทยได้ตลอดปี ส่วนใหญ่จะพบในช่วงฤดูฝนและหนาว เนื่องจากสภาพอากาศเย็น ทำให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัด ให้เฝ้าระวังโรค รวมทั้งศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ช่วยเฝ้าระวังดูแลความสะอาดของสถานที่ ของเด็กเล่น และให้ครูพี่เลี้ยงช่วยตรวจตราเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการระบาดในกลุ่มเด็กด้วย และหากพบความผิดปกติสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง" นพ.ณรงค์ กล่าว
          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 22 ธันวาคม 2556 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานมีผู้ป่วย 44,594 ราย เสียชีวิต 3 ราย เกือบครึ่งอยู่ในกลุ่มอายุ 1-3 ปี มักเกิดในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็กเนิร์สเซอรี่ เชื้อเอ็นเทอโรไวรัส (enterovirus) ที่พบบ่อยในไทย คือ คอกแซกกี้ เอ (coxsackie virus A) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง และพบเอนเทอโรไวรัส 71  หรืออีวี 71 ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อย คือ ทำให้ก้านสมองอักเสบ ทำให้การทำงานหัวใจผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้รวดเร็วจากอาการหัวใจล้มเหลว
          "กรมควบคุมโรคได้จัดโครงการศูนย์เด็กเล็ก ปลอดโรคที่พบบ่อยในเด็ก ทั้งโรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคมือ เท้า ปากด้วย ในโครงการจะมีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรคแก่ผู้บริหารโรงเรียน ครูพี่เลี้ยง และมาตรการสังเกตอาการป่วยในเบื้องต้น การดูแลความสะอาดสถานที่ต่างๆ ครอบคลุมศูนย์เด็กเล็กประมาณ 2 หมื่นแห่ง ซึ่งจะมีการตรวจเด็กเพื่อสังเกตอาการผิดปกติอย่างต่อเนื่อง" นพ.โสภณ กล่าว
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ความรุนแรงของโรคมือ เท้า ปาก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของโรค โดยเฉพาะอีวี 71 ซึ่งพบว่า มีความรุนแรงมาก แนวโน้มทั่วทั้งภูมิภาคให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยอุบัติการณ์ของโรคจะมีอัตราตาย 1 รายต่อผู้ป่วย 1 หมื่นราย ซึ่งในปี 2556 ประเทศไทยมีผู้ป่วย 45,000 ราย มีอัตราตาย 3 ราย ถือเป็นอัตราที่ยังไม่น่าห่วง ส่วนจากการส่งตรวจเชื้อโดยเฉพาะผู้มีอาการรุนแรง พบสัดส่วนของเชื้อ คือ อีวี 71 ร้อยละ 40 และสายพันธุ์เอ พบร้อยละ 25 ซึ่งในขณะนี้ โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มียารักษา หรือวัคซีน
          การรักษายังต้องรักษาไปตามอาการของโรค เช่น ระบบหัวใจ ระบบประสาท เพิ่มเติมเป็นต้น ดังนั้น หากเด็กมีสัญญาณนอกเหนือจากตุ่มที่มือ เท้า ปาก คือ มีไข้สูง อาเจียน ชัก ควรรีบพบแพทย์เพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
          "ขณะนี้ประเทศจีนกำลังพัฒนาวัคซีน สำหรับโรคมือ เท้า ปาก การทดลองอยู่ในระยะที่ 3 ซึ่งหากสำเร็จก็น่าจะทำให้ความรุนแรงของโรคค่อยๆ ลดลง โดยขณะนี้โรคมือ เท้า ปาก ยังถือว่า เป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน หรือ ไทย พบอัตราการป่วยและเสียชีวิตของเด็กทุกปี ซึ่งยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า เมื่อป่วยแล้วใครบ้างจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ เพราะหลายครั้งพบว่า ในเด็กที่ร่างกายแข็งแรงก็มีความรุนแรงของโรคเกิดขึ้นได้เช่นกัน ฉะนั้น การรักษาสุขลักษณะที่ดี สอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธีจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยได้" นพ.โอภาส กล่าว
          ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อกันได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากตุ่มแผลพุพอง หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อ เชื้อไวรัสจะอยู่ในอุจจาระเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลังติดเชื้อ 3-7 วัน จะมีอาการป่วย คือ มีไข้ มีเม็ดพุพองใสๆ ขึ้นในปาก โดยเฉพาะที่กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก หลังจากนั้น 1-2 วัน ก็จะเริ่มมีแผลในปากทำให้เจ็บ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยและเจ็บคอ และอาจพบผื่นที่ผิวหนังตามมือ เท้า แต่ไม่มีอาการคัน โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาโรคโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองประมาณ 1 สัปดาห์ การรักษาจะเน้นตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวดแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานโรคนี้ ในรายที่มีอาการไข้สูง อาเจียน กระตุก ต้องส่งผู้ป่วยพบแพทย์ทันที เพราะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน

pageview  1205915    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved