HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 06/01/2557 ]
เตือนสาวออร่าใช้ครีมผิวขาวโฆษณาลวงแตกลายงาอื้อ
สธ.เตือนวัยรุ่นนิยมขาวออร่าระวังขาลาย เชื่อผลิตภัณฑ์โฆษณาเกินจริง สุ่มตรวจเจอผสมสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน-ผิวหนัง-ส้นเท้าแตก
          นายประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่าวัยรุ่น นักศึกษาไทย มีค่านิยมอยากมีผิวขาวใส หรือที่เรียกว่าผิวมีออร่า ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต หรือบอกปากต่อปากในกลุ่มเพื่อนและคนใกล้ชิด ทำให้อยากลองใช้ แม้ว่าตัวเองจะมีผิวคล้ำมาตั้งแต่กำเนิดก็ตาม ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน จากการสำรวจท้องตลาดขณะนี้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม เช่น ครีมกระปุก หรือครีมที่ขายเป็นกิโลกรัมและแบ่งขายเป็นกระปุกหรือเป็นขวดที่ไม่มีฉลาก
          นายประพนธ์กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับรายงานที่ จ.เพชรบุรี มีกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี มีอาการแพ้ ผิวหนังมีผื่นคัน และแตกเป็นลายที่บริเวณขา ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง โดยนักเรียนให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ซื้อครีมจากร้านค้าแผงลอยในตลาดนัด รองลงมาคือร้านจำหน่ายเครื่องสำอางที่น่าเชื่อถือ ร้านเสริมสวย ร้านชำทั่วไป สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต และซื้อจากเพื่อนและญาติ โดยกลุ่มวัยรุ่นใช้ครีมดังกล่าวทาผิววันละ 2-3 ครั้ง นาน 6 เดือนถึง 2 ปี ทำให้เกิดอาการที่กล่าวมาข้างต้น
          "สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีจึงได้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม เก็บตัวอย่างครีมทาผิวต่างๆ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารอันตรายต้องห้าม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ผู้จำหน่ายเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายจะมีโทษปรับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นายประพนธ์ กล่าว
          ด้าน น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงครามและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างครีม โลชั่นทาผิว จำนวน 11 ตัวอย่าง ที่วางขายใน จ.เพชรบุรี ประกอบด้วยครีม 4 ประเภท ได้แก่ 1.ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก 2.ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่มีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง 3.ครีมที่มีฉลากภาษาจีน และ 4.ครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก ผลการตรวจวิเคราะห์พบสารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) ในครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 8.0-449.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สูงมาก นอกจากนี้ยังตรวจพบสารคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งจัดเป็นยาในทุกตัวอย่าง และบางตัวอย่างตรวจพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย 2 ชนิด คือ เมทิลพาราเบน (Methylparaben) และโพรพิลพราราเบน (Propylparaben) ด้วย
          น.ส.จารุวรรณ กล่าวต่อว่า สารโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง สารดังกล่าวเป็นยาสเตียรอยด์ ใช้ทาภายนอกร่างกายที่มีความแรงสูงสุด ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์ชนิดรุนแรงปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่น ที่ขา หรือส้นเท้า สารชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกที่ผิวหนัง เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการเดียวกับที่พบในเด็กนักเรียนที่ใช้เครื่องสำอางที่ตรวจพบว่ามีสารชนิดนี้ปลอมปนอยู่
          "สำหรับครีมที่มีฉลากภาษาจีนเป็นยาใช้ภายนอก ข้างกล่องจะมีตัวย่อ โอทีซี (OTC : Over The Counter drug) ปรากฏอยู่ ซึ่งหมายถึงกลุ่มยาที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อใช้ได้เองจากร้านขายยาและร้านค้าทั่วไปในประเทศจีน แต่ยาประเภทครีมที่มีตัวยาดังกล่าวในประเทศไทยจัดเป็นยาอันตราย ต้องซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรแผนปัจจุบันประจำอยู่เท่านั้น" น.ส.จารุวรรณ กล่าว
          น.ส.จารุวรรณกล่าวต่อว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอาง จะต้องไปจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนวางขายในท้องตลาด และหากจดแจ้งแล้วผลิตภัณฑ์นั้นจะได้เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก โดยจะต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งดังกล่าวไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ก่อนตัดสินใจซื้อจากเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือจาก Oryor Smart Application หรือสอบถามได้ที่ อย. โทรศัพท์ 0-2590-7441 หรือ 0-2590-7273-4

pageview  1205823    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved