HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 26/12/2556 ]
หยุดทำร้ายผู้หญิงในบ้าน
 หลายครั้งหลายคราที่เกิดปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและคนในครอบครัว แต่ไม่มีการปกป้องแก้ไขให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายไปได้ด้วยดี นำสู่สถิติการถูกทำร้ายที่ยังมีจำนวนมากตลอดทุกปี จะสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสตรีเหล่านี้ได้อย่างไร นั้นคือโจทย์ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเด็กสตรีหลายหน่วยงานร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือและแก้ไขเสมอมา โดยล่าสุดมีการสรุปสถานการณ์ความรุนแรงพร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขใหม่ๆ ภายในเวทีเสวนาเรื่องผู้หญิงถูกทำร้ายที่ชื่อ "ภรรยา" ภายในห้องประชุมชั้น 7 อาคารสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการ นักกฎหมาย มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและร่วมหาทางออกกันอย่างคับคั่ง เมื่อวันก่อน
          นพ.ชาญวิทย์ พระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การกระทำความรุนแรงต่อสตรี ส่วนใหญ่เป็นการกระทำต่อภรรยาและคนในครอบครัว ซึ่งมีความรุนแรงต่อกันและกันตั้งแต่สมัยอดีตกาล พฤติกรรมความรุนแรงเป็นการเรียนรู้สืบต่อกันมา มีอารมณ์โกรธ ก็เริ่มพูดกระแนะกระแหนให้สะใจ เมื่ออีกฝ่ายชินก็เริ่มใช้คำที่รุนแรงมากขึ้น จนถึงมีการลงไม้ลงมือ พฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความเชื่อที่ตัวเองสามารถควบคุมคนอื่นได้
          "มีการวิจัยในอเมริกา แบ่งผู้ชายที่ก่อความรุนแรงเป็น 3 กลุ่ม 1. ต่อภรรยาและบุตร 2. หาเรื่องวิวาทต่อคนอื่น 3. ทำร้ายทั้งภรรยาและคนนอกบ้าน กลุ่มที่ทำร้ายคู่สมรสมักเป็นพนักงานออฟฟิศ อยากจะกระทำความรุนแรงแต่รู้ว่าถ้าไป้ไปทำกับคนแปลกหน้าจะมีปัญหาตามมา เลยกระทำที่ภรรยาและลูกแทน ด้วยคิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าทั้งกำลังเงินและกำลังกาย ส่วนเด็กมีแนวโน้มที่จะโตมาทำร้ายคนรอบตัว และผู้หญิงถ้าถูกทำร้ายต่อเนื่องจะเกิดความเครียด คิดซ้ำซาก วิตกกังวลรุนแรง ฝันร้าย นอนไม่หลับ เราต้องมองปัญหาให้เข้าใจจัดการแก้ไขแบบบูรณาการ ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ เด็กต้องได้รับการดูแลอย่างดีตั้งแก่เกิด ภรรยาต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน สร้างสังคมครอบครัวคุณภาพ มีความสุขเป็นหลักมั่นคง ใช้กฎหมายมาเป็นเครื่อพึ่งพิงมากขึ้น" นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
          สมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวต่อว่า แท้จริงแล้วการทำร้ายทางจิตใจมีความรุนแรงค่อนข้างมาก การคุกคามขู่เข็น ทำให้ไม่มีเสรีภาพล้วนเป็นการกระทำที่รุนแรงทั้งสิ้น ผู้หญิงจะได้รับการสั่งสอนให้อดทน ครอบครัวต้องประนีประนอม แต่ฝ่ายชายจะไม่โดนปลูกฝังให้อดทนในเรื่องปัญหาครอบครัว ดังนั้นเวลาผู้หญิงลุกมาต่อสู้จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงถ้าภรรยาทำร้ายสามีเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่ผลจะถึงแก่ชีวิต
          "1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายบอกว่ายิ่งตอบโต้ก็จะยิ่งถูกกระทำที่รุนแรงขึ้นอีก เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคน อยากให้มีสถาบันสอนหลักสูตรการเริ่มต้นใช้ชีวิตครอบครัวให้แก่คนที่กำลังจะแต่งงาน ให้เขารับรู้ว่าชีวิตคู่มีอะไรบ้าง จะเจออะไรบ้าง และสำคัญที่ต้องให้การศึกษาเรื่องครอบครัวแก่เด็กตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ได้ในวัยอนุบาล ว่าหญิงชายมีความทัดเทียมกัน ปฏิบัติให้เท่าเทียมกัน" ผอ.กิจการสตรีและครอบครัวแนะแนวทาง
          จิตราภา สุนทรพิพิธ อนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า รายงานธนาคารโลกประมาณการว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือทางเพศ และทุก 15 นาทีทั่วโลกจะมีผู้หญิงถูกข่มขืนกว่า 20 ราย ยูเอ็นวูเมน จัดอับดับในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 36 ที่กระทำความรุนแรงต่อคู่ของตัวเองจาก 75 ประเทศทั่วโลก ส่วนสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการดื่มสุรา เสพยาเสพติด เจ็บป่วย หึงหวง หนี้สิน การเงิน และบริบทต่างๆ ของสังคม ผู้หญิงหลายคนเมื่อเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังก็จะร้องไห้ว่าทำไมตัวเองอ่อนแอ ต้องมาเล่าให้คนอื่นฟัง ขนาดแม่ของตัวเองทนมานานยังไม่เคยเล่าให้ใคร นั้นเกิดจากความยอมทน
          ขณะที่ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริม ความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเมื่อบอกว่าเป็นภรรยาที่ไม่จดทะเบียน หรือเป็นกิ๊ก พอถูกทำร้ายเจ้าหน้าที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือ ความมีอคติเป็นซึ่งให้พนักงานสอบสวนจะไม่เชื่อว่าผู้หญิงถูกทำร้าย หรือผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทำร้ายสามีจนถึงแก่ชีวิตมักจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาก็แย่แล้วดังนั้นเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนช่วยฟังเขาสักนิด ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีทางออก กระบวนการต้องเป็นมิตร เป็นธรรมและเข้าใจ การเป็นสามีภรรยาต้องรู้รัก ให้อภัย รู้จักตัดสินใจ ทำกระบวนการนี้ให้เป็นที่เข้าใจ เริ่มจากโรงเรียนก็ต้องสอนแบบนี้ให้เข้าใจบุคคลเหล่านี้ สังคมต้องปรับเปลี่ยนทัศนะคติ เป็นมิตร เป็นธรรมเข้าใจ ไม่ขับไสไล่ส่งคนเหล่านี้ทั้งคนในสังคมและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องต้องพร้อมช่วยเหลือด้วยความเข้าใจ
          ในฐานะเจ้าหน้าที่ พ.ต.ท.หญิง ปวีณา เอกฉัตรพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ กล่าวว่า ปัจจุบันการถูกทำร้ายร่างกายที่รับเป็นคดีจริงๆ มีน้อย ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงที่ถูกทำร้าย ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่ 4-5 จนทนไม่ไหว ครึ่งหนึ่งอยากจะขอมาปรึกษาเฉยๆ เพราะเขาอายไม่อยากให้ใครรู้ ไม่อยากร้องทุกข์เพราะจะส่งผลกระทบต่อลูกและความเป็นอยู่ ส่วนตัวมองว่าเราไม่สามารถพึ่งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้มาช่วยเหลือได้ ต้องไม่มองเป็นปัญหาส่วนตัวแต่ขยายให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
          ปิดท้ายที่ สาโรช นักเบศร์ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวปัจจุบันมี 18 มาตราที่ครอบคลุม ความจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ไม่เน้นการเอาคนผิดไปลงโทษ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว จึงต้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำไม่ให้โดนทำร้ายอีก และฟื้นฟูสถานภาพครอบครัวให้กลับมาอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขสงบ ไม่รุนแรงอีก หรือถ้ารักษาสถานภาพการสมรสไม่ได้ก็ต้องแยกกันอยู่ด้วยดี และไม่กระทบต่อบุตร ซึ่งจะมีหน่วยงานต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจถึงเจตนารมย์นี้จึงไม่กล้าแจ้งปัญหาของ "ตัวเองจากความไม่รู้ ไม่กล้า ไม่เชื่อมั่นในการช่วยเหลือ เพราะ
          ฝ่ายผู้หญิงก็กลัวจะมีปัญหาอีก จะช่วยเหลือได้จริงหรือไม่ ต้องผลักดันให้ทุกคนเห็นศักยภาพของหน่วยงานเหล่านี้มากขึ้น ปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่ และคนรุ่นใหม่ด้านจิตวิทยาให้เข้าใจการเยี่ยวยาทางจิตใจ เป็นบุคลากรที่ดีในหน่วยงานพร้อมช่วยเหลือสตรีและเด็กต่อไป" อัยการฯ ใให้ความรู้  ทิ้งท้ายด้วยการลบทัศนคติว่าเมื่อถูกทำร้าย ต้องไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงอย่างเดียว ยังมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้บริการเรื่องนี้ โดยเฉพาะ อาทิ หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300, ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและกระทำความรุนแรงในครอบครัว โทร.0-2659-6287, 0-2659-6375 เป็นต้น

pageview  1205892    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved