HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 24/12/2556 ]
'เจ็บจี๊ดที่กลางใจ'ระวัง...กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  เจ็บแน่นหน้าอก บางครั้งก็เจ็บจี๊ดๆ บางครั้งก็เจ็บแน่นตรงกลาง อย่าวางใจเพราะอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจเป็นสัญญาณเตือนจะเป็นโรคหัวใจ  ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ
          อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่คนส่วนใหญ่กังวลนั้น อาจเกิดจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคกระเพาะอาหารหรือบางครั้งอาจเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกก็เป็นได้
          อาการเจ็บหน้าอก
          หากเจ็บแปล๊บๆ จี๊ดๆ อยู่ดีๆ ก็เจ็บ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย อาจเจ็บเวลาที่เราขยับตัว เกิดจากการเคลื่อนไหวผิดท่า ผิดจังหวะ หรือจากความเครียด เป็นอยู่ประมาณ 1-2 อาทิตย์ แล้วอาการก็หายไป
          ถ้าเป็นแบบนี้ เป็นการเจ็บแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกอักเสบ เพราะกล้ามเนื้อถูกยืด ดึง รั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตราย หากเป็นบ่อยๆ อาจทานยาเพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้น
          แต่หากจุดเกิดเหตุอยู่ตรงกลางหน้าอกเจ็บแน่นหน้าอกแล้วร้าวไปที่กราม หลัง ไหล่ซ้าย ต้นแขนซ้าย หรือลงไปถึงลิ้นปี่ แต่ไม่ถึงสะดือ อาการสัมพันธ์กับการออกแรง หรือออกกำลังกาย แบบนี้นี่แหละที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ขาดเลือด
          สาเหตุ
          กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของหลอดเลือด ตามวัย รวมไปถึงมีไขมันในหลอดเลือดสูง ซึ่งไขมันพวกนี้จะเกาะตัวสะสมตามผนังหลอดเลือดยิ่งในคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายจะยิ่งทำให้ไขมันมาเกาะตัวได้มากขึ้น ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเป็นเหตุให้หลอดเลือดอุดตันได้ง่ายยิ่ง ขึ้นด้วย
          ปัจจัยเสี่ยง
          - อายุที่มากขึ้น อวัยวะต่างๆ ถูกใช้มานาน  ย่อมเสื่อมไปตามสภาพ
          - เพศ โดยตามสถิติแล้วผู้ชายมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง
          - เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงรวมไปถึงการสูบบุหรี่
          - พันธุกรรม หากพบว่าในครอบครัวที่มีผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี หรือผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี เป็นโรคหัวใจ เท่ากับเรามีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไป
          เจ็บแค่ไหนต้องมาพบหมอ
          เมื่อพิจารณาตามอาการดังกล่าวแล้ว หากเข้าข่ายหรือสงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรรีบมาพบคุณหมอเพื่อตรวจเช็ก แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือครั้งเดียวก็ตาม เพื่อจะได้รักษาในขณะที่อาการยังไม่มาก เพราะหากปล่อยไว้ จะกลายเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันการรักษาจะยิ่งยากขึ้น และจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง
          หากเกิดภาวะนี้ ต้องนั่งพัก งดกิจกรรม งดการออกแรง หากมียาอมใต้ลิ้นก็ให้อมยา หากนั่งพักประมาณ 10-20 นาทีแล้วยังไม่หาย ควรรีบมาพบคุณหมอทันที
          การวินิจฉัยและการรักษา
          เมื่อคุณหมอซักประวัติและตรวจร่างกายคนไข้แล้ว พบว่ามีลักษณะเข้าได้กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะทำการส่งตรวจ ECG (คลื่นไฟฟ้าหัวใจ)  ร่วมกับการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูเอนไซม์ของกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากในคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีเอนไซม์ตัวหนึ่งหลั่งออกมา เรียกว่า Troponin หากผลออกมาเป็นบวก แสดงว่ามีภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
          การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็น หากเส้นเลือดตีบไม่มาก เจ็บบางครั้งคราว มักจะรักษาโดยการให้ยา และควบคุมการใช้ชีวิตแต่หากมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด และหากเกิดอาการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้เลย ก็จะต้องรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจทันที รับประทานยา ต่อเนื่อง และติดตามอาการเพื่อรักษาต่อไป
          "โรคหัวใจ เป็นโรคที่รักษาแล้วไม่หายขาด อาจจะหายจากตีบตันตรงนี้ แต่ไปตีบตันที่อื่นจึงจำเป็นต้องทานยาไปตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ เพื่อให้อาการดีขึ้น และใช้ชีวิตได้ตามปกติ เราจึงควรป้องกันโดยการดูแลสุขภาพให้ดี นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ หากใครที่มีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ก็จะต้องควบคุมให้ดี เมื่ออายุ 40 ปี ขึ้นไปควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการที่น่าสงสัยให้รีบมาพบหมอทันที"
          อาการเจ็บแน่นหน้าอก 3 ลักษณะที่พึงสังเกต
          1. เจ็บแน่นหน้าอกตรงกลางเหมือนมีอะไรมาทับ ร้าวไปที่กราม แขน ไหล่ หรือลิ้นปี่
          2. เจ็บแน่นหน้าอกที่สัมพันธ์กับการออกแรง หรือออกกำลังกาย
          3. อาการเจ็บแน่นหน้าอกดีขึ้นเมื่อนั่งพัก หรือเมื่ออมยาใต้ลิ้น
          หากมีอาการครบทั้ง 3 ข้อ มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดค่อนข้างชัดเจน แพทย์จะส่งตรวจเพื่อทำการรักษาต่อไป แต่ถ้ามีไม่ครบ ควรมาตรวจคัดกรอง โดยการวิ่งสายพาน เพื่อให้แน่ใจว่ามีปัญหาโรคหัวใจหรือไม่
          นายแพทย์ธนัญชัย ธนสัมฤทธิ์
          อายุรแพทย์ โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

pageview  1205891    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved