HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 29/11/2556 ]
ปัญหาผิวหนังกวนใจ ในคนไข้เบาหวาน
  โรงพยาบาลสมิติเวช
 
          ร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์กว่า 100 ล้านล้านเซลล์แต่ละเซลล์มีรูปร่างและการทำงานต่างกันไปกว่า 230 ประเภท เซลล์เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยง สื่อสาร ติดต่อกันตลอดเวลา โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์หนึ่ง ย่อมส่งต่อความผิดปกติไปยังเซลล์อื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เบาหวานก็เช่นกัน ในผู้ป่วยโรคเบาหวานมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายเซลล์ของร่างกาย ไม่เพียงแต่เฉพาะในเซลล์ตับอ่อนแต่ยังรวมถึงเซลล์ส่วนนอกที่ใกล้ตัวอย่างเซลล์ผิวหนังด้วยปัญหาผิวหนังกวนใจในผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจแบ่งได้เป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ดังนี้
          กลุ่มแรก คือปัญหาแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอย่างฝี รูขุมขนอักเสบ แผลติดเชื้อเป็นหนอง และเชื้อราโดยเฉพาะเชื้อแคนดิด้า (Candida albicans) ซึ่งมักเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น ส่งผลให้เกิดผื่นแดง ลอก แสบคัน บริเวณซอกหลืบต่างๆ เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ เป็นต้น การป้องกันปัญหาติดเชื้อต่างๆ นี้ สามารถทำได้โดยให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด โดยเฉพาะการทำความสะอาดบริเวณซอกหลืบในร่างกายที่อับชื้นง่าย และเช็ดให้แห้งสนิททุกครั้ง ในคนไข้โรคเบาหวาน หากมีผื่นแดง แผล หรือความผิดปกติของผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะเมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้นแล้ว จะลุกลามได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
          กลุ่มที่สอง คือปัญหาผิวหนังที่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงบริเวณผิวหนังไม่ดี มักเกิดบริเวณขาช่วงล่าง ข้อเท้า ส่งผลให้ผิวแห้งคันมากกว่าปกติ บางครั้งอาจเกิดเป็นแผลบริเวณข้อเท้า การดูแลเบื้องต้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าหรือถุงเท้าที่คับแน่นเกินไป ทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่คัน อาจเลือกโลชั่นที่มีส่วนประกอบของยูเรีย (Urea) เพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและคันลดลงหากมีผื่นหรือแผล หรือมีอาการปวดขาเมื่อต้องเดินต่อเนื่อง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
          กลุ่มที่สาม เป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน มีส่วนมาจากภาวะดื้ออินซูลินของตัวโรคเอง พบได้หลายลักษณะแต่ที่พบได้บ่อยคือคราบสีดำน้ำตาลบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ มีชื่อทางการแพทย์ยาวๆ ว่า Acanthosisnigricans การลดน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี จะช่วยให้รอยดำนี้แลดูจางลงได้
          นอกจากปัญหาผิวหนังกวนใจทั้งสามกลุ่มแล้ว ยังมีกลุ่มโรคผิวหนังอื่นๆ อีกมากที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่หลักการพื้นฐานคือ รีบไปพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น และดูแลพื้นฐานเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้
          - หมั่นดูแลทำความสะอาดร่างกาย โดยใช้สบู่อ่อนๆ ทำความสะอาด แต่ไม่จำเป็นต้องสครับด้วยแปรงหรือหินขัดผิว
          - อย่าให้บริเวณข้อพับ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ อับชื้น พยายามเช็ดให้แห้ง อาจโรยแป้งบางๆ เพื่อดูดซับความชื้น
          - อย่าอาบน้ำร้อนจัด และอย่าอาบนานเกินไป หมั่นทาโลชั่นหลังอาบน้ำทันทีเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น จะช่วยลดอาการแห้งคันของผิว
          - ถ้ามีบาดแผลตื้นๆ อาจทำแผลด้วยตนเองโดยใช้น้ำเกลือและปิดแผลให้สะอาด ถ้าบาดแผลลึก ควรรีบไปพบแพทย์
          - ถ้ามีผื่นคัน พยายามอย่าเกา การเกาจะยิ่งทำให้อาการเป็นมากและรักษายากขึ้น
          - เลี่ยงการเดินเท้าเปล่า พยายามเลือกรองเท้าที่ปิดปลายนิ้ว พื้นนุ่ม พอดีเท้า
          - หมั่นสำรวจแผล ผื่น หรือสิ่งแปลกปลอมบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะที่เท้า
          โรคเบาหวานรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถดูแลให้ดี เพื่อที่จะอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสุขได้ ปัญหาผิวหนังที่เกิดจากโรคเบาหวานก็เช่นกัน หากรู้จักที่จะดูแลอย่างถูกวิธี ก็จะไม่มีโรคผิวหนังมากวนแทรกซ้อนให้หงุดหงิดใจได้

pageview  1205838    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved