HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 28/11/2556 ]
"หูเด็ก"ทนนกหวีด..แค่ไหน?
การระดมมวลชนมหาศาลของการชุมนุมที่ราชดำเนินและการชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานนั้น ไม่ได้มีเพียงผู้ใหญ่เท่านั้น แต่มีเด็กอ่อนและเด็กเล็กจำนวนหนึ่งถูกพาเข้าร่วมด้วย จากการสอบถามสาเหตุที่ต้องนำเด็กๆ มาร่วมชุมนุมด้วยนั้น สามารถสรุปคำตอบได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กแล้วไม่สามารถฝากเลี้ยงไว้กับคนอื่นได้ 2.กลุ่มที่มาเป็นครอบครัวใหญ่ทั้งพ่อแม่พี่น้องญาติๆ ทำให้ต้องพาเด็กมาด้วยกัน และ 3.กลุ่มที่ตั้งใจอยากให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
          อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การชุมนุมสมัยปัจจุบันไม่ได้ไปแค่ฟังคำกล่าวปราศรัยบนเวทีเท่านั้น แต่ผู้เข้าร่วมจะเตรียมอุปกรณ์ส่งเสียงเชียร์ตอบโต้ด้วย เช่น เป่านกหวีด มือตบ ตีนตบ เป่าแตร ฯลฯ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่า เสียงดังเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อเด็กๆ หรือไม่ โดยเฉพาะเด็กที่ต้องอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมนานหลายชั่วโมงหรือค้างคืนนานหลายวัน
          "ศ.พญ.สุจิตรา ประสานสุข" ผู้อำนวยการศูนย์การได้ยิน การพูด การทรงตัว เสียงในหู โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วหูของเด็กเล็กและเด็กโตนั้นจะมีความแข็งแรงมากกว่าของผู้ใหญ่ สามารถทนรับเสียงดังได้นาน เพราะอวัยวะต่างๆ ในหูยังไม่เสื่อม ด้วยเหตุนี้ เด็กๆ จึงรู้สึกสนุกในสถานเที่ยวเล่นที่มีเสียงดัง เช่น สวนสนุก สนามเด็กเล่น ห้องเกม หรือแม้แต่เด็กวัยรุ่นจะชอบฟังดนตรี เที่ยวดิสโก้เธค ดูคอนเสิร์ตเสียงดังๆ โดยไม่รู้สึกว่าปวดหูหรือแสบแก้วหู ขณะที่ผู้ใหญ่เข้าไปในสถานที่แบบนั้นได้ไม่นาน ต้องรีบออกมาเพราะรู้สึกเสียงดังจนหูทนไม่ไหว
          "แต่อยากให้ระวังคือเสียงนกหวีด เพราะเป็นเสียงหวีดแหลม คนเป่ามักไม่ค่อยรู้สึก แต่คนยืนติดกันหรืออยู่ใกล้มากๆ จะทรมาน ตอนที่เด็กๆ ได้ยินหรือเป่านกหวีดช่วงแรกอาจจะรู้สึกสนุกสนาน แต่ถ้าต่อเนื่องหลายชั่วโมง เด็กอาจไม่รู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในหู อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ถ้าได้ยินเสียงนกหวีดหรือเสียงดังแหลมมากๆ ต่อเนื่องจะทำอันตรายต่อหูชั้นในอย่างแน่นอน สังเกตง่ายๆ ว่า ตอนออกมาหรือกลับบ้านไปอยู่ในห้องเงียบๆ แล้ว ยังมีเสียงดังวี้ดๆๆๆ อยู่ในหูหรือเปล่า"
          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวแนะนำต่อว่า หากผู้เข้าร่วมชุมนุมสังเกตอาการผิดปกติข้างต้นได้ แสดงว่าเริ่มมีอาการของปลายประสาทหูชั้นในเสื่อมชั่วคราว ให้รอดูอาการต่อไปอีกประมาณ 2 อาทิตย์ หากเสียงดังวี้ดๆ ยังไม่หายไป ควรรีบไปพบแพทย์เพราะแสดงว่าหูเริ่มผิดปกติแล้ว อาจกลายเป็นเสื่อมถาวรได้ ถ้าไม่รีบรักษาให้ถูกต้อง ส่วนเด็กเล็กนั้น ผู้ปกครองต้องหมั่นซักถามหลังกลับมาจากเวทีชุมนุมว่ามีอาการได้ยินผิดปกติหรือไม่ พร้อมแนะนำให้ผู้ปกครองเตรียมที่อุดหูหรือสำลีสะอาดไว้อุดรูหูเด็ก หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เสียงดังนานๆ
          สำหรับอัตราความดังของเสียงนั้น ศ.พญ.สุจิตรา อธิบายว่า หูมนุษย์ทนฟังเสียงดังได้ไม่เกิน 100 เดซิเบล ถ้าเป็นโรงงานที่มีเสียงดังมากๆ ต้องไม่เกิน 85 เดซิเบลและอนุญาตให้คนงานทำงานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากดังถึง 90 เดซิเบลจะทำงานได้เพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น หากเป็นไปได้ ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมควรมีอุปกรณ์ป้องกันหูไม่ให้ฟังเสียงดังต่อเนื่องนานเกินไป
          ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษระบุว่า เสียงดังจากนกหวีดเป็นเสียงก่อ ให้เกิดอันตรายต่อหูได้ง่าย เนื่องจากมีความดังถึง 120 เดซิเบล ขณะที่มาตรฐานระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมกำหนดให้เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน70เดซิเบลและระดับเสียงดังสูงสุดที่ได้ยินต้องไม่เกิน 115 เดซิเบล ดังนั้น ผู้มีอาชีพที่ต้องเป่านกหวีด เช่น ตำรวจจราจร จึงมักมีอาการหูตึงก่อนวัยอันควร
          นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวแนะนำว่า ผู้ปกครองไม่ควรพาเด็กเล็กไปร่วมชุมนุม เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กได้ อาจฝังลึกในจิตใจเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากคำกล่าวปราศรัยหรือคำพูดคุยของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ส่วนใหญ่เป็นคำพูดรุนแรง ปลุกเร้าอารมณ์เกลียดชัง ทำให้ฮึกเหิม ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดที่ใช้มักแสดงความเกลียดชังกลุ่มอื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกับตัวเอง หรืออาจมีคำ หยาบคายด้วย
          "เด็กควรถูกปลูกฝังเรื่องความดีงาม วิธีกล่าวเตือนหรือสอนเด็กไม่ให้ทุจริต ไม่โกงชาติบ้านเมือง หรือทำเรื่องไม่ดี ควรเป็นแบบ กลางๆ ไม่ควรยกตัวอย่างชื่อคนเดิมซ้ำไปซ้ำมา เพราะจะปลูกฝังความเกลียดชังให้เด็ก ไม่อยากให้เอาอคติของผู้ใหญ่ใส่ไปในความคิดเด็ก ไม่ว่าฝ่ายไหนหรือสีไหนก็ตาม นั่นคือการเพาะเมล็ดพันธุ์ในตัวเด็ก ในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเติบโตขึ้นมาในจิตใจเด็กอย่างไร เวทีการ เมืองไม่ใช่สนามเด็กเล่น พวกเด็กเล็กไม่สนุกกับกิจกรรมแบบผู้ใหญ่ หากเป็นไปได้ควรหากิจกรรมที่เหมาะสมให้เด็กจะดีกว่า" นพ.ดุสิต กล่าวเตือนทิ้งท้าย

pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved