HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 28/02/2555 ]
ฮูสกัด"ไวรัสหวัดนก"...ผลิตอาวุธเชื้อโรค
          ฮูสกัด"ไวรัสหวัดนก"...ผลิตอาวุธเชื้อโรค : ทีมข่าวรายงานพิเศษรายงาน
          "ผมนึกไม่ออกว่ามีเชื้อโรคตัวไหนน่ากลัวเท่านี้มาก่อน แอนแทรกซ์ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลยเมื่อเทียบกับมัน"   พอล เคียม (Paul Keim) ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อโรค กล่าวในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก(ฮู) เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ด้านไข้หวัดนกกลุ่มหนึ่งต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ค้นพบรายละเอียดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกซึ่งทำให้ติดต่อจากนกมาสู่มนุษย์ได้ แต่ถูกคัดค้านโดย "เอ็นเอสเอบีบี" หรือคณะที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทางชีวภาพแห่งชาติของสหรัฐ (NSABB) เนื่องจากกลัวว่า กลุ่มก่อการร้ายจะนำไปดัดแปลงผลิตเป็น “อาวุธเชื้อโรค”
          งานวิจัยเสี่ยงอันตรายข้างต้นนั้น ไม่ได้มีแค่เพียงชิ้นเดียว แต่มีห้องทดลองทำสำเร็จพร้อมกัน 2 คนคือ นายรอน โฟวเชียร์ (Ron Fouchier) จากศูนย์การแพทย์เอราสมุส ประเทศเนเธอร์แลนด์ และนายโยชิฮิโระ คาวาโอกะ (Yoshihiro Kawaoka) จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ขณะนี้ผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงหลายแห่งร่วมมือกันต่อต้านการเผยแพร่งานวิจัยของทั้ง 2 คน เพราะกลัวว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายจะนำข้อมูลไปดัดแปลงทำเป็นอาวุธชีวภาพร้ายแรงจากเชื้อไข้หวัดนก เชื้อตัวนี้หากเข้าไปในร่างกายมนุษย์แล้ว จะทำให้ตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงและยังไม่มีวัคซีนป้องกันด้วย
          งานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นแสดงวิธีการอย่างละเอียดเพื่ออธิบายให้รู้ว่าทำไมไข้หวัดนก "สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1" (H5N1) ที่ระบาดในสัตว์ปีกมานานถึงได้แพร่กระจายข้ามสปีชี่ส์มายังมนุษย์ มียีนตัวไหนทำให้เกิดมิวเตชั่นหรือผ่าเหล่ากลายพันธุ์
          ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาและวัคซีน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ถูกห้ามเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยระดับโลก เหตุเกิดจากหลายปีที่ผ่านมามีนักวิจัยหลายกลุ่มพยายามทำการทดลองเพื่ออธิบายปรากฏการณ์แพร่กระจายของเชื้อเอช 5 เอ็น 1 แต่ยังไม่สำเร็จเพราะต้องทดลองจากยีนจำนวนหลายพันตำแหน่ง จนกระทั่งมี 2 สถาบันทำสำเร็จ โดยทดลองในตัวเฟอร์เรตหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายพังพอน ถือเป็นผลงานวิจัยสำคัญมาก ทำให้แกะรอยได้ถึงความเป็นมาของการแพร่กระจายเชื้อโรคชนิดนี้
          เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการนำไปทำอาวุธเชื้อโรคนั้น ดร.อนันต์ยอมรับว่า หากมีการเผยแพร่รายละเอียดของนักวิทยาศาสตร์ข้างต้นจริง ห้องทดลองระดับมาตรฐานหลายแห่งทั่วโลกสามารถนำไปดัดแปลงสร้างไวรัสไข้หวัดนกเชื้อรุนแรงทำให้ติดต่อจากคนสู่คนได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้ก่อการร้ายจะมีเครือข่ายกับห้องแล็บมากขนาดไหน อย่างเช่นประเทศไทยมีห้องแล็บหลายแห่งก็จริง แต่สามารถผลิตไวรัสไข้หวัดนกได้มีเพียงไม่ถึง 5 แห่งเท่านั้น
          “ถือว่าเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์มาก เพราะทำให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงยีนตรงไหน ทำให้ เอช 5 เอ็น 1 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ หากไวรัสดังกล่าวเกิดขึ้นโดยธรรมชาติอีกครั้ง เราสามารถเตรียมการไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าไม่มีการเตรียมการ อาจทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่รุนแรง เหมือนตอนหวัดใหญ่สเปนปี ค.ศ.1918 ได้ ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ควรปิดกั้นงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะเมื่อเผยแพร่ออกไปจะทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกนำไปต่อยอดความรู้ได้ สามารถผลิตวัคซีนป้องกันไว้ได้ด้วย แต่ถ้าปิดบังเป็นความลับหากกลุ่มผู้ก่อการร้ายเพียงไม่กี่กลุ่มได้ความลับเรื่องนี้ไป แล้วเอาไปผลิตอาวุธเชื้อโรคจริง พวกเราจะไม่สามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาป้องกันได้ทัน” ดร.อนันต์ แสดงความเห็น
          ทั้งนี้ "อาวุธเชื้อโรค" หรือ "อาวุธชีวภาพ" (Biological Weapon) คือ การนำเชื้อโรคหรือเชื้อจุลินทรีย์ชนิดร้ายแรง มาใส่หรือผสมลงในอาวุธประเภทต่างๆ เช่น หัวกระสุนปืน หัวจรวด ฯลฯ เป้าหมายคือยิงไปยังพื้นที่ของศัตรูแล้วปล่อยให้เชื้อโรคกระจายออกไปเป็นวงกว้างมากที่สุด ในอดีตมีการนำสัตว์เลี้ยงที่ติดโรคร้ายแรงไปปล่อยปะปนไว้ในหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อให้สัตว์แพร่กระจายเชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงตัวอื่นก่อนแพร่ติดไปยังมนุษย์
          ผศ.ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล แสดงความเห็นเรื่องการเผยแพร่งานวิจัยเจ้าปัญหาข้างต้นว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการห้ามนักวิทยาศาสตร์เผยแพร่งานวิจัยมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกที่โดนแทรกแซง ซึ่งในอีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้าจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะยอมให้เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์หรือไม่ แต่ถ้าไม่ยอม นักวิจัยคงมีหนทางเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หรือเครือข่ายออนไลน์อื่นๆ
          ผศ.ดร.สมชาย กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกกังวลกับเรื่องนี้พอสมควร เพราะหากมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปดัดแปลงเป็นอาวุธเชื้อโรคจริง จะสร้างปัญหาวุ่นวายมาก แต่ก่อนจะทำการดัดแปลงเชื้อไข้หวัดนกเป็นอาวุธเชื้อโรคแล้วแพร่ระบาดออกไปนั้น กลุ่มก่อการร้ายจะต้องทำวัคซีนป้องกันให้สำเร็จ เพราะไม่เช่นนั้นเชื้อก็จะแพร่กลับมาโดนกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอาวุธร้ายตัวนี้ก่อนคนอื่น
          "อาวุธเชื้อโรค" ในประวัติศาสตร์
          เชื้อแอนแทรกซ์ (anthrax) : สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกนำมาผลิตเป็นอาวุธเชื้อโรค ด้วยวิธีผลิตเป็นหัวรบของอาวุธ หรือใช้เครื่องบินฉีดพ่น มีบันทึกว่าญี่ปุ่นเคยใช้เชื้อแอนแทรกซ์กับประเทศจีน ผู้ใดหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงชนิดนี้เข้าร่างกาย จะเกิดอาการเลือดออกทางปาก จมูก ทวาร หากรักษาไม่ทันจะเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วัน
          เชื้อคลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์ (Clostridium perfringens) : เป็นแบคทีเรียทำให้อาหารเน่าเสีย หากติดไปยังบาดแผลตามร่างกาย จะทำให้แผลบวมและเนื้อเน่าตาย เมื่อปี พ.ศ.2539 องค์การสหประชาชาติตรวจพบเชื้อนี้ในประเทศอิรักระหว่างเข้าทำลายแหล่งอาวุธชีวภาพเมืองอัลฮากัม ใกล้กรุงแบกแดด
          เชื้อพิษไรซิน (Ricin) : สกัดจากเมล็ดละหุ่งผลิตเป็นยาปราบศัตรูพืช สารไรซินจะยับยั้งการผลิตโปรตีนของเซลล์ในร่างกาย ผู้ที่ได้รับพิษนี้จะเสียชีวิต เพราะร่างกายสร้างโปรตีนไม่ได้ และไม่มีวิธีรักษา ในอังกฤษมีบันทึกคดีฆาตกรรมที่เหยื่อถูกแทงตายด้วยปลายร่มเคลือบสารไรซิน
          .............
          (หมายเหตุ : ฮูสกัด"ไวรัสหวัดนก"...ผลิตอาวุธเชื้อโรค : ทีมข่าวรายงานพิเศษรายงาน)

pageview  1205133    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved