HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 14/10/2556 ]
ตัดขาดแปดริ้ว!น้ำรอบทิศทะลักท่วมไม่หยุดบุรีรัมย์วิกฤติ-เหนือยะเยือก

 

  ฉะเชิงเทราวิกฤตน้ำรอบทิศบ่าท่วมทุกพื้นที่ เส้นทางทุกแห่งถูกตัดขาดสิ้นเชิง บุรีรัมย์ยังระทมจมมิด 22 อำเภอ  ขอนแก่นน้ำป่าซัดจม 6 อำเภอ ชาวอรัญฯ สุดปลื้ม "พระองค์โสม" ทรงปรุงอาหารประทานด้านลำปาง-เชียงใหม่อากาศเริ่มหนาวเย็น
          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แม้หลายพื้นที่จะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีหลายจังหวัดที่ภาวะน้ำท่วมยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ขณะเดียวกันในส่วนของภาคเหนือพบว่าบางจังหวัดเริ่มมีอากาศหนาวเย็นแล้วเช่นกัน 
          น้ำรอบทิศยังไหลบ่าท่วมแปดริ้ว
          เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ยังคงน่าห่วง ล่าสุดพบว่ามวลน้ำจากทุกทิศยังบ่าเข้าท่วมอย่างหนัก โดยเฉพาะระดับน้ำในเขตพื้นที่ อ.ราชสาส์น อ.บางคล้า เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมอีกวันละ 10 ซม. ทำให้เส้นทางการสัญจรในพื้นที่ถูกตัดขาดหมดสิ้น รถยนต์ขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ไม่สามารถขับผ่านพื้นที่ได้ โดยเฉพาะเส้นทางสายบางคล้า-หัวไทร และเส้นทางสายพนมสารคาม-บ้านสร้าง รวมถึงเส้นทางสัญจรในหมู่บ้านไม่สามารถใช้ยานพาหนะขับผ่านไปได้เช่นเดียวกัน
          นายอำนาจ ประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากทางการอย่างมาก และสิ่งของอาทิ กระสอบทรายที่จะนำมาใช้ป้องกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมสู่ตัวบ้าน ขณะที่งบประมาณให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติที่จังหวัดจัดให้อำเภอละ 5 แสนบาท ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ประโยชน์
          ขณะเดียวกัน ที่ ต.บางขนาก ต.บางโรง อ.บางน้ำเปรียว ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ฝั่งซ้ายติดแนวริมฝั่งแม่น้ำบางประกงพบว่าขณะนีมีระดับน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมสูง โดยสาเหตุเกิดจากการระบายน้ำจาก จ.ปราจีนบุรี ที่ อ.บ้านสร้าง ก่อนลงสู่แม่น้ำบางปะกง โดยระดับน้ำเข้าท่วมพื้นที่พักอาศัยของชาวบ้านในระดับสูง และกำลังเพิ่มสูงขึ้นจ่อระดับผิดถนนทางหลวงชนบทริมคลองชลประทานตั้งแต่สามแยกบางขนาก ต.คลองเขื่อน อ.คลองเขื่อนขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งทำแนวกั้นน้ำตลอดเส้นทาง เพื่อป้องกันน้ำท่วมสูงทะลักข้ามแนวถนนเข้าท่วมพื้นที่ฝั่งขวาของ อ.เมือง ซึ่งเป็นแปลงนาข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวจำนวนมาก
          บุรีรัมย์วิกฤติกระทบ 1,018 หมู่บ้าน
          ที่ จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 22 อำเภอ จากทั้งหมด 23 อำเภอ จำนวน 114 ตำบล 1,018 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจำนวน 258,597 คน จากจำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 59,281 ครัวเรือน และมีบ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลังอีก 2 หลังคาเรือน ขณะเดียวกันยังมีสถานที่ราชการถูกน้ำท่วมอีก 3 แห่ง วัด 26 แห่ง โรงเรียน 4 แห่ง สะพาน 3 แห่ง ฝายกั้นน้ำ 8 แห่ง และถนนอีกจำนวน 268 สาย ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ขณะที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้วจำนวน 300 คน ในพื้นที่ อ.โนนดินแดง กับ อ.นางรอง เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านเรือนได้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ทางการเกษตรอื่นที่ได้รับความเสียหายอีก โดยแบ่งเป็นพืชไร่จำนวน 48,495 ไร่ นาข้าว 189,808 ไร่
          22 อำเภอประกาศภัยพิบัติฉุกเฉิน
          นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ได้ประกาศให้ในพื้นที่ 22 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากอุทกภัยแล้ว พร้อมช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยไปแล้วจำนวน 14,780 ชุด และฟางอัดฟ่อนสำหรับโค-กระบืออีกจำนวน 400 ก้อน ส่วนปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อยู่ติดและใกล้กับแหล่งน้ำ คือลำนางรอง ลำมาศ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า มีการปลูกสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่สาธารณะยื่นเข้าไปในลำน้ำ รวมถึงการถมที่ขวางทางน้ำ
          อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางบุรีรัมย์ได้เร่งดำเนินการขุดลอกวัชพืชต่างๆ ที่ขึ้นกีดขวางในแหล่งน้ำและลำห้วย เพื่อให้การระบายน้ำได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงได้ประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำจากสำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 8 เครื่อง เพื่อเข้ามาทำการผลักดัน และระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูล ในเขตพื้นที่ อ.สตึก กับ อ.แคนดง
          ขอนแก่นเฝ้าระวังน้ำล้นเข้า 6 อำเภอ
          ที่ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า น้ำท่วมจากการเอ่อล้นของลำน้ำชี ซึ่งมีอยู่ 6 อำเภอ ได้แก่ แวงน้อย แวงใหญ่ มัญจาคีรี โคกโพธิ์ไชย ชนบท และบ้านไผ่ พื้นที่นาข้าวเสียหายกว่า 4 หมื่นไร่ พืชไร่เสียหายหมื่นกว่าไร่ ขณะนี้ต้นน้ำมวลใหญ่ไหลเข้าพื้นที่ อ.บ้านไผ่แล้วโดยจะไปที่ อ.บ้านแฮด และอ.เมืองในช่วงสัปดาห์หน้า
          นายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าฯขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ เริ่มสูงขึ้นเช่นกัน ต้องเฝ้าระวังป้องกันเหตุน้ำป่าไหลหลากตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เมือง อ.พระยืน อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด อ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ อ.ชนบท อ.มัญจาคีรี ทั้งยังฝากเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวพยากรณ์อย่างใกล้ชิด และจังหวัดสั่งการให้พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะหมู่บ้านติดริมน้ำชี แจ้งข้อมูล ปภ.ขอนแก่น โทร.0-4333-1358,0-4323-7283
          สระแก้วระดับน้ำเริ่มสู่ภาวะปกติ
          เช่นเดียวกับที่ จ.สระแก้ว นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สระแก้ว ขณะนี้ทางจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวม 9 อำเภอ 56 ตำบล 593 หมู่บ้าน 6,501 ครัวเรือน 2,992 คน (เสียชีวิต 1 คน) ถนนเสียหาย 540 สาย สะพาน 10 แห่ง ทำนบ 4 แห่ง ฝาย 6 แห่ง วัด 3 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง สถานีอนามัย 1 แห่ง ท่อระบายน้ำ 15 แห่ง บล็อกคอนเวอร์ 1 แห่ง บ่อปลา 384 บ่อ และพื้นที่ทางการเกษตร 38,298 ไร่
          "ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 อำเภอ 3 ตำบล อ.อรัญประเทศยังมีสถานการณ์อุทกภัย 1 ตำบล ได้แก่ ต.ท่าข้าม ระดับน้ำ 20-50 ซม. ยังท่วมชุมชนบริเวณริมคลองพรหมโหด ถนนช่วงบ้านท่าข้าม-บ้านหนองเอี่ยน และคอสะพานโคกสะแบงชำรุด ปัจจุบันแขวงการทางสระแก้วปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวแล้ว ส่วน อ.เมือง 2 ตำบล ได้แก่ ต.โคกปี่ฆ้อง ระดับน้ำ 5-10 ซม. และต.บ้านแก้ง ระดับน้ำ 40-50 ซม. ยังท่วมชุมชนบริเวณริมคลองพระปรง ส่วนอำเภออื่นๆ ยังคงเหลือเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่การเกษตรเท่านั้น" ผู้ว่าฯ สระแก้ว กล่าว
          เร่งซ่อมสะพานช่วย7หมู่บ้าน
          ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังจากฝนหยุดตกมาหลายวัน ล่าสุดน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในคลองพรหมโหดที่ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ในตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศอย่างหนักมากว่า 8 วัน ลดระดับลงจนใกล้ปกติ ถนนภายในตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศรถยนต์ทุกชนิดสามารถวิ่งผ่านไป-มาได้หมดทุกสาย เหลือเพียงบางจุดที่อยู่ติดคลองพรหมโหดอาจยังมีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20 ซม. ทำให้ในช่วงเช้าร้านค้าต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศเริ่มเปิดทำการค้าตามปกติ
          ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมใน 7 หมู่บ้านชายแดน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ พบว่า หลังจากน้ำในคลองพรหมโหดพัดคอสะพานวังชโด หมู่ 1 ต.ท่าข้าม พังเสียหายรถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถข้ามสะพานได้ ทำให้ 7 หมู่บ้านชายแดน ต.ท่าข้าม ถูกตัดขาด เจ้าหน้าที่ทหารพราน และ ตำรวจ สภ.คลองลึก ต้องนำเรือท้องแบนไปช่วยรับส่งประชาชนเข้าออกหมู่บ้านมากว่า 8 วันแล้ว ขณะเดียวกันกรมทางหลวงได้เข้าไปซ่อมแซมบริเวณคอสะพานวังชโดให้สามารถใช้การได้ชั่วคราว 
          พระองค์โสมทรงปรุงอาหารแก่คนอรัญฯ
          เวลา 13.00 น. ผู้ประสบภัยน้ำท่วมชาวตลาดเทศบาลเมืองอรัญประเทศ และ ชาว ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ต่างปลื้มปีติที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงมอบถุงยังชีพพระราชทานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 5,300 ชุด โดยประทานแก่ผู้ประสบภัยเขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จำนวน 3,100 ชุด ชาว ต.ฟากห้วย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อีก 900 ชุด และชาว ต.ท่าข้าม จำนวน 1,300 ชุด ณ บริเวณสะพานวังชโด
          โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงประกอบอาหารบนรถประกอบอาหารมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ประทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่มารอรับเสด็จที่จุดประทับ บริเวณสะพานวังชโด หมู่ 1 ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สร้างความปลาบปลื้มแก่ราษฎรผู้ประสบภัยชาวอรัญประเทศเป็นล้นพ้น
          อยุธยาน้ำลด-7อำเภอยังอ่วมจม1-2ม.
          ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนจากทางเหนือหมดแล้ว ทำให้น้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้อย ทางกรมชลประทานจึงจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จึงลดการระบายน้ำลง ทำให้ระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์ที่ไหลไปรังสิตลดลง แม่น้ำป่าสักลดลง 10-15 ซม. แต่น้ำยังท่วมขังตลาดท่าเรือ บริเวณริมถนนสูง 1 เมตร แม่น้ำน้อย จ.ลพบุรี ลดลง 10 ซม. และแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง 10 ซม. ส่งผลให้คลองสาขา เช่น คลองบางบาล คลองบางหลวง ลดลง อย่างไรก็ตามน้ำยังท่วมสูงกว่าตลิ่ง 1-2 เมตร ใน 7 อำเภอ คือ อ.ท่าเรือ อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.พระนครศรีอยุธยา
          อ่างทองน้ำลดชาวบ้านโล่ง
          ที่ จ.อ่างทอง สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง ลดระดับลงอีก 15 ซม. ส่งผลให้พื้นที่ประสบอุทกภัยทั้ง 3 อำเภอ สถานการณ์ดีขึ้น บางพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัยเตรียมการฟื้นฟูบูรณะถนน และสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหาย ส่วนประชาชนเร่งกวาดล้างคราบโคลนเลน และทำความสะอาดบ้านส่วนที่พ้นน้ำแล้ว
          นายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา ปภ.อ่างทอง เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ จากการสำรวจพบว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3 อำเภอ 20 ตำบล 78 หมู่บ้าน 1,620 ครัวเรือน 5,438 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 22,453 ไร่
          ระยองเร่งทำความสะอาดน้ำลด
          ที่ จ.ระยอง มีรายงานว่า พนักงานจากองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น พร้อมกำลังทหารเรือรวมกว่า 500 คน กระจายเข้าฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกนน้ำท่วม ได้แก่ เขตเทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลเนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง โดยเจ้าหน้าที่กระจายทำภารกิจล้างพื้นถนนให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพราะก่อนหน้านี้เกิดฝนตกในจ.ระยอง และลำคลองสาขาเอ่อท่วมบ้านเรือนในเขตเทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลเนินพระ เทศบาลตำบลเชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง ระดับน้ำสูงสุด 1.20 เมตร  ประชาชนถูกน้ำท่วม 3,600 หลังคาเรือน เดือดร้อนกว่า 1 หมื่นคน
          สธ.เผยผู้เจ็บป่วยรวม 9 หมื่นราย
          ที่ จ.สระแก้ว เมื่อเวลา 13.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศ และ ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข นพ.สมยศ ศรีจารนัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พญ.สมบัติ ชุติมานุกูง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เฝ้ารับเสด็จ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการตรวจรักษาและตรวจคัดกรองดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัย จำนวน 2 ทีม ที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศและที่ตำบลท่าข้ามด้วย
          นายสรวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 26 จังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้การดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ไม่มีวันหยุด และแจกยาชุดน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วยเล็กๆ น้อย เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ ปวดศีรษะ ไปแล้วกว่า 3 แสนครัวเรือน จนถึงวันนี้รวม 26 วัน ในภาพรวมหน่วยแพทย์ให้บริการแล้ว 1,553 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยรวม 9 หมื่นราย ไม่มีรายใดอาการรุนแรง ส่วนใหญ่เจ็บป่วยทั่วๆ ไป พบมากที่สุดประมาณ 1 ใน 3 คือ โรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือไข้หวัด และปวดเมื่อย นอกจากนี้ยังได้จัดหน่วยเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ เพื่อติดตามดูแลโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ป้องกันปัญหาขาดยารวมเกือบ 6 หมื่นราย จึงกำชับให้ทุกพื้นที่มีน้ำท่วมสูง และคาดว่า จึงกำชับให้ทุกพื้นที่มีน้ำท่วมสูง และคาดว่าน้ำจะท่วมขังนานให้ปรับบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนให้เหมาะสม และดูแลให้ถี่มากขึ้น
          เผยคลี่คลายแต่อรัญยังน่าห่วง
          ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สระแก้ว มีน้ำท่วม 5 อำเภอ 8 ตำบล ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว เข้าสู่ระยะการฟื้นฟู โดย อ.อรัฐประเทศ มีพื้นที่ประสบภัยมากที่สุด 7 ตำบล ปัจจุบันเหลือ 1 ตำบล รองลงมาคือ อ.เมือง 5 ตำบล ปัจจุบันเหลือ 3 ตำบล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้จัดระบบบริหาร 2แผน คือ แผนการรักษาพยาบาล ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการตรวจรักษาประชาชนทุกวัน รวม 112 ครั้ง โดยพบจำนวนผู้ป่วย 9,244 ราย ไม่มีปัญหาอักเสบติดเชื้อ ดูแลสุขภาพจิต 683 ราย พบว่าเครียดสูง 13 ราย และแผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมความสะอาดหลังน้ำท่วม ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่และอสม.ให้ความรู้ประชาชนและเฝ้าระวังโรคที่มาหลังน้ำท่วม ที่สำคัญเช่น โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก  และโรคอุจจาระร่วง การกำจัดขยะ โดยจะตรวจระดับคลอรีนในน้ำประปา และล้างบ่อน้ำดื่มน้ำใช้ ใส่ผงคลอรีนฆ่าเชื้อ ล้างตลาดสด เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน 
          เชียงใหม่หนาวเย็นหมอกคลุม
          แม้หลายพื้นที่ในประเทศไทยจะประสบภาวะน้ำท่วม แต่ในส่วนของภาคเหนือบางพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาวเย็นแล้ว เมื่อเวลา 07.00 น. วันเดียวกัน นายวรพจน คุณาวิวัฒนางกูร เวรพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่า ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนมีอากาศเย็นโดยทั่วไป กับมีอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยในช่วงตลอดระยะปลายสุดสัปดาห์นี้ ภาคเหนือตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่
          ทั้งนี้บริเวณเทือกเขาและยอดดอย อากาศหนาว อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อุณหภูมิสูงสุดวานนี้ วัดได้ 34.3 องศาเซลเซียสที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะให้อากาศหนาวเย็นลงในหลายพื้นที่ จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หางดงนั้น ทำให้มีหมอกปกคลุมในช่วงเช้าถึงเที่ยง ประชาชนเริ่มนำเสื้อผ้ากันหนาวมาใส่กันแล้ว เมื่อขับขี่ยวดยานพาหนะมาทำธุระนอกบ้าน เนื่องจากอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะพื้นที่โล่ง หรือใกล้แม่น้ำจะมีหมอกหนาปกคลุมมาก สำหรับรถที่ใช้ถนนสัญจรต้องเปิดไฟเพื่อให้เห็นทัศนวิสัยในการขับขี่
          ลำปางเตรียมรับมือหนาวยาว
          นายทิวา พันธ์ไม้สี หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง เปิดว่า สภาพอากาศในพื้นที่ จ.ลำปาง เริ่มหนาวเย็นลงในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยช่วงเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม จะเป็นช่วงที่หนาวที่สุดของฤดูหนาวปีนี้ เนื่องจากมวลอากาศเย็นจะมีกำลังที่แรงขึ้น และเสริมเข้ามาปกคลุมพื้นที่ จึงทำให้มีอากาศที่หนาวเย็นและหนาวจัด จากนั้นในช่วงปลายฤดูหนาวจะอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจากมวลอากาศเย็นที่มีกำลังอ่อนลง อากาศจะอุ่นขึ้น
          อย่างช้าๆ และสิ้นสุดฤดูหนาวกลางเดือนกุมภาพันธ์
          นายทิวา กล่าวต่อว่า ฤดูหนาวปีนี้ทางสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปางขอประกาศเตือนให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในหุบเขาและบนยอดเขาเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเกิดความหนาวเย็นจัดมากกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา 2-3 องศาเซลเซียส ในช่วงสัปดาห์หน้านี้ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2556 เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว และเป็นช่วงที่เปลี่ยนฤดู บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้พื้นที่ภาคเหนือรวมถึง จ.ลำปาง เกิดฝนตกประมาณร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และอุณหภูมิก็จะลดลงทันที 3-5 องศาเซลเซียส
          พะเยา-ภูลังกาหนาว 19 องศา
          วันเดียวกัน นายสมชาติ พวงพะยอม หัวหน้าวนอุทยานภูลังกา อ.ปง จ.พะเยา เปิดเผยว่า บรรยากาศที่ภูลังกา โดยเฉพาะยอดดอยในช่วงเช้าทุกเช้าวัดอุณหภูมิได้ 19 องศาเซลเซียส ถือว่าอากาศเย็นลงและหนาวแล้ว แต่ยังไม่พร้อมที่จะเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เนื่องจากบางวันยังมีฝนตก ความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง ทำให้การเดินทางขึ้นไปถึงยอดดอยลำบาก แม้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อไม่สามารถขึ้นได้ เพราะถนนลื่น พื้นหญ้ามีความชื้น หยดน้ำได้วางแผนพร้อมเปิดพื้นที่รับคณะท่องเที่ยวขึ้นเที่ยวและพิชิตยอดดอยภูลังกา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป
          อย่างไรก็ตาม จากสถิตินักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูลังกาปีที่ผ่านมาประมาณ 1.3 หมื่นคน ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นคน หรืออาจทะลุถึง 2 หมื่นคน เนื่องจากปัจจัยสำคัญคือ 1.อากาศหนาวที่มาเยือนเร็วขึ้น 2.ประชาชนไม่พะวงเรื่องปัญหาภัยธรรมชาติน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา และ 3.ประชาชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อและใช้จ่ายจะเที่ยวมากขึ้น
          

pageview  1205884    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved