HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 14/10/2556 ]
ระวัง!ผู้ป่วยทางจิตห้ามขาดยา-ใช้สารเสพติด

 

 ทีมข่าวอาชญากรรม
          คดีหนุ่มที่มีอาการป่วยทางจิต ก่อเหตุฆ่าชำแหละศพเพื่อนผู้ชายในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า แล้วจะดูแลผู้ป่วยทางจิตอย่างไร และรักษาหายหรือไม่ ???             
          “ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคจิต โรคประสาท มาจากหลายปัจจัย ทั้งกรรมพันธุ์ สิ่งกระตุ้น โรคทางสมอง การใช้สารเสพติด แต่ทุกโรครักษาได้เหมือนกับโรคเรื้อรังอื่นๆ”
          นี่เป็นส่วนหนึ่งที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้ป่วยทางจิตที่ต้องได้รับการดูแลของญาติอย่างใกล้ชิด และเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ
          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า ผู้ป่วยทางจิตแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
          กลุ่มผู้ป่วยโรคจิต อาการจะมีความรุนแรงค่อนข้างมากในแง่การรับรู้ตัวเอง และรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้างความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมการแสดงออก การตัดสินใจไม่เหมือนกับคนปกติโดยทั่วไป
          กลุ่มโรคประสาท กลุ่มนี้จะมีความเครียด วิตกกังวลมากเกินไป อารมณ์หดหู่ ท้อแท้ ชอบย้ำคิดย้ำทำ แต่การรับรู้คงเป็นปกติ ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเหมือนกับคนทั่วไป
          กลุ่มผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีอารมณ์รุนแรง บางคนมีนิสัยติดตัวมาไม่สามารถแก้ไขได้
          “ผู้มีปัญหาสุขภาพทางจิตบางทีอาจดูได้ยากสำหรับคนทั่วไป หากอยู่ในรูปแบบของพฤติกรรรมที่เขาแสดงออกมา หรือเวลาเห็นใครทำอะไรแปลกไปจากคนอื่น คนส่วนใหญ่มักจะเรียกเหมารวมกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ว่าเป็นโรคจิต ทำให้กลุ่มอาการที่มีปัญหาจำนวนหนึ่งไม่อยากเข้าสู่กระบวนการรักษา” พญ.พรรณพิมล กล่าว
          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุด้วยว่า การรักษาผู้ป่วยทางจิตมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ 1.การใช้ยา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคจิต กลุ่มนี้มีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคประสาท ยาที่นำมารักษาก็จะแตกต่างไปตามโรคและอาการ 2.การรักษาโดยใช้จิตบำบัด จะใช้รักษาผู้ป่วยโรคจิตและประสาท เป็นการพูดคุยให้กลุ่มผู้ป่วยได้วิเคราะห์กลับมาดูตัวเขาเอง และ 3.การบำบัดด้วยสิ่งแวดล้อม
          สำคัญที่สุด คือ ครอบครัว คนใกล้ชิดควรทำอย่างไร ให้มีความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย เนื่องจากมีผู้ป่วยทางจิตจำนวนหนึ่ง มักไม่รับรู้และสูญเสียความเป็นจริง พวกเขาต้องการคนรอบข้างช่วยประคองให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง
          หากเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งมารักษาก็คงจะไม่เห็นผลอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ป่วยทางจิตควรได้รับการรักษาทั้ง 3 วิธี ควบคู่กันไป เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกินยา หรือฉีดยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
          ผู้ป่วยทางจิตหากมีอาการกำเริบจะเห็นได้ชัด เช่น นอนไม่หลับ มีความคิดแปลกๆ พฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว หงุดหงิดง่าย บางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคม
          บุคคลเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ ส่วนเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และสารเสพติดจะกระตุ้นสมองจนควบคุมอาการไม่ได้ สุดท้ายผู้ป่วยจะเกิดอาการประสาทหลอน
          การรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบโดยผู้พัฒนาโครงร่างวิจัยกรมสุขภาพจิต พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคประสาทมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง จำนวนกว่า 1,100,000 คน แต่เข้าถึงบริการเพียง 150,000 คน รองลงมา คือ ผู้ป่วยโรคจิต 580,000 คน ในส่วนนี้เข้าถึงบริการแล้ว 390,000 คน
          ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสามารถพบแพทย์และขอคำปรึกษาที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

pageview  1205875    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved