HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 01/10/2556 ]
นวัตกรรมใหม่"หาเชื้อไวรัส HPV"จากปัสสาวะ

  โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

          มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 พบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-60 ปี จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN 2008) พบว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 10,000 คนต่อปี และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้
          สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
          จากการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 พบว่า มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากไวรัสฮิวแมนแปปิโลมา (HPV) ซึ่งสามารถจำแนกสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 พบรวมกันราวร้อยละ 70 ของทั้งหมด
          ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อ HPV บริเวณอวัยวะเพศจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
          สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง
          -การมีคู่นอนหลายคน
          -การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
          -การตั้งครรภ์หรือมีลูกหลายคน
          -การมีประวัติเป็นกามโรค
          -การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
          -การไม่มารับการตรวจคัดโรคมะเร็งปากมดลูก
          -สตรีที่มีสามีเป็นมะเร็งขององคชาต
          -สตรีที่แต่งงานกับชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
          -การสูบบุหรี่
          -ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
          -สตรีที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ
          -พันธุกรรม
          -การขาดสารอาหารบางชนิด
          การป้องกัน
          การป้องกันทำได้โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือเริ่มตรวจในสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือลดปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกเช่น การละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิดการซื่อสัตย์ต่อคู่นอน โดยการมีคู่นอนคนเดียว การฉีด HPV vaccine เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV
          การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคือการตรวจหาความผิดปกติในระยะเริ่มแรกของปากมดลูกที่สูตินรีแพทย์ใช้อยู่และเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
          ในอดีตได้เริ่มมีการตรวจทางเซลล์วิทยาปากมดลูก แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ที่สำคัญ คือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าตรวจ ด้วยเหตุผลหลัก เขินอาย กลัวเจ็บและไม่มีเวลา หรือในบางกรณีที่เป็นการตรวจก่อนการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กหญิงหรือวัยรุ่น ทำให้เกิดความไม่สะดวก ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือก สำหรับการพัฒนาและนำไปสู่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกการตรวจหา HPV DNA ในน้ำปัสสาวะน่าจะมีความเป็นไปได้
          นวัตกรรมการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลสมิติเวช ในการทำโครงการวิจัยตรวจหาไวรัสฮิวแมนแปปิโลมา (HPV) ในปัสสาวะ เพื่อพัฒนาเทคนิคที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อ HPV จากสิ่งส่งตรวจอื่นๆ ที่ไม่ใช่เซลล์ที่ป้ายจากปากมดลูก ซึ่งก็คือเซลล์ที่ได้จากน้ำปัสสาวะนั่นเอง ที่สำคัญนวัตกรรมดังกล่าวนี้เป็นความพยายามครั้งแรกของวงการแพทย์ไทยที่จะนำไปสู่ก้าวสำคัญของการลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
          ขั้นตอนการตรวจ
          จะทำการเก็บปัสสาวะโดยเก็บปัสสาวะในบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดเชื้อ ให้มีปริมาตรอย่างน้อย 15-30 มิลลิลิตร (ที่เหมาะสมที่สุดคือปัสสาวะในช่วงแรก) หลังจากส่งตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่แล้ว จะใช้ระเวลาในการตรวจทางห้องปฏิบัติการประมาณ 4 ชั่วโมง และสามรถแจ้งผลการตรวจได้ภายใน 3 วัน
          ในกรณีที่ผลการตรวจเป็น Positive คือพบเชื้อ HPV จากปัสสาวะ ต้องเข้ารับการตรวจเพื่อยืนยันผลโดยการทำ pap smear โดยสูตินรีแพทย์ต่อไป
          ส่วนในกรณีที่ผลการตรวจเป็น Negative คือตรวจไม่พบเชื้อ HPV ก็สบายใจได้ แต่ก็ควรทำการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี
          ข้อดี
          -เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้หญิง ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้น (Pre-screening program) ที่ผู้หญิงที่กลัวและไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายในเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ
          -มีความสะดวกมากในการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง
          การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV จากปัสสาวะ ไม่ใช่วิธีที่มาทดแทนการตรวจ pap smear แต่จะมีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่กลัวหรืออาย และไม่ยอมเข้ารับการตรวจภายใน วิธีนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้หญิงได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น สามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้ แต่สำหรับผู้หญิงที่เคยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจ pap smear เป็นประจำทุกปีโดยสูตินรีแพทย์อยู่แล้วนั้น วิธีการนี้คงไม่จำเป็น เพราะคุณได้รับการตรวจที่ดีที่สุดและแม่นยำที่สุดอยู่แล้ว


pageview  1205172    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved