HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 19/09/2556 ]
ชีวิตสดใสเริ่มได้ที่เลขสี่'แก่อย่างมีคุณภาพ'

ชุลีพร อร่ามเนตร

          หลายคนมองว่าชีวิตที่ย่างเข้าวัย 40 คือวัยที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวิกฤติ ! แต่ในความเป็นจริง ชีวิตสดใสก็เริ่มต้นได้ที่เลขสี่
          "AGING SOCIETY ชีวิตสดใสเริ่มที่เลขสี่" คือเวทีเสวนาที่ บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นบีซี และ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันไขรหัสคุณภาพชีวิตของคนไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และนำเสนอแนวทางง่ายๆ ที่จะนำพาชีวิตของคนเราไปสู่สังคมแห่งความสุขได้อย่างน่าสนใจ
          ทญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มองว่า อนาคตข้างหน้าประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น จึงมีความ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งกลุ่ม ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
          ทญ.ศรีญาดา บอกว่า ประเด็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้คือ การเตรียมความพร้อม สร้างคลังปัญญาให้ผู้สูงวัย ส่งเสริมเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ทั้งยังสร้างระบบคุ้มกันด้วยการมอบเบี้ยยังชีพ เช่น อายุ 60 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำเดือนละ 600 บาท อายุ 70 ปีได้700 บาท อายุ 80 ปีได้ 800 บาท และ 90 ปีได้ 1,000 บาท รวมถึงมีโครงการซ่อมบ้านให้แก่ผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาศูนย์คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
          "เรามีกองทุนที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท และถ้ารวมตัว 5 ท่านขึ้น จะสามารถกู้ได้ไม่เกิน 1 แสนบาท โดยแต่ละปีรัฐบาลจะมีงบประมาณส่วนนี้ 300 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น นอกจากนั้น ทางกระทรวงยังเปิด call center 1300 เพื่อตอบคำถามและ รับฟังความคิดเห็นของผู้สูงอายุอีกด้วย"
          เลขานุการ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ย้ำว่า อยากให้ผู้สูงอายุ ทุกคนพึ่งพาตนเอง เลือกทำกรรมดี ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และการนั่งสมาธิ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น เพราะการเตรียมพร้อมเข้าสู่ผู้สูงอายุ ต่อให้รัฐบาลมีแนวทาง มีนโยบายมากมาย แต่ถ้าผู้สูงอายุไม่มีใจที่จะดูแลตัวเอง ก็ไม่มีใครสามารถทำให้ตัวเองมีความ สุขได้
          จริงหรือที่ชีวิตของคนเรา เมื่อวัยเข้าสู่เลข 30 ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งกายและจิตใจ ?
          รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า หลังจากชีวิตผ่านพ้นช่วงอายุ 30 ปี ทุกๆ ปีร่างกายจะเริ่มเสื่อมไปปีละ 1% เมื่อเข้าสู่หลัก 4 ร่างกายก็เสื่อมไปแล้ว 9% ยิ่งปัจจุบันการดำรงชีวิตของมนุษย์ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อดนอน กินหวานจัด อ้วน เครียด ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลข 4 กลายเป็นเลขเด็ดที่ถ้าไม่เริ่มดูแลตัวเองก็จะช้าเกินไป
          "ร่างกายของมนุษย์ก็เหมือนเครื่องจักร ถ้าใช้งานมากเกินไปก็จะทรุดโทรม แต่ถ้าไม่ใช้เลยก็จะเสื่อมสมรรถภาพ"
          รศ.นพ.ปัญญา บอกว่า การกินการอยู่ของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้ร่างกายพัฒนา ซ่อมแซมตัวเองได้ ถ้าไม่เชื่อลองออกกำลังกายเพียง 5 นาที แล้วลองพูดกับ ตัวเองยาวๆ ถ้าพูดแล้วฟังรู้เรื่องแสดงว่าร่างกายเรายังดีอยู่
          ส่วนโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคกระดูก ไม่ว่าจะกระดูกเสื่อม หรือกระดูกพรุน ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่ผู้สูงอายุกลัวกันมาก และพยายามเสาะแสวงหาแคลเซียมให้แก่ตัวเอง โดยลืมไปว่า สาเหตุที่ทำให้แคลเซียมของเราไหลออกจากกระดูก เพราะเราไม่ขยับร่างกายเลย ทำให้กระดูกแน่นิ่ง
          รศ.นพ.ปัญญา อธิบายว่า ตามหลักแคลเซียมจะไหลออกจากกระดูกทั้งปี ทุก 1 ปีแคลเซียมจะลดลงไป 1% จนกระทั่งเข้าสู่วัยทอง โดยเฉพาะผู้หญิง 5 ปีหลังจากหมด ประจำเดือน แคลเซียมจะไหลออกจากกระดูกมากถึง 3% แต่พอหลัง 5 ปีไปแล้วจะเหลือ 1%
          รศ.นพ.ปัญญา แนะนำว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดควรให้ร่างกายได้สัมผัสกับแสงแดดยามเช้าก่อน 8 โมง หรือ 5 โมงเย็นบ้าง อย่างน้อยวันละ 20 นาที สัปดาห์ละ 4 วัน และรับประทานอาหารธรรมชาติที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ปลาลิ้นหมา กุ้งแห้ง ผักคะน้า โหระพา ใบชะพลู
          นายโอภาส พิมลวิชยากิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กระทรวงมีการเตรียมพร้อมสำหรับผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นสร้างหลักประกัน ส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างความมั่นคงในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ รายได้ ด้านที่อยู่อาศัยหรือสภาพแวดล้อม อีกทั้งในอนาคตบุตรหลานน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ถ้าผู้สูงอายุ 40 ปีขึ้นไปไม่มีผู้ดูแล จำเป็นต้องหารายได้ พึ่งพาตัวเอง และต้องเพิ่มความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับสิ่งแปลกๆ ใหม่
          ผศ.ดร.ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยกลุ่มผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป พบว่า 60% ประเมินตัวเองทางสุขภาพกายและใจอยู่ในระดับดีมาก และ 30% อยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่ 10% มองว่าตัวเองสุขภาพกายและจิตแย่ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในชนบทมากกว่าในเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลก
          สำหรับปัจจัยที่สัมพันธ์กับความพึงพอใจของผู้สูงอายุ 4 ด้าน ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจ คู่สมรส ลูกหลาน และร่างกาย พบว่า ความพึงพอใจกับคู่สมรสต่ำสุด และการตกต่ำด้านเศรษฐกิจยังส่งผลต่อความอบอุ่นในครอบครัว
          ผลจากการสำรวจข้างต้น สอดคล้องกับความเห็นของ น.ส.อัจฉรา สุทธิศิริกุล Project Director โครงการ Happy Money ที่มองว่า การมีเงินคือความมั่นคง เพราะถ้าไม่มีเงินจะนำไปสู่ความเครียด เป็นบ่อเกิดของโรค การออมจึงมีความสำคัญ และเราต้องเริ่มวางแผนทางการเงินตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน แต่ช่วงนั้นบางคนต้องสร้างฐานะ ทำให้ช่วงเก็บเงินได้จริงๆ คือ วัยเลข 4
          "จุดเริ่มต้นของการใช้เงินอย่างฉลาด เมื่อหาได้ต้องออมก่อนแล้วค่อยฉลาดใช้อย่างมีสติ แต่คนไทยเป็นกลุ่มคนหาได้ใช้ก่อนแล้วค่อยออม"
          ขณะที่ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ดารานักแสดง กล่าวถึงเคล็ดลับอยู่อย่างสาวสองพันปีว่า เป็นคนที่มองโลกในแง่บวก และมองเพียงว่า ทำอย่างไรให้ตัวเองมีความสุข โดยต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง อะไรที่ผ่านไปก็ปล่อยให้มันผ่านไป
          เธอบอกว่า คนเราเกิดโรคได้ง่ายมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากความเหงา คิดมาก อยู่คนเดียว คิดน้อยใจ ทำให้เกิดความเครียดและโรคก็จะรุมเร้า ฉะนั้นทางที่ดีเราต้องมองว่า กำลังย่างก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยรุ่น จากรุ่นหนึ่งไปสู่ รุ่นหนึ่ง แต่ละก้าวต้องมีรอยยิ้ม ใครเกลียดเราก็ผ่านเขาไป ใครรักเราก็ปล่อยให้เขารักไป เราไม่ต้องรู้ เพราะคำว่ารักไม่มีตัวตน นอกจากรักตัวเอง และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น
          "ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข รู้จักปล่อยวางว่าในโลกนี้เราไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรทั้งสิ้น เราต้องมองว่าเราต้องอยู่ให้ได้ ต่อให้อยู่คนเดียว หากทุกคนคิดได้แบบนี้ ต่อให้เข้าสู่วัยเลข 4 ชีวิตก็สดใสได้"


pageview  1205958    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved