HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 13/09/2556 ]
หมอพื้นบ้านมรดกที่มีชีวิตหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

   หมอพื้นบ้านถูกเล่าขานเป็นตำนานแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยมานานแสนนาน เป็นทั้งความเชื่อความศรัทธาของผู้คน มาแต่โบราณกาล ซึ่งปัจจุบันกำลังค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมเมืองตามยุคสมัยที่ เปลี่ยนไป แต่ด้วยองค์ความรู้ที่สั่งสมมานับหลายร้อยปีสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นบวกกับความศรัทธาที่ยังมีคนยอมรับได้ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งจากบรรพบุรุษเล่าขาน หรือจากประสบการณ์ที่ได้เห็นมา ประกอบกับการส่งเสริมจากภาครัฐบาล โดยเฉพาะกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่กำกับดูแลหมอพื้นบ้านในปัจจุบัน
          ซึ่งงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 10 จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คนไทยได้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นทุกภาคของประเทศไทย มารวมไว้ในที่เดียวกัน หากใครได้ ติดตามการจัดงานแต่ละครั้งก็จะเห็นบางอย่างพัฒนาไปไกล แต่ก็มีบางอย่างที่รู้สึกว่ายังพัฒนาไม่มากนัก เช่น หมอพื้นบ้านที่นำมาจัดแสดงและให้บริการแก่ผู้เข้าชมงานดังกล่าว
          หมอบางท่านอายุรุ่นคุณตาคุณยายยัง ถูกนำมาให้บริการดูแล้วอดสงสารไม่ได้ เข้าใจว่าผู้จัดอยากแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ จึงนำพ่อหมอแม่หมอมาร่วมงานดังกล่าว ซึ่งวัยบางท่านควรเป็นครูที่ให้คำแนะนำและสั่งสอนหมอรุ่นต่อๆ มาจะดีกว่า ผู้จัดอาจมองข้ามสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งหมอพื้นบ้านมีความสำคัญต่อวงการแพทย์แผนไทยและมีความแตกต่างกับหมอนวดเพื่อสุขภาพหรือความงามทั่วไปอย่างชัดเจน หมอพื้นบ้านเน้นการรักษามากกว่ารูปแบบ จึงอาจมีช่องว่างที่บางคนอาจไม่เข้าใจ
          ภายในงานมีหมอพื้นบ้านจากจังหวัดต่างๆ ที่เข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ เข้าชมงานไม่น้อย อย่างนายฉลอมพันธุ์ นำภา หมอพื้นบ้าน จาก อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กล่าวถึงการต่อยอด ภูมิปัญญาพื้นบ้านไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ว่ามีหมอพื้นบ้านจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ที่น่าจะมีการรวมตัวเป็นกลุ่มหรือชมรมหมอพื้นบ้านขึ้นในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขณะนี้ก็รวมได้หลายคนแล้วและได้ออกงานกับหน่วยงานภาครัฐมาบ้างแล้ว
          อีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมงานนี้เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี ชื่อนางมนต์ตา ประกอบอาชีพเป็นหมอพื้นบ้าน เธอยอมรับว่าพยายามศึกษาศาสตร์การนวดไทยมาหลายสำนักและศึกษาการจัดกระดูกรวมถึงการนวดรักษาแบบหมอพื้นบ้าน เธอจึงไม่ใช่หมอนวดตามร้านทั่วๆ ไป เธอกล่าวถึงการพัฒนาวงการหมอพื้นบ้านว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้กับหมอที่มีประสบการณ์มากไม่ต้องเก่งที่สุดก็ได้เพราะเชื่อว่ายังมีหมอพื้นบ้านอีกมากที่มีประสบการณ์ หากมีใครรวบรวมหมอพื้นบ้านในกรุงเทพฯ ได้ก็ยินดีเข้าร่วมทันที
          คนสุดท้ายที่ได้มีโอกาสให้ความเห็น เป็นหมอพื้นบ้านจาก จ.แพร่ ที่เข้ามารักษาคนในกรุงเทพฯ ชื่อ นายธนโชค ยอมรับว่าอยากเห็นความก้าวหน้าของหมอพื้นบ้าน หากมีการรวมกันได้จะเป็นสิ่งที่ดี หมอจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเป็นการรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านไม่ให้สูญหายไป
          หลังจากจบงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ หมอพื้นบ้านที่เข้าร่วมงานต่างแยกย้ายกลับบ้านอีก 1 ปีจึงกลับมาใหม่ แต่หมอพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ คงรอความหวังที่จะได้รวมตัวกันเพื่อพัฒนาวิชาชีพของเขาให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นสมกับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ต้องอนุรักษ์และต่อยอดให้ได้ หมอพื้นบ้านที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ถึงจะ ไม่มากแต่ได้สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ด้วยการสืบทอดภูมิปัญญานี้ เราคงเอาใจช่วยให้เกิดการรวมตัวในเร็วๆ นี้


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved