HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 14/08/2556 ]
ถนอมอาหารด้วยหมักดอง มากคุณค่าทางยา เพิ่มคุณค่าทางอาหาร

 ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพรหัว
          หน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม
          รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร
          โทร.0-3721-1289

          การดองด้วยกระเทียมแห้ง
          1.เลือกกระเทียมที่แก่จัด โดยการบีบหัวกระเทียมแห้ง หากมีใบติดมาด้วยให้สังเกตว่า ใบจะต้องมีสีเหลืองเข้ม และมีหัวเล็กๆ ติดมาตามก้านใบ กระเทียมที่แก่จัดเมื่อนำมาดองจะได้กระเทียมดองที่กรอบไม่เปื่อยยุ่ย จากนั้นนำกระเทียมที่คัดเลือกแล้วมาแกะกลีบ ปอกเปลือก และล้างให้สะอาด นำไปแช่ในน้ำปูนใส ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชม. แล้วตักขึ้นมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
          2.เตรียมน้ำดอง โดยการนำน้ำตาลทราย และน้ำส้มสายชูผสมกัน ต้มให้เดือด ปรุงรสให้กลมกล่อมแล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ให้เย็น
          3.นำกระเทียมที่วางให้สะเด็ดน้ำปูนใสแล้ว ใส่ลงในขวดที่เตรียมไว้ (ขวดและฝาขวดต้องนำไปลวกในน้ำร้อนที่เดือดๆ ก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค)
          4.เทน้ำดองที่เตรียมไว้ ลงไปในขวดให้ท่วมกระเทียม และอย่าให้กระเทียมลอย ปิดฝาขวดให้แน่นแล้วเก็บไว้ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนำมารับประทานได้
          การดองด้วยกระเทียมสด
          1.นำกระเทียมไปแช่น้ำประมาณ 2 ชม. จนเปลือกพอง แล้วสงขึ้นแช่น้ำเย็น อีก 1 คืน ปอกเปลือกออก
          2.นำกระเทียมที่ปอกเปลือกมาผึ่งไว้บนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ
          3.ต้มน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ ให้เดือด กรองฝุ่นด้วยผ้าขาวบาง แล้วทิ้งไว้ให้เย็น
          4.นำกระเทียมที่ผึ่งไว้ลงแช่ในน้ำดองที่เตรียมไว้ โดยกดกระเทียมให้จม อย่าให้กระเทียมลอยขึ้นมา อีก 2 วันรินน้ำที่แช่กระเทียมออกมา
          5.นำน้ำที่แช่กระเทียมมาเติมน้ำตาลลงไปประมาณครึ่งถ้วย ตั้งไฟให้เดือด และทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปใส่ในกระเทียมอีกครั้ง ทิ้งไว้อย่างน้อย 1 เดือน จึงจะใช้ได้ ทำเช่นนี้ความเผ็ดของกระเทียมจะหายไป
          การทำผักเสี้ยนดอง ผักเสี้ยนเป็นผักที่มีสรรพคุณทางยาเช่นเดียวกัน โดยใบของผักเสี้ยนสามารถใช้ตำพอกหรือทา แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหู พอกรักษาฝี และอาการระคายเคือง เมล็ดผักเสี้ยน สามารถใช้ขับพยาธิไส้เดือน ขับเสมหะ ส่วนต้นผักเสี้ยนทั้งต้นสามารถนำมารับประทานได้ แต่ต้องนำมาต้มหรือดองก่อน จะมีสรรพคุณใช้ในการขับระดู และหากเป็นต้นสดทั้งต้นสามารถนำมาตำพอกแก้ปวดเมื่อย เรียกเลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง ปรุงเป็นยาแก้เจ็บหลัง แก้เมาสุรา บรรเทาอาการระคายเคือง
          ส่วนผสมการทำผักเสี้ยนดอง
          ผักเสี้ยน 1/2  กิโลกรัม
          น้ำสะอาด 1-2 ถ้วย
          เกลือ 1/4 ถ้วย
          น้ำตาลปี๊บ 1/2 ถ้วย
          น้ำซาวข้าว 1/2 ถ้วย
          วิธีทำ
          นำผักเสี้ยนที่เตรียมไว้มาล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดบนตะแกรง พอผักเสี้ยนเริ่มเหี่ยวให้นำมาใส่โหลสำหรับดอง
          ต้มน้ำให้เดือดแล้วเติมเกลือ น้ำตาลปี๊บ และน้ำซาวข้าวลงไป คนให้เดือดทั่วกัน จากนั้นจึงเอาลงจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้น้ำเย็น เทน้ำดองที่เย็นแล้วลงในโหลผักเสี้ยน ปิดฝาโหลให้แน่นสนิท แล้วตั้งโหลตากแดดประมาณ  3-7 วัน ก็สามารถนำผักเสี้ยนมากินกับน้ำพริกได้แล้ว
          การทำถั่วเน่า
          ถั่วเน่าเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ ที่นำถั่วเหลืองมาหมักโดยใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติเป็นผู้ทำงาน คล้ายกับญี่ปุ่นที่มีการทำนัตโตะ คนอินเดียมีการทำคีเนมา คนจีนมีการทำเต้าเจี้ยว และอินโดนีเซียมีการทำเทมเป้นั่นเอง นอกจากการหมักจะช่วยถนอมอาหารและทำให้เกิดกลิ่นรสที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งโปรตีน เลซิติน ไฟโตรเอสโทรเจน เส้นใยอาหาร ให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดจากถั่วเหลืองอีกด้วย ถั่วเน่าจึงนับเป็นแหล่งโปรตีนราคาประหยัดที่สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี
          วิธีการทำถั่วเน่า
          1.เริ่มจากล้างถั่วเหลืองให้สะอาด ใส่หม้อใบใหญ่ เติมน้ำ ก่อไฟสุมฟืนท่อนโตๆ ต้มจนถั่วเปื่อยชนิดที่ใช้นิ้วบี้เละได้เลย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน
          2.เมื่อถั่วเปื่อยดีแล้วให้ตักใส่ตะกร้าที่รองก้นด้วยใบสัก และปิดทิ้งไว้ 2-3 วัน จนมีกลิ่นสาบ เป็นฝ้าขาวๆ และมียางเหนียวๆ หน้าตาคล้ายนัตโตะ แต่ชาวบ้านเรียกว่า ถั่วเน่าซา ซึ่งสามารถนำมาผัดหรือคั่วทำอาหารได้
          จากถั่วเน่าซาหากนำมาโขลกผสมเกลือจนละเอียดแล้วนำมาห่อใบตองย่างไฟ ก็จะได้ถั่วเน่าเมอะ ซึ่งชาวบ้านนิยมใช้เป็นเครื่องปรุงสำคัญของแกงพื้นบ้าน และสามารถนำมาทำเป็นถั่วเน่าแผ่นหรือถั่วเน่าแขบ โดยปั้นถั่วเน่าที่บดละเอียด เป็นก้อนกลมเท่าๆ กัน แล้วปั๊มเป็นแผ่นๆ (วางถั่วเน่าที่ปั้นแล้วลงบนแผ่นพลาสติก แล้วประกบด้วยแผ่นพลาสติกอีกแผ่น ก่อนใช้กระจกทับลงให้แบน) นำไปตากให้แห้ง แล้วนำมาย่างไฟให้เหลืองกรอบ ซึ่งถั่วเน่าแขบจะเก็บไว้ได้นานหลายเดือนกว่าแบบแรก และปัจจุบันยังมีการนำถั่วเน่าแขบมาป่นขายเพื่อสะดวกในการใช้อีกด้วย
          นอกจากนี้ยังมีถั่วเน่าชนิดปรุงรส ให้มีรสออกเผ็ดเค็มเพิ่มขึ้นด้วย (ซึ่งจะโขลกพริก ใส่เกลือและผงปรุงรสลงเคล้าให้ทั่วหลังจากบดถั่วละเอียดแล้ว) และยังมีกรรมวิธีแปรรูปที่ต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ ก็จะกลายเป็นถั่วเน่าทรงเครื่อง ถั่วเน่าอิฐ และอีกมากมาย


pageview  1206087    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved