HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 01/08/2556 ]
สละเวลาให้"ชีวิต"

 ในสถานการณ์ของความเป็นความตายบนรถพยาบาลฉุกเฉิน การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนตระหนัก แต่บางครั้งด้วยสภาพการจราจรติดขัด หรือความเร่งรีบอาจไปสร้างความไม่พอใจให้แก่ใครหลายคน ดังเช่นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จนเป็นเหตุให้รถพยาบาลฉุกเฉินที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยถูกตามไล่ยิง ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการ "หลีกทางให้รถพยาบาล" ต่อพงษ์ ส่งศรีโรจน์ ผู้จัดการหน่วยกู้ชีพหงส์แดง กรุงเทพมหานคร หนึ่งในทีมกู้ชีพที่มีประสบการณ์การทำงานมากว่า 10 ปี เล่าว่า ทุกครั้งที่นำรถพยาบาลออกเหตุเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทุกราย โดยเฉพาะการออกเหตุในกรุงเทพมหานครที่มีสภาวะการจราจรติดขัด ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าไปช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้เร็วที่สุด เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งได้ไปช่วยคุณยายที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว แต่ขณะขับรถเข้าไปรับผู้ป่วยในช่วงที่ขับรถเข้าซอยมีรถจำนวนมากที่ไม่หลีกทางให้ จนเกือบทำให้ไปรับผู้ป่วยไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีในลักษณะเดียวกัน ที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจในเรื่องการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน
          "หลายคนตั้งคำถามว่าการออกเหตุแต่ละครั้งมีผู้ป่วยฉุกเฉินจริงหรือไม่ที่อยู่บนรถพยาบาลนั้นๆ ผมขอยืนยันว่ามีผู้ป่วยจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยร้ายแรง อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน อุบัติเหตุที่รุนแรง หรือไม่ก็เป็นรถฉุกเฉินที่กำลังเร่งไปรับผู้ป่วย ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนขอทางจากรถพยาบาลฉุกเฉินควรหลีกทางให้ เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบนรถคันนั้นจะเป็น
          ญาติพี่น้องคุณหรือไม่ และควรจะเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติทันทีโดยไม่ต้องคิดว่ามีกฎหมายบังคับหรือไม่ แต่ควรปฏิบัติให้กลายเป็นจิตสำนึก" ต่อพงษ์ กล่าวพร้อมเห็นว่า ประเด็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ คือรถพยาบาลฉุกเฉินติดสัญญาณไฟแดง ดังนั้นหากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการประสานให้มีการเปิดไฟเขียวเพื่อให้รถพยาบาลสามารถนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
          ขณะที่ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.มีบทบาทหลักในการกำหนดมาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นว่าเรื่องนี้ควรมีการรณรงค์อย่างจริงจังให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการหลีกทางให้รถพยาบาล เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าไหร่ก็จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เปิดขึ้นทะเบียนและตรวจสภาพรถพยาบาลและรถกู้ชีพเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
          อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำงานของรถพยาบาลฉุกเฉินเป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการจราจร
          ทางบกมาตรา 75 ซึ่งในขณะที่ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้ ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หยุดรถหรือจอดรถในที่ห้ามจอดรถ ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุดแต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะขับรถไปปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 75 ก็ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ผู้ขับขี่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทได้ด้วยเช่นกัน


pageview  1206087    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved