HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 26/07/2556 ]
สมุนไพรว่านชักมดลูกกับผู้หญิง

  ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa Roxb.) เป็นพืชสมุนไพรในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับ พวก ขิง ข่า ขมิ้น ว่านนี้พบในทุกภาคของประเทศ ปลูกและใช้กันมากในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ นิยมนำมาใช้รักษาอาการมดลูกอักเสบ โดยเฉพาะอาการอักเสบหลังคลอด โดยใช้ ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวกลม เป็นพืชที่ให้ดอกก่อนออกใบ ต้นอ่อนของว่านมีเส้นกลางใบสีม่วงเข้ม เนื้อของว่านมีสีขาวนวล กลิ่นฉุน มีรสเผ็ด เมื่อฝานทิ้งไว้ในอากาศสีของเนื้อว่านจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้มถึงสีน้ำตาล
          จากข้อมูลจากการประชุมวิชาการ เรื่องการวิจัยและพัฒนาว่านชักมดลูกเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่า ว่านชักมดลูกมีฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และมีฤทธิ์ต่อการกระตุ้นการหลั่งน้ำดีและลดระดับไขมันในเลือด
          ซึ่งจากการตรวจสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของว่านชักมดลูก สารสกัดด้วยเฮกเซน (Hexane extract) ของว่านชักมดลูกมีฤทธิ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางจุลกายวิภาคของเนื้อเยื่ออวัยวะ ในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ฤทธิ์อ่อนกว่าและสั้นกว่า และจากการศึกษาประสิทธิภาพของ Phytoestrogen จากว่านชักมดลูกต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิงพบว่า
          1.ฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุช่อง มดลูก ว่านชักมดลูกมีผลกระตุ้นการเจริญเติบโต ของเซลล์เยื่อบุมดลูกชั้นต่างๆ และผนังมดลูกมีความหนามากขึ้น ทำให้มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุช่อง มดลูกในหนู (Rat) ที่ตัดรังไข่ทำให้มดลูกมีขนาด เล็ก โดยให้หนูที่ถูกตัดรังไข่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน กลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งให้ได้รับสารสกัดว่านชัก มดลูก พบว่า เซลล์ผนังมดลูกมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมดลูกหนาขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้นได้คล้ายฤทธิ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน
          2.ฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุช่องคลอด ว่านชักมดลูกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์เยื่อบุผนังช่องคลอด โดยมีการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุช่องคลอดในหนู (Rat) ที่ตัดรังไข่ เยื่อบุช่องคลอดมีลักษณะเป็นเซลล์ชั้นเดียว เมื่อได้รับฮอร์โมน เอสโตรเจนเซลล์เยื่อบุช่องคลอดจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเป็นเซลล์หลายชั้น ส่วนหนูที่ได้รับสารสกัดว่านชักมดลูก พบว่า เซลล์เยื่อบุช่องคลอดแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้คล้ายฤทธิ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน
          3.ว่านชักมดลูกมีผลเสริมสร้างความหนาแน่นของกระดูก ทำการทดลองในหนูถีบจักร (mice) โดยเหนี่ยวนำให้หนูเกิดภาวะกระดูกโปร่งบาง ด้วยการตัดรังไข่หนู แล้วให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน พบว่ากระดูกหนาขึ้นมาก ส่วนหนูที่ได้รับสารสกัดว่านชักมดลูกพบว่าช่วยทำให้กระดูกหนาขึ้นมาบ้าง แต่ไม่มีฤทธิ์เท่าฮอร์โมนเอส โตรเจน
          สำหรับผลิตภัณฑ์จากว่านชักมดลูกนั้น จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า ว่านชักมดลูกมีฤทธิ์ต่อเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์และระบบอื่นๆเช่นเซลล์กระดูกเซลล์ประสาท โดยมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ว่านมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นอาหารเสริมหรือยา
          สารสกัดจากว่านชักมดลูกมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมนเพศจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัยตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์ วัยทารกแรกเกิด วัยเด็ก วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ และวัยชราหลังหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่ฮอร์โมนเพศลดลง หรือเรียกว่า วัยทอง คือ วัยที่หมดประจำเดือน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกาย อันเป็นผลมาจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน
          อุบัติการณ์ต่างๆ ที่พบในสตรีสูงอายุ เป็นผลจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน ดังนั้น ในการรักษาจึงมีการให้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ ฮอร์โมนที่ได้รับจึงมีทั้งประโยชน์และโทษ ในด้านประโยชน์ฮอร์โมนจะช่วยบรรเทาอาการ คือ ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันโรคกระดูกโปร่งบาง ลดอาการต่างๆ ของวัยทอง และลดการเกิดอัลไซเมอร์ ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดจากการได้รับฮอร์โมนทดแทนคือมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หลอดเลือดอุดตัน และความวิตกกังวล ดังนั้นทางเลือกของการดูแลสุขภาพในสตรีวัยทอง จึงหันมาพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือยาจากสมุนไพร โดยคาดหวังว่าจะมีพิษหรืออาการข้างเคียงน้อยกว่าการได้รับฮอร์โมน เนื่องจากทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี จึงเลือกรับประทานอาหารในกลุ่ม Phytoestrogen คือ ถั่วเหลือง และยาสมุนไพรว่านชักมดลูกชนิดน้ำ หรือแคปซูล
          ในการพัฒนาพืชสมุนไพรให้ได้ยาเป็นมาตรฐานนั้น มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลายขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาสารสกัดที่มีฤทธิ์เด่น ที่มีสรรพคุณในการพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในอนาคต
          ข้อมูลว่านชักมดลูกจากงานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลในเชิงบวก แต่คนในวงการจะรู้ดีว่ามีข้อจำกัดในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เนื่องจากว่านชักมดลูกจะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ซึ่งตัวเมียเท่านั้นที่จะออกฤทธิ์เป็นยา ปัจจุบัน อย.ไม่ได้บังคับว่าต้องตรวจว่านชักมดลูก และการดูด้วยตาเปล่าทำได้ยากมาก ส่วนใหญ่ต้องใช้ chemical fingerprint หรือ test kit (ชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นตัวผู้หรือเมีย) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการคิดค้นพัฒนา
          ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
          โทร.0-3721-1289


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved