HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 19/07/2556 ]
กินยอแบบไทยๆต้านภัยสารพัดโรค

 ยอ หรือ มะตาเสือ ยอบ้าน แยใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morinda citrifolia L. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE หมอยาบอกว่า "ยอเป็นยาร้อน" เพิ่มการไหลเวียนของเลือด แก้อาหารไม่ย่อย แก้ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง เช่น ลมที่ทำให้อาเจียน ลมที่ทำให้ไอ ดังนั้น ยอจึงมีสรรพคุณช่วยแก้อาเจียน แก้ไอ ลดความดัน ลดอาการบวม ช่วยทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย ช่วยให้นอนหลับ และช่วยแก้มือเท้าตาย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต แขนขาชา
          ในอดีตเมื่อลูกผู้หญิงอายุประมาณ 13-14 ปี ก่อนมีประจำเดือน พ่อแม่จะบังคับให้กินยอ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องเลือดลม เมื่อเป็นสาวเต็มตัวก็จะกินยอเพื่อช่วยให้ประจำเดือนเป็นปกติ ส่วนผู้หญิงที่เลือดไม่ดี ผอมแห้งแรงน้อย ไม่มีเรี่ยวแรง หน้าตาซีดเซียว รวมทั้งผู้หญิงที่ผ่านการมีบุตรแล้วมดลูกไม่ดี แพ้ง่าย วิงเวียนง่าย มีอาการปวดตามกระดูก ปวดตามเนื้อตัวเป็นประจำ รวมถึงอาการหนาวใน ก็ควรให้กินยอเป็นประจำ
          ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น หงุดหงิด เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว และในผู้หญิงที่เลยวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว เพราะช่วยให้กลไกการทำงานของร่างกายเป็นปกติ เช่น บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เป็นลม ใจสั่น นอนไม่หลับ จิตใจห่อเหี่ยว ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น
          ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีรายงานการศึกษาวิจัยทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย และอีกหลายประเทศ พบว่า ในยอมีโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลาย
          ชนิด สารเหล่านั้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านอักเสบ ต้านมะเร็ง ต้านความเจ็บปวด เพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดความดัน
          คนไทยมีวิธีการรับประทานยอหลายรูปแบบ ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาที่มีมาอย่างยาวนาน อาทิ
          ยอจิ้มเกลือ โดยการเก็บยอมาบ่มในไหเกลือ ประมาณ 1-2 วัน ลูกยอจะสุก แล้วนำมาจิ้มเกลือกิน บางท่านนิยมจิ้มน้ำผึ้ง
          ตำส้ม โดยการนำผลยอดิบที่แก่จัดมาทำเป็นส้มตำเพื่อแก้หวัด แต่คนท้องไม่ควรกินเพราะเป็นยาร้อน
          ชงชา ฝานผลยอแก่จัดเป็นแว่นๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงละอียดละลายน้ำร้อนกินครั้งละ 2 ช้อนชา หรือฝานตากแห้งชงกับน้ำร้อนกินแบบชา
          ยาลูกกลอน ฝานผลยอแก่จัดเป็นแว่นๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงละเอียด ผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด
          ยอกวน นำผลยอสุกใส่เกลือไม่ต้องมาก เติมน้ำเล็กน้อย ตั้งบนไฟอ่อนๆ คนไปจนผลยอเละแล้วกวนให้เหนียวพอปั้นเป็นก้อนได้ไม่ติดมือ จากนั้นปั้นเป็นก้อนเท่าปลายนิ้วก้อย ตากแดดพอแห้งหมาดๆ อย่าให้โดนแดดจัด เพราะจะแข็งมาก เก็บใส่ขวดโหลเอาไว้รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
          ตำรับยอกวนแก้ไอนำลูกยอ20ลูกบ่มให้สุกพริกไทย 1 เฟื้อง (1.895 กรัม) น้ำตาลทรายกรวด 1 เฟื้อง (1.895 กรัม) ดีเกลือ 2 ไพ (1.295 กรัม) นำทั้งสามอย่างมากวนให้เข้ากันก่อน แล้วจึงนำไปตั้งไฟ กวนให้เหนียวเป็นตังเม ปั้นกินเป็นลูกกลอน ขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย เคี้ยวกินกับน้ำอุ่นได้เรื่อยๆ เมื่อมีอาการไอ
          ยอดองน้ำผึ้ง นำลูกยอแก่จัดเกือบสุกประมาณ 30 ผล ล้างให้สะอาดและผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำไปใส่ในโหลที่สะอาด เติมน้ำผึ้งประมาณ 2 ลิตร กะพอท่วม ปิดฝาให้สนิท และเก็บไว้ไม่ให้โดนแสง
          วิธีรับประทาน
          1.หากเป็นยาที่ดองไว้ 1 ปี หรือมากกว่า ให้รับประทานโดยผสมยา 1 ช้อนชา กับน้ำเปล่า 1 แก้ว ก่อนหรือหลังอาหาร 30 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน หรือรับประทานก่อนนอนอีกครั้งก็ได้
          2.หากเป็นยาที่ดองไว้ 3 เดือน ให้เพิ่มปริมาณยาเป็น 1 ช้อนโต๊ะ และใช้วิธีรับประทานแบบเดียวกัน
          น้ำลูกยอ (โนนิ) มีส่วนประกอบ คือ ผลยอสุก 4 กิโล กรัม น้ำ 10 ลิตร เกลือ มะขาม สับปะรส องุ่น น้ำผึ้ง
          วิธีทำนำยอมาหั่นเป็นชิ้นหยาบๆและนำมาปั่นรวมกัน นำมาหมักในเหยือกทิ้งไว้สักครู่ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำยอ เติมผลไม้ น้ำผึ้ง เกลือ ตามต้องการ จากนั้นนำไปต้ม ทิ้งไว้ให้เย็น เติมน้ำแข็งแล้วดื่ม แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเพราะไม่มีสารกันบูด
          ยาดองลูกยอบำรุงประสาท แก้เหน็บชา มีส่วนประกอบ คือ ลูกยอแก่จัด 25 ลูก แป้งข้าวหมาก 9 ลูก พริกไทย 4 สตางค์ น้ำตาลทรายครึ่งชั่ง เกลือครึ่ง ถ้วยชา
          วิธีทำ นำยอมาสับให้ละเอียด แล้วคลุกกับแป้งข้าวหมาก พริกไทย เกลือ และน้ำตาล ดองให้ครบ 7 วัน ตักมารับประทานทั้งน้ำและกาก วันละ 1 ถ้วย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นอัมพาต
          นอกจากสรรพคุณที่มากมายแล้ว "ยอ" ยังมีคุณค่าทางอาหารที่สูงมาก โดยใน 100 มิลลิกรัม มีวิตามินซี 76 มิลลิกรัม ใกล้เคียงกับมะขามป้อม และมากกว่ามะนาวถึง 2 เท่า มีแคลเซียม 350 มิลลิกรัม มากกว่านม 3 เท่า มีวิตามินเอ เหล็ก และฟอสฟอรัสในปริมาณสูง

          ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
          โทร.0-3721-1289


pageview  1205835    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved