HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 09/07/2556 ]
'ไข้หวัดใหญ่'เด็กเล็ก ผู้สูงอายุควรระวัง

 ไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือจากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
          ความน่ากลัวของไข้หวัดใหญ่ คือ โรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ที่พบบ่อยคือ ปอดบวม หรืออาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ หรือทำให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว
          ความต่างของอาการไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา
          ไข้หวัดใหญ่ ไข้ ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลียมาก ไอแห้งๆ พบได้มาก และรุนแรง มักนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปอดบวม ติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจต้องนอนพักในโรงพยาบาล
          ไข้หวัดธรรมดา ไข้ ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลียมาก ไอแห้งๆ เล็กน้อย มักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
          เนื่องจากไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่มีอาการหลายอย่างเหมือนกัน จึงยากที่จะแยกโดยการดูจากอาการของโรคเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษซึ่งต้องทำภายใน 2-3 วันแรกที่มีการป่วย เพื่อที่จะบอกได้ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่ กลุ่มเสี่ยง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่
          1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์เกินกว่า 4 เดือน  2.ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 3.ผู้พิการทางสมอง  4.ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค เช่น โรคปวดอุดกั้น หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
          5.ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี  6.บุคลากรทางการแพทย์ 7.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกัน
          1.การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนหนาแน่น และสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลโดยเฉพาะการล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากเมื่อไอ จาม และไม่ใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย พยายามอย่าสัมผัสกับสัตว์ปีกและนกโดยเฉพาะอุจจาระของสัตว์เหล่านี้ ถ้าสัมผัสต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
          ในกลุ่มเสี่ยง หากมีอาการสงสัยไข้หวัดใหญ่ เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนบุคคลทั่วไปหากมีอาการป่วยและอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
          2.การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มภูมิต้านทาน  เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิต ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยภูมิคุ้มกันในวัคซีนจะมีภูมิในการป้องกันโรคได้ หลังจากการฉีดวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์ ควรฉีดก่อนฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงระบาด และเนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลา ดังนั้นควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง วัคซีนสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 70-90% ในผู้สูงอายุ วัคซีนยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงลงได้ 60% และลดอัตราการเสียชีวิต 80%
          นพ.กิตติพงษ์ คงจันทร์อายุรแพทย์ด้านโรคติดเช้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์


pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved