HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 01/07/2556 ]
"เมทิลโบรไมด์"สารพิษรม"ข้าว"สะเทือนโลกร้อน

  ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้เป็นแค่ปัญหาภายในประเทศไทย แต่กำลังจะกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง โดยเฉพาะองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลก เนื่องจากมีการใช้สารเคมีต้องห้าม "เมทิลโบรไมด์" ในการรมควันเพื่อเก็บรักษาข้าวในโกดังจำนวนกว่า 2 ล้านตัน
          เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา "องอาจ คล้ามไพบูลย์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อมูลว่ามีการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ หรือสารรมควันข้าวเมื่อปีแล้วสูงถึง 62 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าช่วงปี 2555 ประเทศไทยมีการนำเข้า "เมทิลโบรไมด์" กว่า 300 ล้านตัน ทั้งที่ในปี 2554 ประเทศไทยไม่ได้นำเข้าสารเคมีชนิดนี้เลย เมื่อใช้สารตัวนี้มากขึ้นจะทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในการบริโภคข้าว จนมีการเตือนว่ากินข้าวค้างสต็อกของรัฐบาลอาจเกิดพิษสะสมจนเสี่ยงต่อมะเร็งตับ
          ขณะที่ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบโต้ในวันถัดมาว่า ข้อมูลของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ไม่เป็นความจริง เพราะนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่าสารที่ใช้ในการรมข้าวเพื่อป้องกันแมลงในไทย อยู่มี 2 ชนิด คือ "เมทิลโบรไมด์" และ "ฟอสฟิน" ตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ต่อมาได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออลเพื่อลดเลิกการใช้สารเมทิลโบรไมด์ เพราะทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกไม่ใช่ว่าทำให้เป็นมะเร็ง ที่ผ่านมารัฐบาลลดปริมาณการนำเข้าเหลือเพียง 27 ตัน ในปี 2556 (ม.ค. - มิ.ย.56) ไม่ได้นำเข้าสูงถึงร้อยละ 62 เมื่อเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้นำเข้าสารดังกล่าวน้อยลงถึง 21 เท่า จากที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยนำเข้าสารดังกล่าวสูงถึง 567 ตัน ในปี 2553
          เช้าวันที่ 28 มิถุนายน สื่อมวลชนรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา มีคำสั่งแจ้งให้ท่าเรือและผู้นำเข้าทุกรายทั่วสหรัฐ กักกันข้าวนำเข้าจากไทยเพื่อตรวจสอบปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะการใช้สารเคมีรมควันว่ามีปริมาณเกินมาตรฐานหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลไทยรีบออกมาตอบโต้ว่าเป็นเพียงกระแสข่าวลือเท่านั้น โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร กระทรวงการต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
          "เมทิลโบรไมด์" (Methyl Bromide) กลายเป็นประเด็นใหญ่ข้ามชาติ เนื่องจากอันตรายของสารตัวนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อร่างกายมนุษย์เหมือนสารเคมีเกษตรทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นสารต้องห้ามเพราะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรุนแรง
          ที่ผ่านมา เกษตรกรนิยมใช้กำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีพ่นรมควันใส่ข้าว ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ หรือบางครั้งอาจพ่นใส่โกดัง เรือ หรือสถานที่เก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรด้วยสารเคมีข้างต้น หากใช้มากเกินไปหรือใช้ไม่ถูกวิธี ยังเป็นอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่อันตรายต่อคนด้วย หากสัมผัสใกล้จะเกิดอาการระคายเคืองระบบหายใจและปอด เป็นพิษต่อระบบประสาท แต่ที่น่าเป็นห่วงมันสามารถระเหยหรือแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างรวดเร็ว จึงมีส่วนสำคัญในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ประชาคมโลกจึงเฝ้าระวังปริมาณการใช้สารเมทิลโบรไมด์ ขณะที่ประเทศไทยนั้น ตัวเลขการนำเข้าอ้างอิงของ 2 พรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ตรงกัน
          "จำลอง ลภาสาธุกุล" หัวหน้าโครงการลดและเลิกการใช้สารเมทิลโบรไมด์ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาไทยนำเข้าสารตัวนี้ประมาณปีละ 700 ตัน และตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วได้ลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง โดยนำเข้าจาก 2 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอลและเบลเยียม บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้นำเข้ามีเพียง 8 บริษัทเท่านั้น เนื่องจากเป็นสารที่ต้องควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด
          "ไทยเป็นสมาชิกพิธีสารมอนทรีออล ทำให้ต้องทำตามข้อตกลงคือลดหรือควบคุมการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซนของโลก เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ถูกตั้งเป้าไว้ว่าจะเลิกใช้กับสินค้าเกษตรในประเทศไทยทั้งหมดภายในปี 2558 แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะในสินค้าที่จะส่งไปยังต่างประเทศเท่านั้น เพราะสารตัวนี้ช่วยป้องกันแมลงได้ดีระหว่างขนส่งระยะทางไกล แต่ต้องใช้ให้ถูกต้องตอนนี้ทางกรมมีการจัดอบรมผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง และคุมเข้มผู้นำเข้าด้วย ไม่ใช่ว่าใครก็จะซื้อไปรมควันได้ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในโกดังข้าว ข้าวโพด ถั่ว ฯลฯ หรือในตู้คอนเทนเนอร์ที่เตรียมส่งออก ต้องมีพลาสติกคลุมให้เรียบร้อย ราคาซื้อขายประมาณกิโลกรัมละ 150 บาท"
          ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ประเทศไทยต้องลดหรือเลิกใช้ "เมทิลโบรไมด์" ตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้พิธีสารมอนทรีออล เพราะเป็นหนึ่งในสารที่ทำลายชั้นโอโซน ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก หากทั่วโลกใช้ปริมาณมหาศาลจะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็ว
          "เวลาพูดถึงก๊าซเรือนกระจก ทุกคนจะคุ้นกับตัวคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มาจากการเผาไหม้ฟอสซิลเชื้อเพลิงต่างๆ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าตัวเมทิลโบรไมด์
          อันตรายกว่า 5 เท่า ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ
          ว่า คาร์บอนไดออกไซด์ 1 กก.ดูด
          ซับเก็บความร้อนไว้ 1 หน่วย เมทิล
          โบรไมด์จะดูดซับไว้ถึง 5 หน่วย
          การกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นภาวะโลกร้อน"
          ที่ผ่านมามีการพยายามกำหนดบทลงโทษประเทศสมาชิกที่ไม่ทำตามข้อตกลงพิธีสารมอนทรีออล มีการประชุมหัวข้อนี้หลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีข้อตกลงที่แน่ชัดออกมา ดร.บัณฑูรยอมรับว่า ถึงแม้จะยังไม่มีบทลงโทษ แต่เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ประเทศไทยควรเลิกใช้อย่างเด็ดขาด เพราะมีสารอื่นใช้ทดแทน ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกมนุษย์ร่วมกัน หากโลกร้อนทำให้เกิดวิกฤติภัยธรรมชาติ ทั้งพายุน้ำท่วมก็จะส่งผลถึงคนไทยด้วย
          ปัญหาของสารเคมีพิษข้างต้นนั้น "วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ" ผอ.มูลนิธิชีววิถี (BioThai) ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร ตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขนำเข้าที่หายไปในปี 2554 นั้น สร้างความดีใจให้แก่ผู้บริโภคและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาก เพราะนึกว่าเมืองไทยจะลดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนหลังกลับมีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่ายังมีการนำเข้าอีกกว่า 300 ตัน คำถามที่หลายฝ่ายควรจี้ให้รัฐบาลตอบคือ ข้าวที่ถูกรมควันเมทิลโบรไมด์จำนวนมหาศาลนั้น มีสารพิษตกค้างมากน้อยเพียงไร
          "ควรตรวจทุกโกดังข้าวทั่วประเทศไทย ที่สำคัญควรใช้นักวิชาการหรือฝ่ายที่ 3 เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย ไม่ควรทำเฉพาะฝ่ายรัฐกับเอกชน การตรวจหาสารพิษตกค้างในข้าวควรใช้ห้องวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษาที่เชื่อถือได้ เพราะไม่รู้ว่าใช้ของกระทรวงเกษตรฯ แล้วจะมีการบิดเบือนตัวเลขมากน้อยแค่ไหน" วิฑูรย์ แนะนำทิ้งท้าย


pageview  1205873    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved