HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 05/07/2561 ]
อะไรๆ ก็ฉุกเฉิน ผ้าห่มฟอยล์-เพาเวอร์เจล เครื่องช่วยชีวิตฝูงหมูป่า

บรรยากาศผ่อนคลายขึ้นมากทีเดียว สำหรับภารกิจช่วยชีวิตทีมฟุตบอล "หมูป่า อะคาเดมี่"หลังจากนาทีแรกที่ทีมกู้ภัยชาวอังกฤษ 2 คน จอห์น โวลันเธน กับ ริชาร์ด สแตนตัน ดำน้ำ โผล่ไปเจอหมูป่าน้อยทั้งฝูงนั่งจุมปุ๊กอยู่บนโขดหิน จุดเนินนมสาว ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
          และแม้ว่าตอนนี้ทีมกู้ภัยจะยังไม่สามารถพาเด็กๆ ออกมาได้ ทั้งที่เวลาล่วงไปแล้ว 2 วัน แต่พวกเขาได้รับการประคบประหงมอย่างดีจากพี่ๆ ทหารหน่วยซีล คนเหล็กจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ที่ได้รับมอบหมายให้นำเวชภัณฑ์ ยา อาหาร และผ้าห่มฟอยล์ฉุกเฉิน (Emergency foil space blankets) เข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อน เพราะรู้ดีว่าแม้ด้านสุขภาพของเด็กยังดูแข็งแรงดี แต่ ท้องของเขาคงร้องจนแสบไปหมดแล้วด้วยความหิว ไม่งั้นคงไม่เพียรพูดประโยค We are hungry "พวกเราหิว" แทรกในบทสนทนาอยู่หลายครั้ง
          อย่างไรก็ตามการช่วยชีวิตคนที่ติดถ้ำอดอาหารนานถึง 10 วัน มีกระบวนการละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะการปรับสมดุลร่างกาย ซึ่งแพทย์รวมทั้ง โภชนากรเคยแนะนำไปแล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และที่สำคัญไม่ควรให้ผู้ประสบภัยกินอาหารหนักในทันทีเพราะจะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินผิดปกติจนสารเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ทำให้ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม ในเลือดต่ำ จนส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ร่างกายได้
          ฉะนั้นแล้วเมื่อข้อควรปฏิบัติทางการแพทย์และโภชนาการกำหนดไว้แบบนี้ หมูป่าทั้งหลายจึงจำเป็นต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน โดยรับประทานอาหารที่ไม่คุ้นเคยและไม่ถูกปากไปก่อนในวันแรกๆ จนกว่าร่างการจะปรับสภาพได้ ซึ่งเจ้าอาหารที่ว่านี้ก็คือ เพาเวอร์เจล อาหารฉุกเฉิน!
          สิ่งที่เรียกว่าเพาเวอร์เจลนี้ เป็นเจลให้พลังงานชนิดหนึ่ง ต้นกำเนิดของมันคือ "เอนเนอร์จี เจล (Energy Gel)" เป็นเจลที่ทำจากคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้พลังงานและฟื้นฟูสภาพร่างกาย โดยปกติมักใช้ในกิจกรรมที่ใช้แรงและเสียเหงื่อมากๆ อาทิ วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน เป็นต้น โดยทั่วไปมักบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กที่ฉีกง่ายเพื่อความสะดวกในการพกพาและบริโภค
          เมื่อปี ค.ศ.1983 ในการ แข่งขันวิ่งมาราธอนโอลิมปิก นักวิ่งมาราธอนชาวแคนาดาสูญเสียชัยชนะให้คู่แข่ง ไปอย่างน่าเสียดายในระยะทางก่อนหน้าการเข้าเส้นชัย เพียงไม่กี่กิโลเมตรเพียงเพราะว่าสภาพร่างกายของเขาขาดพละกำลังที่จะวิ่งต่อไปได้
          จากประสบการณ์ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้เองทำให้เขาและภรรยาซึ่งเป็นนักโภชนาการเริ่มต้นคิดค้น ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติในการให้พลังงานและคุณค่าทางโภชนาการตรงตามที่ร่างกายนักกีฬาต้องการ ตลอด 3 ปีที่พวกเขาร่วมกันคิดค้นและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์อาหารนี้ จนในที่สุดผลิตภัณฑ์เพาเวอร์บาร์จึงผลิตออกมาเป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1987
          ปัจจุบันเจลให้พลังงานเหล่านี้มีการผลิตและจำหน่ายหลายยี่ห้อ หลายรสชาติและหลายบรรจุภัณฑ์ มักแจกพร้อมน้ำให้ผู้เข้าแข่งขันในการแข่งขันกีฬาต่างๆ สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 30-40 บาท
          เพาเวอร์เจลที่นำไปให้นักฟุตบอลจอมอึดแห่ง "หมูป่า อะคาเดมี่" กินนั้น ก็อยู่ในประเภทเดียวกัน เมื่อบริโภคเข้าไปร่างกายจะดูดซับคาร์โบไฮเดรตเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย ชะลอความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ เพิ่มน้ำตาลในเลือด และปราศจากไขมัน โปรตีน หรือไฟเบอร์ ทำให้ร่างกายย่อยสารอาหารได้ง่าย ลักษณะโดยรวมคือเหมือนเครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์ที่ไม่เป็นน้ำนั่นเอง
          วิธีการกินเพาเวอร์เจล ควรกินก่อนออกกำลังกาย 15 นาที และหลังจากเริ่มออกกำลังกายไปแล้ว 30-45 นาที และใช้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ใช้แรง ทุก 30-45 นาที และควรดื่มน้ำตามทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำ
          กระนั้นแม้ว่าเพาเวอร์เจลจะมีสรรพคุณอุดม ไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แต่การบริโภคก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของร่างกาย สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำว่า เพาเวอร์เจลเป็นอาหารเฉพาะกิจชั่วคราว สำหรับคนที่สภาวะร่างกายไม่ปกติ คนปกติไม่ควรกิน
          "เพาเวอร์เจลมีไว้สำหรับคนที่ใช้พลังงานมากๆ เพื่อต้องการมาเสริมพลังงาน อันที่สองเพาเวอร์เจลไว้สำหรับฟื้นฟูสภาพบุคคลที่อดอาหารมานาน"
          เช่นเดียวกับ นพ.สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู แพทย์เวชศาสตร์การบินฉุกเฉิน บอกว่า เพาเวอร์เจล สามารถช่วยนักเตะทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตได้แต่ต้องให้ในปริมาณพอดี การที่เด็กขาดสารอาหารมานาน การให้อาหารมื้อใหญ่อาจทำให้ร่างกายทำงานหนัก อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพาเวอร์เจลช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องให้ในปริมาณที่พอเหมาะ
          ส่วนคุณสมบัติของผ้าห่มฟอยล์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า ผ้าห่มอวกาศ หรือ ไมลาร์แบลงเก็ต ข้อมูลระบุว่า ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยองค์การอวกาศนาซาในปี ค.ศ.1964 เพื่อใช้กับนักบินอวกาศ
          ผ้าห่มฉุกเฉินเป็นแผ่นพลาสติกขนาดบางเคลือบฟอยล์ไมลาร์ (PET film) ขนาดเมื่อกางออก 52x84 นิ้ว มีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อน สะท้อนความร้อน สะท้อนแสง กันน้ำและกันลม สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายภายใต้ สถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้แทนผ้าห่ม ใช้กับ นักกีฬา ใช้ในงานกู้ชีพ กู้ภัย ใช้พันห่มร่างกายผู้บาดเจ็บเสียเลือด หรือคนตกน้ำ เพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียความร้อน (Hypothermia Prevention)
          ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเราสามารถ ใช้ผ้าห่มฉุกเฉินเพื่อกักเก็บความร้อนที่ออกจากร่างกายเราได้ถึง 90%
          นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี อธิบายว่า  เนื่องจากภายในถ้ำอาจมีอากาศที่ค่อนข้าง หนาวเย็น ซึ่งคุณสมบัติของผ้าห่มฟอยล์จะช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นจากภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปกระทบผิวหนังของคนได้โดยตรงจึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายค่อยๆ อบอุ่นขึ้น
          เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การอยู่ในอากาศหนาวเป็นเวลานานจะทำให้อุณหภูมิ ร่างกายลดต่ำลง เกิดปัญหาที่เรียกว่า ภาวะตัวเย็นเกิน จะทำให้เส้นเลือดหดตัว หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย สมองหรืออวัยวะอื่นๆ อาจขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นการใช้ผ้าห่มฟอยล์กับเด็กๆ 13 คน จะช่วยให้ร่างกายเขาดีขึ้น


pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved