HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 26/06/2561 ]
อสต.เฝ้าระวังโรคต่างด้าว ด่านหน้าสาธารณสุขชายแดน

ในวันที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โรงพยาบาลพื้นที่ชายแดน ที่ รพ.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ทราบข้อมูลว่า  โรงพยาบาลใน 31 จังหวัดพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ ให้การรักษาพยาบาลประชากรต่างด้าวระหว่าง เดือนมกราคม-มิถุนายน 2561 มีค่าใช้จ่าย 2,255 ล้านบาท ในจำนวนนี้ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยได้ถึง 1,109 ล้านบาท คิดเป็น 49.2% นั่นแปลว่า โรงพยาบาลจะมีหนี้สูญในส่วนนี้  แต่จะไม่ให้การรักษาผู้ป่วยก็ไม่ได้เพราะต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคตามแนวชายแดนก็ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ
          เฉพาะที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ที่มีช่องทางธรรมชาติซึ่งคนไทยและเมียนมาร์สามารถเดินทางผ่านเข้าออกได้ถึง 11 ช่องทาง นพ.ฉัทฐกร  ธัญเกียรติ ผอ.รพ.สวนผึ้ง
          บอกว่า โรงพยาบาลรับผิดชอบดูแลรักษาพยาบาลประชาชนที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ซึ่งจะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายหัวจากรัฐบาลในการรักษาพยาบาล เป็นบุคคลรอพิสูจน์สัญชาติ 16,299 คน ประชากรในศูนย์อพยพ 6,700 คน บุคคลไร้สิทธิ 2,989 คน ในกลุ่มหลังสุดมารับบริการสูงถึง 24,000 ครั้ง/ปี ไม่สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ปีละราว 3 ล้านบาท ทั้งนี้ โรงพยาบาลบริหารจัดการภายในด้วยการเฉลี่ยค่ารักษาจากส่วนอื่นๆ มาใช้ดำเนินการ
          สำหรับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคตามแนวชายแดนโดยเฉพาะมาลาเรียที่เป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของพื้นที่ อ.สวนผึ้ง ได้มีการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว(อสต.) ปัจจุบันมีประมาณ 30 คน นางวารี สายันหะ สาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)สวนผึ้ง
          เล่าว่า ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง บริเวณชายแดนเทือกเขาตะนาวศรีจะมีผู้เดินทางเข้าออกจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถสื่อสารเรื่องการเฝ้าระวังและป้องกันโรคให้เข้าใจได้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง กะหร่าง มอญและพม่า ซึ่งสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2559 จึงได้มีการพัฒนาศักยภาพอสต. เพื่อให้เป็นด่านหน้าในการสื่อสารให้ข้อมูล  เฝ้าระวังโรคกับกลุ่มคนเหล่านี้เป็นการเฉพาะ
          ที่โดดเด่นที่สุด คือ อสต.จะได้รับการอบรมความรู้และเทคนิคในการเจาะเลือดผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรีย ทราบผลภายใน 5-10 นาที และสามารถให้ยามาลาเรียแก่ผู้ป่วยได้และติดตามการรับประทานยาจนครบ หากผลเลือดที่ส่งมาตรวจซ้ำที่คลินิกมาลาเรีย อ.สวนผึ้ง ยืนยันผลเป็นมาลาเรียแน่นอน และมีการตั้ง "คลินิกมาลาเรีย" 6 แห่ง ในหมู่บ้านชายแดน 5 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล คือ ต.ตะนาวศรี และ ต.สวนผึ้ง ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ได้ประสานขอ งบประมาณจากองค์การอนามัยโลก(ฮู) เพื่อจัดหายาและเวชภัณฑ์ มีอสต.ทำหน้าที่หลักที่คลินิก เมื่อมีการเจ็บป่วยที่รุนแรงมีระบบประสานเชื่อมต่อกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และส่งต่อ รพ.สวนผึ้ง
          "ผลการเฝ้าระวังโรคหลังจากที่มีอสต. ทำให้สามารถให้ความรู้และสื่อสารการเฝ้าระวังโรคต่างๆ ให้ประชากรที่ไม่เข้าใจภาษาไทยได้มากขึ้น เพราะมีการสื่อสารเฉพาะในภาษานั้นๆ ทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และเสียงตามสายจากอสต. ขณะที่แนวโน้มโรคมาลาเรียที่เป็นปัญหาชายแดนมากสุดและถือเป็นโรคประจำถิ่น จากเมื่อ 20 ปีก่อนอยู่ที่ราว 3 หมื่นต่อแสนประชากร ปัจจุบันอยู่ที่ 100 ต่อแสนประชากร" นางวารี กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ขณะที่ นายวิชิต วงค์ทอง อายุ 38 ปี อสต.สวนผึ้ง
          บอกว่า ตนเป็นชาวกะเหรี่ยงสามารถพูดได้ทั้งไทยและกะเหรี่ยง เข้ามาช่วยงานเจ้าหน้าที่เป็นอสต.เพราะต้องการช่วยให้ชาวบ้านไม่เจ็บป่วย หรือป่วยแล้วสามารถรักษาได้และไม่ให้มีการระบาดของโรคในพื้นที่ การทำงานจะอยู่ในหมู่บ้านที่อาศัยเป็นหลัก โดยจะสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคแต่ละชนิด โดยเฉพาะมาลาเรีย หากเป็นไข้ หนาวสั่น จะแนะนำให้เจาะเลือดเพื่อหาเชื้อ หากไม่พบมาลาเรียจะให้ยาลดไข้ทั่วไป แต่ถ้าพบเป็นมาลาเรียจะให้ยาเฉพาะและให้รับประทานต่อหน้า เพราะหากให้กลับไปบ้านอาจจะถูกทิ้งได้ และจะติดตามผู้ป่วยจนครบกำหนด 28 วัน รวมถึงให้คำแนะนำในการป้องกันโรค หากเข้าป่าให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เวลานอนให้กางมุ้ง แจกยาชุบมุ้ง เป็นต้น
          ภาพรวมของทั้งประเทศ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยการจัดทำแผนแม่บทสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน พ.ศ. 2560-2564
          บูรณาการหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายให้ประชากรในพื้นที่ชายแดนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยกลยุทธ์ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ให้สถานบริการทุกระดับมีการบริการที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความสะดวกและเป็นมิตรต่อผู้เข้ารับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 2.การเพิ่มศักยภาพการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ 3.การจัดการสุขภาพประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรต่างถิ่นเข้ามาประกอบอาชีพอย่างหนาแน่น 4.การพัฒนาความเข้มแข็งภาคีเครือข่ายความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศด้านสาธารณสุขชายแดน และ  5.การบริหารจัดการงานสาธารณสุขชายแดน
          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า สธ.มีการวางระบบรองรับการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนของการรักษาพยาบาล กลุ่มแรงงานต่างด้าวมีการจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพ ขณะที่บุคคลที่เป็นกลุ่มรอพิสูจน์สัญชาติจะมีการของบประมาณมาสนับสนุน แต่ยังมีปัญหาในคนต่างด้าวบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางเข้าออกระยะสั้นซึ่งแต่ละพื้นที่มีรูปแบบการแก้ปัญหาเฉพาะ เช่น ขายบัตรประกันสุขภาพ ส่วนการเฝ้าระวังและป้องกันโรคชายแดนมีการพัฒนาอสต. ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีประมาณ 1,380 คน
          "การแก้ปัญหาเชิงระบบ อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอจัดตั้งกองทุนสุขภาพชายแดน เป็น กองทุนเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ 31 จังหวัดชายแดนทั่วประเทศ โดยเป็นกองทุนส่วนกลาง แต่จะจัดสรรงบประมาณไปให้ระดับเขตสุขภาพบริหารจัดการเอง ให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพชายแดน ซึ่งงบประมาณเข้ากองทุนอาจจะได้จากการขายบัตรประกันสุขภาพให้แก่ต่างด้าวและรัฐสนับสนุนส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ได้นำเสนอรองนายกฯ ฉัตรชัยเบื้องต้นแล้ว ได้รับมอบหมายให้ไปหารือกันและนำมาเสนอต่อไป" นพ.ธเรศกล่าว


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved