HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 08/01/2557 ]
ชี้ควันบุหรี่มือสองคร่าเด็กในครรภ์ตัวก่อมะเร็งแม้ไม่ได้สูบเอง
 ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่าแต่ละปีการสูบบุหรี่ทำให้คนเสียชีวิตทั่วโลกถึง 6 ล้านคนต่อปี หรือ 16,438 คนต่อวัน ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 5 หมื่นคนต่อปี หรือ 1 คน ในทุก 10 นาที โดยผลจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ถึง 11 ชนิด และควันบุหรี่มือสอง เกิดผลกระทบในเด็กมาก โดยเฉพาะโรคหอบหืด ระบบหายใจ หูน้ำหนวก ใหลตาย เป็นต้น ซึ่งสารพิษที่อยู่ในบุหรี่สามารถผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ จากการที่คาร์บอนมอนอกไซด์จับกับเม็ดเลือดแดง ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนน้อยลง ควันบุหรี่จึงทำให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด พัฒนาการของปอด สมองต่ำกว่าปกติ
          ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.มุกดากล่าวว่า ผลสำรวจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังพบว่าการที่สมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่ใกล้ชิดและป้อนอาหารให้เด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคหายใจส่วนล่างเพิ่มขึ้น 3.82 เท่า และการศึกษาในเด็กอายุ 1 ขวบ 725 คน ของ ม.สงขลานครินทร์ที่ได้รับควันบุหรี่ในบ้าน พบสารนิโคตินในปัสสาวะ ร้อยละ 40.7 โดยควันบุหรี่มือสอง จะทำให้เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่มากกว่า 3 ซองต่อวัน เป็นหูชั้นกลางอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยระบายน้ำในหู 4 เท่า ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ที่มีพ่อแม่สูบบุหรี่มีโอกาสนอน ร.พ.เกือบ 4 เท่า และเด็กเล็กที่ทั้งพ่อและแม่สูบบุหรี่มีโอกาสป่วยโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบเป็น 2 เท่า
          "ควันบุหรี่มือสองทำให้เด็กเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด 2 เท่า แม้ไม่ได้สูบบุหรี่เมื่อโตขึ้น และเด็กที่เห็นพ่อแม่สูบบุหรี่ยังมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่เลียนแบบ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานประเภท 2 สูงขึ้น ดังนั้นต้องให้ความรู้ผู้ปกครองถึงผลกระทบ และเป็นแบบอย่างการไม่สูบบุหรี่" ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.มุกดากล่าว

pageview  1205825    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved