HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 06/01/2557 ]
รู้จัก'โรคข้ออักเสบ'ภัยร้ายทำลายลูกน้อย
   จะทำอย่างไรเมื่อลูกตัวน้อยเจ็บป่วย แต่ไม่สามารถบอกอาการได้ อาจมีอาการเจ็บป่วยของโรคที่พ่อแม่ไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่าง "โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก"
          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็กจากร.พ.รามาธิบดี ร.พ.ศิริราช และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ร่วมจัดกิจกรรม "ค่ายโรคข้ออักเสบ ไม่ทราบสาเหตุในเด็ก"(JIA Camp) ปีที่3 ที่ร.พ.รามาธิบดี เพื่อให้ความรู้พ่อแม่และ ผู้ปกครอง
          โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก หรือ Juvenile Iidiopathic arthritis (JIA) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) หรือภูมิแพ้ตัวเอง หรือแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนี้เกิดจากอะไร จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ซึ่งเกิดได้กับข้อทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก เป็นต้น
          พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ม.มหิดล แนะวิธีสังเกตอาการของข้ออักเสบหรือข้อติดมักจะเกิดกับลูกน้อยในตอนเช้า หรือที่เรียกว่าภาวะ Morning Stiffness หรือในช่วงที่อากาศเย็นๆ ควรสังเกตอาการว่าลูกน้อยมีอาการข้อตึงแข็งทำให้ขยับหรือลุกลำบากหรือไม่ หรือการเดินกะเผลกในช่วงเช้า
          หรืออาการเจ็บมือหากโดนจับหรือจูงมือ เจ็บขา หรือข้อเท้าเวลาเดิน เป็นไข้สูงวันละครั้ง มีอาการซึม แต่พอไข้ลดลงเด็กจะรู้สึกสบายดี และอาจจะมีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลามีไข้
          "เคล็ดลับสังเกตอาการ คือ ลองเปรียบเทียบระหว่างข้อข้างซ้ายและขวา ข้อที่บวม นูน แดง หรือจับไปบริเวณข้อที่อักเสบจะรู้สึกร้อนๆ ข้อเข่าหากรอยบุ๋มหายไปแสดงว่าข้ออาจจะเริ่มบวมหรือมีน้ำในข้อได้ เป็นต้น"
          การรักษาจะต้องให้ตัวยาที่เหมาะสมกับกลุ่มโรคทั้ง 7 กลุ่ม แตกต่างกันไป ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อของเด็กถูกทำลาย และลดความเสี่ยงจากการพิการได้
          ผศ.มลรัชฐา ภาณุวรรณากร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ม.มหิดล แนะนำวิธีช่วยฟื้นฟูลูกน้อย ให้ลูกออกกำลังกายเบาๆ วิ่งช้าๆ การเดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น หรือการบริหารข้อ เช่น หมุนหัวเข่า กำมือแบบหลวมๆ หรือฝึกบีบลูกบอล ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่มีการกระแทกหรือการต่อสู้
          นอกจากนั้นต้องดูแลลูกน้อย อาทิ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ สุกและสะอาด พาลูกมาปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติ จะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม และรักษาได้ง่าย

pageview  1205774    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved