HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 18/12/2556 ]
'กล้ามเนื้ออ่อนล้า' โรคฮิตพนักงานออฟฟิศ
 กล้ามเนื้อปวดล้า อาการธรรมดาของพนักงานออฟฟิศ อาจเข้าข่ายโรค WMSDs ที่กำลังเป็นปัญหาระดับชาติ
          โรงพยาบาลนครธน ร่วมกับ บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด จัดให้ความรู้ "ห่างไกลกล้ามเนื้อปวดล้าจาก WMSDs เพื่อสุขภาพที่ดีของหนุ่มสาวออฟฟิศ"
          โดยมี นพ.ภรชัย อังสุโวทัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยว ชาญกระดูกและข้อ ร.พ.นครธน อธิบายว่า WMSD ซึ่งเป็นคำย่อของ Work-Related Musculoskeletal Disorders คือ อาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างของกระดูก ได้แก่ เส้นเอ็น ข้อต่อ หมอนรองกระดูกสันหลัง และเส้นประสาท ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ซึ่งอาการบาดเจ็บมีตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก แต่ยกเว้นอุบัติเหตุต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน เช่น พลัดตกหกล้ม ลื่น ข้อเท้าพลิก หรืออุบัติเหตุอื่นๆ
          อาการ WMSDs มักเกิดกับผู้ที่ทำงานในท่าเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เป็นประจำ หรืออาจใช้ท่าที่ไม่เหมาะสมกับการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดทั้งในระหว่าง หรือหลังทำงาน เช่น นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องโดยไม่เปลี่ยนท่า
          สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคด้วย เช่น การทำงานในสถานที่คับแคบ ด้านจิตใจ เช่น ความเครียดจากการทำงาน สารบางอย่างที่หลั่งในสมอง จะส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว เกร็งตัว เกิดอาการเจ็บขึ้นได้
          จากการสำรวจพบว่า โรคนี้เป็นต้นเหตุ ให้สูญเสียเวลาในการทำงานถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละ 15-20 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา พบว่า 34 เปอร์เซ็นต์ สูญเสียเวลาทำงานเพราะโรคนี้ ในต่างประเทศจึงจัด
          ตั้งเป็นองค์กรดูแลสวัสดิภาพพนักงาน พบว่าช่วยลดตัวเลขของคนป่วยลงได้อย่างมาก
          แต่ประเทศไทยมองไม่เห็นความสำคัญในการรณรงค์ป้องกันเหมือนในต่างประเทศ ที่เป็นอยู่ คือ การแก้ปัญหาตามหลัง เมื่อเกิดอาการแล้ว
          ทั้งนี้ อยากฝากถึง 3 ฝ่าย ได้แก่ 1.เจ้าของธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพบุคลากร โดยดูแลเครื่องใช้สำนักงานให้ถูกสุขลักษณะ มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่ง เพื่อลดการทำงานซ้ำๆ เป็นต้น
          2.รัฐบาลควรกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพบุคลากร หรือออกมาตรการจูงใจต่างๆ 3.พนักงานและบุคคลทั่วไป ควรใส่ใจการปรับท่ายืน เดิน นั่ง ให้ถูกต้อง เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงในการทำงานต่างๆ และดูแลสุขภาพ ระวังอย่าให้เครียดมากเกินไป มิฉะนั้นปัญหาของโรค WMSDs ก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิม
          การรักษาอาการสามารถใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาในกลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากปวดมากสามารถใช้ยาทาควบคู่กับยาชนิดรับประทานได้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเกิดเป็นโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น เส้นเอ็นยึดกระดูกอักเสบ ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ การบวมอักเสบของข้อต่อที่หัวไหล่ และพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ ทำให้เกิดอาการมือชา
          โดยหากกายภาพบำบัดเป็นเวลานาน แล้วยังไม่หาย อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved