HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 10/10/2556 ]
คุยเรื่องเพศวันละนิดพิชิตใจ'วัยฮอร์โมน'

   "ปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่น ถ้าจะมองไปที่เด็ก คิดว่าเด็กกำลังเผชิญกับปัญหาอยู่ แต่ว่าหลายคนอาจมองว่าเด็กเป็น ตัวปัญหา สองคำนี้ต้องแยกกันให้ดี"
          มุมมองที่น่าสนใจของ "ตาล"ศรินทร์ทิพย์ จานศิลา ผู้ประสานงานโครงการ องค์การแพธ (ประเทศไทย) ศรินทร์ทิพย์คลุกคลีกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างจริงจัง
          โดยเฉพาะเรื่องสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่น โดยระบุว่า จากผลพวงของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วัยรุ่นเปราะบางต่อการดำเนินชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดที่พึ่งในการพูดคุยปรึกษาหารือกันในครอบครัว
          "อัตราการเผชิญปัญหาเหล่านี้มีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม ปัญหาการหนีออกจากบ้าน ปัญหาติดเพื่อน ติดเกม ไม่อยากเรียน ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ไม่มีที่พึ่ง ไม่รู้จะหันไปหาใคร พ่อแม่ก็มีเวลาให้น้อยลงด้วยเรื่องของเศรษฐกิจการเงินในครอบครัว เด็กบางกลุ่มไม่ได้อยู่กับผู้ปกครองโดยตรง มีผลทำให้เขาไม่มีที่พึ่ง ในที่สุดก็จะตัดสินใจด้วยตนเอง ทำอะไรอย่างที่วัยรุ่นเขาทำกัน"
          เช่นเดียวกับ ครูบิ๊ก สิริกา จิตตะปุตตะ อาจารย์ฝ่ายปกครอง และอาจารย์ผู้สอน วิชาเพศศึกษา โรงเรียนรัตนา ธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ที่มองว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาล้วนมาจากการขาดการสื่อสารที่ดีภายในครอบ ครัว โดยเฉพาะเรื่องเพศ
          "ปัญหามีอยู่ในทุกโรงเรียน ทุกวันนี้ไม่ได้สอนแค่เพียงว่าเพศคือเพศหญิงหรือชาย แต่จะเน้นสอนไปที่ทักษะของเด็ก ฝึกให้คิดโดยใช้สถานการณ์จำลอง ให้โจทย์เด็กแล้วให้ เด็กคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหา ก่อนให้คำแนะ นำเพิ่มเติม"
          แต่จะทำอย่างไรถึงจะให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมกับ วัยแก่วัยรุ่น องค์การแพธจึงพัฒนาหลักสูตร "คุยกับลูกหลานเรื่อง
          เพศ" ภายใต้โครงการ "The Power of human Energy  รวมพลังคน สร้างพลังใจ" ที่จัดร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวในเรื่องเพศ สร้างทัศนคติที่ดี ทั้งในตัวผู้ปกครองและลูกหลานในด้านการสื่อสารเรื่องเพศและเรื่องอื่นๆ อย่างเปิดใจ เสริมทักษะการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัวอย่างสร้างสรรค์
          ศรินทร์ทิพย์เล่าให้ฟังว่า หลักสูตรนี้มุ่งสื่อสารและให้ความรู้กับพ่อแม่ผ่านวิทยากร โดยเปิดอบรมหลักสูตรให้วิทยากรอาสา ตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ให้สามารถนำความรู้ไปบอกต่อและให้คำแนะนำผู้ปกครองในชุมชนของตนเองได้ ภายใต้หลักสูตรจะมีเทคนิคและกระบวนต่างๆ ผ่าน 10 กิจกรรม ใช้ระยะเวลา 5 วันเต็ม สองวันแรกเรียนรู้และทำเวิร์กช็อป วันที่สามและสี่ลงพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรนำเอาทักษะและความรู้ไปถ่ายทอดและสอนพ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชน โดยมีองค์การแพธคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ๆ
          สำหรับ 10 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การแนะนำตัวผ่านภาพ บอกความหมายคำว่าพ่อแม่ของแต่ละคน กิจกรรมการสำรวจชุมชน เพื่อให้พ่อแม่สำรวจสถานการณ์สิ่งแวดล้อมวัยรุ่นปัจจุบัน กิจกรรมเส้นชีวิต ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ครอบคลุมในทุกมิติ กิจกรรมการเลือกข้าง ทัศนคติที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องผิดถูก แต่จะพูดคุยอย่างไรให้ลงตัว
          กิจกรรมย้อนรอยวัยรุ่น ทำให้ผู้ปกครองย้อนคิดไปว่าสมัยตอนที่เขาเป็นวัยรุ่นเขาก็เป็นแบบนี้ จึงควรเข้าใจลูก กิจกรรมคำถามเรื่องเพศ ฝึกพูดคุยเกี่ยวกับคำถามเรื่องเพศ เมื่อลูกถามอย่างนี้จะตอบอย่างไร กิจกรรมเราทำกับลูกบ่อยไหม สำรวจลักษณะนิสัยการพูดคุยกับลูก แสดงความเป็นห่วงด้วยประโยค เชิงบวก กิจกรรมทักษะการฟังอย่างตั้งใจ กิจกรรมเจอแบบนี้ทำอย่างไรดี และกิจกรรมสำรวจตนเอง
          เมื่อเร็วๆ นี้ พ่อแม่ผู้ปกครองและอาสาสมัครชุมชนกว่า 30 คน ในจังหวัดนนทบุรี เข้าร่วมการอบรมการสื่อสารเรื่องเพศกับลูก รวมถึงฝึกทักษะการนำความรู้ที่ได้มาบอกต่อในฐานะวิทยากรอาสา บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน
          ป้อม สิลาลักษณ์ บูชา คุณแม่ลูกสองเปิดใจว่า ลูกสาวและลูกชายกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะลูกชายอายุ 16 ปี เรียนอยู่
          โรงเรียนประจำ ไม่รู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูก ได้แต่โทร.คุย บางทีก็ใช้คำพูดที่ผิดกับลูก เช่น ทำไม แกต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนลูกคนอื่น ทำไมไม่รู้สึกว่าฉันรักแกนะ ฉันทำมาก่อนแล้ว มันไม่ดี คำพูดเหล่านี้อาจทำร้ายจิตใจของลูกได้ พอเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรทำให้รู้ว่าสิ่งที่พูดไปต้องปรับ
          "เราเคยคิดว่าการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกจะชี้โพรงให้ลูกหรือเปล่า อาจไปสื่อและกระตุ้นให้เขามีความต้องการเร็วขึ้นหรือเปล่า นี่คือทัศนคติของพ่อแม่ทั่วไป แต่หลังจาก ได้มาเข้าหลักสูตร คิดว่าเราต้องพูดกับลูกและชี้นำให้ถูกทาง แต่ต้องดูวัยด้วยว่าลูกพร้อมหรือยัง พ่อแม่ต้องกล้าเปิดใจคุยเรื่องเพศกับลูก ถ้ามัวแต่เขินอาย มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องลามก ไม่ควรนำมาพูด อาจทำให้ลูกเลือกที่จะไปคุยกับเพื่อนในแบบผิดๆ เมื่อ เกิดปัญหาขึ้นมาก็ไม่กล้ามาบอกพ่อแม่"
          ด้าน ธราธร-ศศิมา แม้นพ่วง คุณพ่อคุณแม่ ที่จับมือกันเข้าร่วมอบรมหลักสูตรในครั้งนี้ เล่าว่าเด็กสมัยนี้เริ่มมีแฟนกันทั้งๆ ที่ยังเด็กมาก พ่อแม่ควรพูดคุยสื่อสารกับลูก ใช้ถ้อยคำที่เป็นมิตร คอยเป็นเพื่อน แล้วลูกจะกล้าพูดคุยกับเรา
          "อย่างลูกชายคนโต อายุ 18 ปี กล้าที่จะคุยกับแม่ว่าซื้อถุงยางอนามัยให้หน่อย แม่ก็จะพูดกับลูกในเชิงเพื่อนว่าเอ็งใช้เอ็งก็ซื้อดิ ก็รู้สึกดีใจที่ลูกกล้าคุย นั่นอาจเป็นเพราะว่าพ่อกับแม่เปิดใจและมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสำคัญจะต้องพูดคุยกัน"
          วิลาวัณย์ วงศา อายุ 28 ปี สะท้อนทัศนคติของตนเองในช่วงวัยรุ่นให้ฟังว่า เรื่องเพศส่วนใหญ่เราจะถนัด คุยกับเพื่อนมากกว่าเพราะไม่อาย แต่กับพ่อแม่เวลาเราพูดเขาไม่เข้าใจ เขาหัวโบราณกว่า อาจจะโดนดุ เราก็ไม่มีช่องที่จะไปพูดกับเขา แต่เมื่อเราโตมาประมาณหนึ่งก็รู้จักการป้องกันตัวเองได้แล้ว ก็คิดว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
          "หลักสูตรนี้ถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้พ่อแม่เปิดใจว่าทุกวันนี้ความคิดเรื่องเพศเปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่ต้องพูดคุยและฟังลูกหลาน ลูกเองก็ต้องฟังพ่อแม่บ้าง ทั้งสองฝ่ายต้องปรับเข้าหากัน"
          ศรินทร์ทิพย์สรุปในตอนท้ายว่า เด็กเขาคิดเป็น วิเคราะห์เป็น ขณะที่ผู้ใหญ่ต้องมีทางเลือกให้เขาว่าถ้าเขาเป็นแบบนี้จะส่งผลอะไรต่อชีวิตบ้าง ลองให้เขาเลือกแล้วตัดสินใจและยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าถ้าตอนนี้มีปัญหาอะไรบอกได้ทุกเรื่อง เด็กๆ ก็เปิดอยู่แล้วที่จะคุยกับเรา
          "ผู้ใหญ่เองต้องพยายามช่วยให้เด็กเข้าใจทั้งผู้ใหญ่และเข้าใจทั้งตัวเขา ให้เขาเห็นว่าเรากำลังร่วมมือกัน ในครอบครัวกำลังร่วมมือกัน สังคมกำลังร่วมมือกัน ทำอย่างไรให้สังคม มีความสุขร่วมกันได้"


pageview  1205891    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved