HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 11/09/2556 ]
'เศร้า-สุข'เกินไป ส่อโรคอารมณ์2ขั้ว

จากสถิติสากลระบุว่าในกลุ่มประชากร โลกมีผู้ป่วย โรคไบโพลาร์หรือ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว จำนวนร้อยละ 1 เมื่อเทียบอัตราส่วนประชากรแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวสูงถึง 6 ล้านคน!!
          แต่โรคไบโพลาร์ยังไม่เป็นที่ตื่นตัวในประชาชนทั่วไปมากนัก เพราะผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติได้ยาวนานเป็นปีกระทั่งลืมไปว่าตนเองเคยป่วย
          จนเมื่อกลับมาสำแดงอาการอีกครั้ง โรคดังกล่าวก็อาจทำให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตนเอง ครอบครัวและสังคมไปอย่างไม่อาจเรียกคืนได้
          ล่าสุดโรคไบโพลาร์กลับเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้ง เมื่อมีการเผยแพร่ภาพอดีตนางแบบอินเตอร์ชาวไทยระดับตำนานซึ่งเคยมีรายได้ถึงปีละ 50 ล้านบาท ในลักษณะบุคคลเร่ร่อนไร้บ้าน สร้างความแปลกใจให้สังคมไทยว่าเหตุใดเธอจึงดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก จนกระทั่งมีผู้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดให้ข้อมูลว่าเธอเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ยิ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าโรคดังกล่าวสามารถทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งพลิกผันได้มากถึงขนาดนี้จริงหรือไม่
          นพ.โกวิทย์ นพพร จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี "เมื่อคนใกล้ตัวเป็นไบโพลาร์" ว่า ไบโพลาร์มาจากคำว่า Bi แปลว่า สอง และ Polar  แปลว่า ขั้ว รวมแล้วมีความหมายว่า "โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว" เป็นลักษณะพื้นอารมณ์ที่ผิดปกติคือสุขมากเกินไปจนมีลักษณะคึกคัก และทุกข์มากเกินไปจนเข้าข่ายซึมเศร้า อารมณ์ในที่นี้หมายถึงการแสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรมที่เกิดจากมุมมองที่มีต่อตัวเอง มุมมองต่อผู้อื่น มุมมองต่อสิ่งแวดล้อมและมุมมองต่ออนาคตที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
          "ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ มีผลต่อวิจารณญาณ การคิด การใช้เหตุผลและการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและผลกระทบต่อคนรอบข้าง พฤติกรรมของขั้วที่สุขมากเกินไปผู้ป่วยจะขาดสมาธิ พูดมากไม่หยุด คิดและตัดสินใจเร็ว ไม่อยู่นิ่ง ขาดความยับยั้งชั่งใจ มั่นใจในตัวเองสูงเกินจริง คิดว่าตนเองถูกต้องคนเดียว ใช้เงินสิ้นเปลืองอย่างไม่สมเหตุผล มีพฤติกรรมแสดง ออกทางเพศมากขึ้น ไม่สามารถควบคุมความคิดให้อยู่นิ่งได้ ดูเป็นคนคึกคักครื้นเครง แต่ในบางครั้งจะหงุดหงิดก้าวร้าวเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
          ในผู้ป่วยที่อาการไม่มากจะสามารถสร้าง สรรค์ผลงานได้ดีเพราะมีความคิดบรรเจิด แต่ในรายที่เป็นระดับรุนแรงอาจก่อหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะมีสิ่งที่ต้องการทำมากมาย การซื้อทรัพย์สิน ลงทุนและเล่นการพนัน ซึ่งไม่อาจหยุดทำได้
          ในขณะที่พฤติกรรมขั้วที่ทุกข์มากเกินไปจะมีลักษณะซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เฉยชา หงุดหงิด กังวล ไร้เรี่ยวแรง รู้สึกว่าตัวเองป่วยเป็นโรคต่างๆ มีความรู้สึกผิดเกินกว่าที่ควรจะเป็น ไม่สมเหตุ ผล บางรายที่มีอาการมากจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี ไร้ค่า มีความคิดหรือการกระทำเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายร่วมด้วย" นพ.โกวิทย์อธิบาย
          โรคไบโพลาร์มีลักษณะการดำเนินโรคแบบเป็นๆ หายๆ ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาการแสดงอาการได้แน่นอนว่าจะเป็นยาวนานเท่าไร หรือจะกลับเป็นปกติได้นานเพียงใดก่อนที่จะกลับไปแสดงอาการอีกครั้ง
          ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคไบโพลาร์มี 4 ประการ ได้แก่ 1.ญาติพี่น้องมีประวัติป่วยหรือเคยป่วยโรคไบโพลาร์ 2.เป็นคนที่มีความเครียดสูง 3.เคยติดยาหรือใช้สารเสพติด 4.ประสบกับวิกฤตชีวิตรุนแรง เป็นต้น
          "ต้นตอสำคัญของโรคเกิดจากกรรมพันธุ์ และระดับสารเคมีในสมองผิดปกติทำให้สมองทำงานผิดปกติตามไปด้วย ในขั้นตอนการรักษาจิตแพทย์จะต้องซักประวัติทั้งของผู้ป่วยและเครือญาติสืบย้อนไปในอดีต เพื่อค้นหาสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริงเพื่อวางแผนแนวทางการรักษาให้ตรงจุด ทั้งการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยการบำบัด เช่น จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กลุ่มบำบัด และครอบครัวบำบัด
          หากผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องก็สามารถหายได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาถูกต้องต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น ติดยาเสพติด มีปัญหายุ่งยากด้านการเงิน เป็นหนี้เป็นสิน บ้านถูกยึด ทำผิดกฎหมาย ไม่สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และอาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ในที่สุด" จิตแพทย์กล่าวสรุปดังนั้น ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ไม่ว่าจะแสดงอาการในขั้วอารมณ์ใด ล้วนจำเป็นต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมถึงการรักษาที่เหมาะสมต่อเนื่อง เพราะเป็นโรคที่รักษาให้หายจากอาการป่วยและดำเนินชีวิตตามปกติได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากไม่ได้รับการเอาใจใส่ติดตามดูแลอย่างเหมาะสม
          ในกรณีอดีตนางแบบที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ หากวิเคราะห์ตามที่ผู้ใกล้ชิดเปิดเผยต่อสื่อสะท้อนให้เห็นว่าโรคไบโพลาร์สามารถสร้างความสูญเสียได้ไม่แพ้โรคทางกายอื่นๆ ดังนั้นหากพบว่ามีคนใกล้ตัวเป็นไบโพลาร์ ญาติมิตรและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรหมั่นให้กำลังใจ เฝ้าสังเกตพฤติกรรมและกระตุ้นให้ติดตามรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำซึ่งอาจสร้างความสูญเสียที่รุนแรงต่อตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved