HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 10/09/2556 ]
นวัตกรรมสลายพังผืด รักษาโรคปวดหลังเรื้อรัง

  อาการ "ปวดหลัง" พบ เห็นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะคนทำงานที่ในหนึ่งวันต้องนั่งติดโต๊ะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมง จนเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ
          นพ.พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท อธิบายว่า โรคปวดหลังพบได้ในคนทุกกลุ่มตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ กว่าร้อยละ 80 เกิดจากความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากอิริยาบถที่ผิดท่าทาง เช่น การเดิน การยืน การนอน การนั่ง หรือการใช้ชีวิตไม่ถูกต้อง เช่น ยกของหนัก การเล่นกีฬา อุบัติเหตุ ส่วนร้อยละ 20 ที่เหลือเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะและโรคต่างๆ
          เบื้องต้นสำหรับรายที่ไม่รุนแรงมากนัก ทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ ร่วมด้วยการทำกายภาพบำบัดในบางกรณี พร้อมกับแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้งานหลัง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการปวดต่อเนื่องจนกลายเป็นโรคเรื้อรังนานกว่า 3 เดือน อาจต้องพึ่งการฉีดยาลดการอักเสบที่ช่องไขสันหลัง (Epidural steroid injection) โดยตรง และมีไม่น้อยที่ต้องผ่าตัด หรือใส่สกรูเข้าไปเพื่อยึดกระดูกสันหลังให้มั่นคง ต้องพักฟื้นทนเจ็บแผลบนเตียงไปอีกนานหลายเดือน ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง เสี่ยงผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
          นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยเพราะวงการแพทย์สมัยใหม่ คิดค้นนวัตกรรมสำหรับรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ที่เรียกว่า Epidural Adhesiolysis (EA) เป็นการฉีดยาเข้าไปที่ช่องไขประสาทเพื่อสลายพังผืดผ่านทางผิวหนังโดยตรง
          วิธีการรักษาจะใช้เครื่องมือพิเศษ มีลักษณะเป็นด้ามจับที่ต่อกับอุปกรณ์คล้ายท่อสายยางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ม.ม. ยาว 30 ซ.ม. สอดเข้าไปในช่องด้านหลังกระดูกเชิงกราน บริเวณเหนือก้นกบ ทำหน้าที่เลาะและตัดพังผืดที่เกิดขึ้นรอบถุงไขประสาทให้หลุดออกจากการกดทับหรือดึงรั้งเส้นประสาทเพื่อรักษา และยังใช้เป็นอุปกรณ์ฉีดยาแก้อักเสบและยาละลายพังผืดตรงจุดก่อโรคได้โดยตรง
          เครื่องมือมีขนาดเล็กแพทย์จึงควบคุมการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้ง่าย เข้าถึงจุดที่มีการอักเสบเพื่อรักษาได้แม่นยำ เพียงแค่ใช้ยาชาเฉพาะที่บริเวณช่องหลังส่วนล่างก่อนสอดสายเข้าไป ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ผู้ป่วยก็กลับบ้านได้
          นอกจากจะให้ผลลัพธ์ด้านการรักษาที่น่าพึงพอใจแล้ว ยังเจ็บตัวน้อยกว่าเดิมมาก ทำให้ไม่ต้องพักฟื้นนานเป็นเดือน ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่แพงเมื่อเทียบกับรูปแบบการรักษาแบบเดิมๆ กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับผู้ป่วยโรคปวดหลังเรื้อรัง


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved