HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 14/02/2555 ]
เตือนติด'โรคฉี่หนู'จากออฟฟิศแพร่เชื้อปนเปื้อนเข้าตา-ผิวหนัง-จมูกถึงตาย

         น.พ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวว่า คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีสจะพบได้เฉพาะในท้องทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงหนูที่อาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือน หรือสำนักงานต่างๆ ก็เป็นพาหะของโรคนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในหนู วัว ควาย ดังนั้น อาคารสำนักงานควรทำสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในลักษณะที่ไม่เอื้อต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู เช่น กำจัดอาหารตกค้างไม่ให้เป็นสิ่งดำรงชีพของหนู หากมีหนูควรใช้อุปกรณ์ดักหนูและกำจัดออกไป ตามด้วยการทำความสะอาด และจัดเก็บมุมสกปรกหรือมุมอับไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู เป็นต้น

 

          น.พ.รุ่งเรืองกล่าวว่า โรคฉี่หนูมีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 10 วัน หรืออยู่ในช่วง 4-19 วัน แต่อาจจะเร็วภายใน2 วัน หรือนานถึง 26 วัน อาการของผู้ป่วยที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงมักปวดที่น่อง โคนขา และกล้ามเนื้อหลัง ตาแดง อาจมีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด และมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีผื่นที่เพดานปาก โลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ตับและไตวาย ดีซ่าน อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบทำให้รู้สึกสับสน เพ้อ ซึม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจมีอาการระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะ อาจมีเลือดปนและเจ็บหน้าอกเป็นต้น ซึ่งโรคนี้หากรักษาได้ทันท่วงทีจะหายเป็นปกติ แต่หากรักษาไม่ทันทำให้เสียชีวิตได้
          "คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าจะติดโรคฉี่หนูต่อเมื่อเดินลุยน้ำแล้วน้ำมีเชื้อโรคฉี่หนู และคนๆ นั้นมีบาดแผลเท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่ เชื้อโรคฉี่หนูสามารถติดต่อเข้าทางตา หรือการกินอาหารหรือน้ำที่วางทิ้งไว้แล้วหนูมาฉี่ใส่ได้เช่นกัน หรือการหายใจเอาละอองนิวเคลียสจากของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ส่วนภาชนะใส่อาหารที่หนูฉี่ใส่แล้วคนนำมาใส่อาหารกินต่อมีโอกาสติดเชื้อได้แต่อาจจะน้อยกว่าการกินอาหารที่หนูฉี่ใส่โดยตรง การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากหนูในออฟฟิศ แพทย์อาจนึกไม่ถึงโรคนี้เพราะไม่มีประวัติลุยน้ำมาก่อน" น.พ.รุ่งเรืองกล่าว

pageview  1205025    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved