HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 30/05/2555 ]
ศิริราชพบ2เชื้อโรคในไก่สด

 เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่โรงแรมสยามซิตี น.พ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาระบบการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวภายหลังการประชุม "เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ : ภาวะวิกฤตต่อสุขภาพคนไทย" ว่า ยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่มีความจำเป็นและช่วยชีวิตคนได้มาก แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น และดื้อต่อยาหลายขนานพบว่าคนไทยมีอาการติดเชื้อดื้อยากลุ่มนี้ถึง 100,000 คน อยู่โรงพยาบาลมากกว่า 1 ล้านวัน และเสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย ล้วนมาจากการใช้ยาเกินความจำเป็น ดูจากมูลค่าการผลิตและนำเข้ายากลุ่มนี้สูงถึง 10,000 ล้านบาท เชื้อดื้อยาที่พบบ่อยในคนไทย คือ เชื้ออะซินีโต แบกเตอร์บอมานีไอ หรือ เอ บอม ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ ซึ่งเดิมทีใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีแนมส์ ซึ่งเป็นกลุ่มยาด่านสุดท้ายที่ใช้ฆ่าเชื้อดื้อยา แต่ 10 ปี ที่ผ่านมาพบว่าเชื้อกลุ่มนี้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มคาร์บาพีแนมส์ถึงร้อยละ 80 แล้ว
          น.พ.ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า นักศึกษาระดับปริญญาโท ได้ตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่ใกล้เคียงร.พ.ศิริราช 200 แพ็ก ศึกษาการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ เอสเชอริเชีย โคไล ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป แต่บางตัวก่อโรคได้ อาทิ โรคอุจจาระร่วง และ ซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า พบว่า มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ตัวเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์ ถึงร้อยละ 56.7 เป็นการปนเปื้อนเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล ร้อยละ 53 และซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า ร้อยละ 18.7 พบเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว
          "ชุมชนนี้มีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 2 เด้ง ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในการตรวจ ถ้านำเนื้อไก่ไปปรุงสุกเชื้อแบคทีเรียจะตาย แต่ที่น่าห่วงคือ ยีนส์ดื้อยาของเชื้อทั้ง 2 ชนิดอาจจะไม่หายไปนอกจากนี้ มีรายงานในต่างประเทศว่าผู้เดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับไปพบเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ดื้อยาเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็น 49" น.พ.ชาญวิทย์กล่าว


pageview  1205114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved