HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/06/2561 ]
มือเท้าปาก ระบาดพบนร.ป่วยอีก 8 รายปิดอนุบาลตรัง 7 วัน สธ.เผยติดเชื้อ 1.3 หมื่น

    สั่งปิดเรียน 7 วัน โรงเรียนอนุบาลตรังหลังพบนักเรียนป่วยมือเท้าปากเพิ่ม 8 ราย เร่งทำความสะอาดอุปกรณ์การเรียนการสอน-ของเล่น ฆ่าเชื้อหยุดการระบาด ขณะที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเผยตั้งแต่ 1 ม.ค.-4 มิ.ย.พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้ว 13,554 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เกือบร้อยละ 85.8 เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  แนะโรงเรียน-สถานเลี้ยงเด็กคัดกรอง ดูแลเป็นพิเศษ ป้องกันเชื้อแพร่กระจายรวดเร็ว
          เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.รักษ์ บุญเจริญ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง นายสมชาย ชิดเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เทศบาลนครตรัง ลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์โรคมือเท้าปาก พร้อมประกาศให้นักเรียนชั้นปฐมวัยทุกระดับชั้นหยุดการเรียนการสอน 7 วัน เพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคมือเท้าปาก หลังพบการระบาดเพิ่มขึ้น พร้อมกำชับทุกสถานศึกษาให้เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากใกล้ชิด โดยโรงเรียนจะเปิดเรียน ชั้นปฐมวัยทุกระดับชั้นวันที่ 18 มิถุนายน เพื่อหยุด การระบาดของโรคมือเท้าปากในโรงเรียน
          นายกำธร ไตรบุญ ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 (สังขวิทย์) กล่าวว่า คณะครูอาจารย์ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง และตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนระดับปฐมวัยทั้ง 3 ระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1-3 ปรากฏว่า พบโรคมือเท้าปากระบาดในเด็กอนุบาลเพิ่มทั้งในระดับอนุบาล 1 และอนุบาล 2 อีกมากกว่า 10 คน จึงแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กและพาไปพบแพทย์ พร้อมประสานศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครตรัง 2 เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค โรงพยาบาลตรังลงพื้นที่ด้วย
          ขณะที่นางสุกันยา ง่วนสน ครูประจำชั้น ปฐมศึกษาปีที่ 3/2 กล่าวว่า อยากให้ผู้ปกครองสังเกตบุตรหลาน ดูที่มือ ให้เด็กอ้าปากดูเพดานปาก ดูในคอและลิ้น หากเป็นเม็ดสีแดง และที่มือที่เท้า มีเม็ดผิดแปลกไปหรือไม่ หากไม่แน่ใจ เช่น เป็นเม็ดแดงๆ คล้ายมดกัด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็น และให้รีบพาไปพบแพทย์ช่วยวินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่  ซึ่งในส่วนโรงเรียนนั้นมีมาตรการเฝ้าระวังตรวจร่างกายเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน วันนี้พบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากเพิ่ม เพราะระยะฟักตัวเริ่มชัดเจนขึ้น พบเด็ก 2-3 รายที่แน่ชัดว่าเป็น ส่วนที่กำลังเฝ้าระวัง 4-5 ราย ให้ครูประจำชั้นโทรหา ผู้ปกครองมารับ และอธิบายให้ผู้ปกครองฟังและพาไปหาหมอ และรักษาอาการเด็กให้หายก่อนพามาโรงเรียน วันนี้พบนักเรียนอนุบาล 1 เพิ่ม และเริ่มพบในเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 แล้ว
          ด้านนายสมชาย ผอ.สำนักการศึกษาเทศบาลนครตรังกล่าวว่า ส่วนของโรงเรียนเทศบาล 1 (สังขวิทย์) ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เทศบาลนครตรังลงมาดูตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พบนักเรียนอนุบาล 1/2 เป็นโรคมือเท้าปากจึงสั่งให้ห้องเรียนนั้นหยุดการเรียนการสอนไป และวันนี้มาเจอห้องอนุบาล 1/3 ซึ่งได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เทศบาลนครตรัง ลงมาสุ่มตรวจทั้งหมด ทั้งระบบ ประกอบการตัดสินใจปิดเรียน สำหรับนักเรียนในระดับปฐมวัยทั้ง 8 โรงในเขต เทศบาล รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้กำชับผู้อำนวยการ ให้เฝ้าระวัง หากมีอาการให้ตัดสินใจปิดเรียนได้ทันที
          ส่วนนพ.รักษ์กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวได้ปิดห้องเรียนเมื่อวันพฤหัสบดี 1 ห้องและวันนี้มีเพิ่ม 8 ราย แสดงว่าต้องปิดชั้นอนุบาลทั้งหมด ทางศูนย์ฯกับ โรงพยาบาลตรังเข้ามาดูแลไม่ให้ระบาดเพิ่ม คาดว่าจะ ปิดเรียนประมาณ 7 วัน เพื่อให้เชื้อหมดไป และได้แจ้งเฝ้าระวังไปยังศูนย์เด็กเล็กฯและโรงเรียนที่มีเด็กเล็ก ทุกแห่ง แต่ไม่น่ากังวล เพราะไม่ใช่โรคร้ายแรง
          วันเดียวกัน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากเริ่มพบมากขึ้นในช่วง ฤดูฝน และมีความเสี่ยงที่จะพบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก (แรกเกิด-4 ปี) และกลุ่มเด็กวัยเรียน (5-9 ปี) เพราะโรงเรียนมีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านสิ่งของใช้และ ของเล่น
          ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 มิถุนายน พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากแล้ว 13,554 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมด ร้อยละ 85.8  เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  ที่อยู่ในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็ก หากไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้รวดเร็ว สำหรับวิธีในการป้องกันโรคมือ เท้าปาก มี 4 วิธีคือ ลดการสัมผัสเชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักติดอยู่บนมือแล้วไปจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้  หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ ลดเชื้อโรค ในสิ่งแวดล้อม  ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ   และถ้าพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหายดี ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ  และ ไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
          ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรง เสี่ยงเสียชีวิตได้มากกว่าสายพันธุ์ปกติ


pageview  1204945    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved