HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/04/2561 ]
ซัมเมอร์นี้ อาจไม่สดใส ถ้าไม่ระวัง ฮีทสโตรก-ฝ้า ภัยร้ายมากับแดดและหน้าร้อน

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูกาล "หน้าร้อนที่สุด" มาพักใหญ่เพราะแดดเมืองไทยร้อนแรงไม่แพ้ชาติใดในโลก ภัยร้ายที่มีผลต่อสุขภาพในช่วงหน้านี้ที่ต้องระวังให้ดีก็คือ "โรคลมแดด" หรือ ฮีทสโตรก
          กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า บางพื้นที่ปีนี้อุณหภูมิอาจจะพุ่งปรี๊ดเกินกว่า 42 องศาเซลเซียส ดังนั้น ในช่วงที่อากาศร้อนจัด ก็อาจเสี่ยงให้เกิดภาวะเจ็บป่วย ทั้งโรคลมแดด ลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งมีอันตรายอย่างรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานผิดปกติของระบบสมองได้
          บางรายที่เสียชีวิตเกิดจากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด อาจมีอาการเพิ่มเติมเช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก
          หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจเสียชีวิต
          สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเผชิญอาการป่วยจากที่มาของอากาศร้อนก็คือ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา ฝึกทหาร ที่ไม่ได้เตรียมตัว มาก่อน (อาจไม่ตายแค่สลบ) ผู้ทำงานกลางแดด เช่น กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร เด็กน้อยอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวประเภทโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อน ไม่เพียงพอ และบรรดาสิงห์ข้างขวดหรือ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัด
          ถ้าเราพบเจอคนป่วยที่มีอาการส่อว่ามาจากลมแดด ลมร้อน สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นดังนี้
          เริ่มจากนำผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก ถ้าผู้ป่วยหมดสติให้เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง จัดให้นอนท่าตะแคงเพื่อป้องกันลิ้นตกและป้องกันการสำลัก จากนั้นเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือสเปรย์ร่างกายด้วยน้ำแล้วเป่าลม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตาม ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ แต่ต้องหลีกเลี่ยง การใช้ผ้าเปียกคลุมตัวผู้ป่วย เพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย
          ขั้นตอนสุดท้ายให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือยกหูไปที่สายด่วน 1669
          วิธีการป้องกันตัวไม่ให้เป็นโรคลมแดด ลมร้อน ง่ายๆ คือ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มี โรคประจำตัวด้านหลอดเลือดหรือหัวใจ
          ถ้าจำเป็นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ใช้วิธีกางร่มหรือใส่หมวก ดื่มน้ำเปล่าตลอดทั้งวัน (ไม่ต้องรอให้หิวน้ำ) ห้ามทิ้งเด็กเล็กหรือ ผู้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไว้ในรถที่จอด กลางแดด (รวมถึงน้องหมาด้วย) เพราะมีหลายครั้งแล้วที่เกิดเรื่องน่าเศร้า
          สำหรับผู้ที่ชีวิตประจำวันต้องทำงานในสภาพอากาศร้อนอยู่ตลอด พยายามปรับตัวให้คุ้นชินกับสภาพอากาศร้อนก่อน และเมื่อใดที่รู้สึกกระหายน้ำมากเกินปกติ ตัวร้อนแต่เหงื่อไม่ออก หายใจถี่ ปากคอแห้ง วิงเวียนศีรษะ นี่คือสัญญาณอันตราย
          ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
          อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าแดดไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะตากปลาหรือตากเสื้อผ้า แต่แสงแดดมีความสำคัญในการสร้าง "วิตามินดี" ซึ่งเป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก หากร่างกายไม่ได้รับแสงแดดเลยอาจทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ได้รับแสงแดดน้อยเกินไปอาจมีปัญหานอนไม่หลับหรือเกิดภาวะ ซึมเศร้าได้
          เมื่อรู้แล้วว่าแดดดีมีประโยชน์ คนที่เป็นห่วงกลัวผิวจะไม่สวย ก็ต้องหาเวลา ออกแดดกันบ้าง เพียงแค่ไม่ควรโดนระหว่าง สิบโมงเช้าถึงบ่ายสามโมง เพราะแดดช่วงนั้นก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด
          ผลกระทบจากแสงแดดรุนแรงจะทำให้ผิวหนังแดงขึ้น ไหม้ บางคนผิวอาจจะคล้ำขึ้นทันที แต่บางคนเมื่อโดนแดดต่อเนื่องแล้วผิวจะค่อยๆ คล้ำขึ้น ผิวที่คล้ำก็เกิดจากการที่โดนแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง เกิดสีกระดำกระด่าง กระ ฝ้า ร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ
          การใช้ยากันแดดเพื่อป้องกันรังสีจากแสงแดดจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
          พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ข้อมูลว่า ปัญหาผิวหนังจากแสงแดด ได้แก่ ผด ผื่น คัน แพ้แสงแดด ผิวไหม้ ผิวคล้ำ กระ โดยเฉพาะ "ฝ้า" ที่เป็นปัญหาผิวหนังสำคัญพบบ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย
          ลักษณะของฝ้าคือผื่นสีน้ำตาลขึ้นที่ใบหน้าโดยเฉพาะที่บริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง ตลอดจนแขนและบริเวณที่ ถูกแสงแดด มักเป็นเท่ากันทั้ง 2 ข้างของใบหน้า พบมากในผู้หญิงวัย 30-40 ปี
          แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าผู้ชายเป็นฝ้า มากขึ้น สาเหตุของการเกิดยังไม่แน่ชัด อาจจะมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือแสงแดดที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เป็นฝ้ามากขึ้น
          "ฮอร์โมน" ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์หรือกินยาคุมกำเนิดจะเป็นฝ้าได้ง่าย แม้แต่พันธุกรรมก็มีส่วนสำคัญกับการเกิดฝ้า เนื่องจากพบได้ร้อยละ 20-70
          บางคนอาจจะไม่รู้ว่าเครื่องสำอางและยาบางชนิดที่หน้าฉากดูดี แต่จริงแล้วแฝงด้วยความร้ายกาจเพราะเป็นตัวการทำให้เกิดฝ้า แม้แต่การแพ้ส่วนผสมบางชนิดในเครื่องสำอาง เช่น สารให้กลิ่นหอมหรือสี
          การดูแลผิวหนังเพื่อป้องกันภัยจากแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ออกไปข้างนอกต้องกางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว และทายากันแดดสม่ำเสมอก่อนออกจากบ้าน
          "กระหายน้ำเกินปกติ ตัวร้อน เหงื่อไม่ออกหายใจถี่ ปากคอแห้ง วิงเวียนศรีษะเป็นสัญญาณอันตราย รีบพบแพทย์ทันที"


pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved