HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/04/2561 ]
ปิยะสกล ตั้งทีมวิจัยสารกัญชา รักษามะเร็ง-ลมชัก-พาร์กินสัน

  รัฐมนตรีว่าการ สธ.ตั้งคณะทำงานวิจัย'กัญชา' เล็งใช้ในทางการแพทย์ ปธ.บอร์ด อภ.หนุนข้อเสนออธิการบดี ม.รังสิต แก้ กม.ยาเสพติด ปลดล็อกใช้ในคน
          เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ในงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับ เพื่อพิจารณาว่าสิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์กับคนไทย กับทางการแพทย์ ซึ่งต้องทำวิจัยและพัฒนากัญชา เพราะศักยภาพเหมือนสมุนไพรทั่วไป แต่กฎหมายในขณะนี้ยังกำหนดให้เป็นสารเสพติด ดังนั้นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้วิจัยพัฒนา และทดลองในคน เพื่อนำไปสู่การสกัดมาใช้ทางการ แพทย์ได้ เชื่อว่าไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเรื่องนี้
          "ได้ปรึกษาหารือกันแล้วว่าจะตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการ โดยดึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการ ทั้งคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิต ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาช่วยทำในเรื่องนี้ และเชิญ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธาน" นพ.ปิยะสกลกล่าว
          นพ.โสภณกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ด อภ.ได้ไปศึกษาดูงานการใช้ประโยชน์จากกัญชาที่ประเทศแคนาดา จะเห็นได้ว่าโลกตะวันตกมีการพัฒนานำประโยชน์จากสารสกัดของกัญชาไปใช้ทางด้านการแพทย์ ซึ่งใช้ใน 2 ประเด็น ทั้งด้านการแพทย์ และด้านผ่อนคลาย แต่สำหรับประเทศไทยจะใช้เฉพาะด้านการแพทย์เป็นหลัก ประเด็นแรกที่นักวิชาการต้องช่วยคือ พิจารณาว่ากัญชามีข้อบ่งชี้ที่จะใช้ในทางการแพทย์มากน้อยเพียงใด
          "จะมุ่งไปที่การรักษาโรค ได้แก่ โรคลมชัก โดยเฉพาะในเด็ก ยาที่มีอยู่บางครั้งไม่สามารถคุมการชักได้ แต่กัญชาสามารถคุมได้ดี โรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งรบกวนชีวิตมาก มือสั่น เมื่อได้ยาแผนปัจจุบันก็จะเกร็ง แข็ง โรคมะเร็งก็ใช้ลดอาการปวด และความอยากอาหาร และลดความเจ็บปวดแทนการใช้มอร์ฟีน จะมีการทำงานผ่านคณะทำงานวิชาการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือในแนวทางการดำเนิน การ และในเรื่องนี้คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขก็มีการหารือเรื่องนี้เช่นกัน" นพ.โสภกล่าว
          นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ในฐานะ อภ.ก็ต้องมีการศึกษาเช่นกัน ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ แม้ของไทยจะมีสายพันธุ์ดี แต่ประเทศอื่นก็พัฒนาไปมาก นอกจากนี้ พัฒนาสารสกัด ซึ่งไทยยังใช้เอทานอลสกัดสารกัญชา แต่แคนาดาใช้กระบวนการสกัดที่เรียกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีโรงงานถึง 13 แห่ง มีประสบการณ์ในการผลิตสารสกัด 4 ปี สิ่งสำคัญหากจะทำ ต้องมีระบบการควบคุมไม่ให้รั่วไหล ซึ่งเรื่องนี้มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดูแล
          นพ.โสภณกล่าวว่า กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 กำหนดว่าห้ามใช้เด็ดขาด จึงไม่อาจนำมาศึกษาวิจัยในคนได้ ขณะนี้จึงทำได้เพียงปลูกและสกัดสารออกมาเพื่อทดลองในสัตว์ จึงเป็นที่มาว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตเสนอให้ปลดล็อก ซึ่งประเด็นนี้ กระทรวงยุติธรรม และ อย.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.ยาเสพติด ให้เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด "คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขมีการหารือเช่นกัน เช่น การปฏิรูปการแพทย์แผนไทย มีเรื่องของการพัฒนากัญชา กระท่อม ก็ต้องเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรในแง่วิชาการทางการแพทย์ ทั้งนี้ ในร่างปฏิรูป ระบุเพียงว่าจะศึกษาวิจัย แต่ในรายละเอียด อภ.ต้องทำเป็นโครงร่างวิจัย เสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณา ถ้าผ่านก็จะศึกษาวิจัยได้ คาดว่าภายใน 60 วัน ร่างจะแล้วเสร็จ" นพ.โสภณกล่าว


pageview  1204957    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved