HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/02/2561 ]
ห่วง ตร.จร.-วินจยย.คนกวาดขยะ เสี่ยง!ค่าฝุ่นขนาดเล็กกทม.ยังเกินมาตรฐานอื้อ

  ค่าฝุ่นขนาดเล็ก กทม.เกินมาตรฐาน เฉลี่ย 51-84 มคก./ลบ.ม. เขตธนบุรีสูงสุด 84 มคก.
          เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 51-84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกสถานี รวม 6 สถานี ได้แก่ เขตบางนา มีค่าฝุ่น 66 มคก./ลบ.ม. แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง มีค่าฝุ่น 65 มคก./ลบ.ม. ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน มีค่าฝุ่น 68 มคก./ลบ.ม. ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี มีค่าฝุ่น 84 มคก./ลบ.ม. และริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง มีค่าฝุ่น 65 มคก./ลบ.ม. และริมถนนพญาไท เขตราชเทวี มีค่าฝุ่น 51 มคก./ลบ.ม.
          นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดี คพ. เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กสะท้อนปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นใน กทม.ขณะนี้ว่า ค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่บางนาตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเช้านี้ อยู่ที่ 61.87 มคก./ลบ.ม. เมื่อนำเอาความเข้มข้นฝุ่นพิษดังกล่าวไปหาดัชนีคุณภาพอากาศ ตามวิธีการของสหรัฐอเมริกาผลคืออยู่ในระดับสีแดง ซึ่งแสดงว่าคุณภาพอากาศมีอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นวิกฤตด้านสุขภาพของประชาชนนั้น ทาง คพ.ขอชี้แจงการกำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของแต่ละประเทศที่ใช้แถบสีในการรายงาน จะมีความสัมพันธ์กับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่แต่ละประเทศกำหนด การกำหนดค่ามาตรฐานจะพิจารณากำหนดจากข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาของประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งค่ามาตรฐานระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกายังมีความแตกต่างกัน โดยประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของสหรัฐอเมริกาไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ประกอบกับระดับการแบ่งช่วงค่าและความหมายของสีที่ใช้ระหว่างดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยและของสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
          นางสุณีกล่าวว่า หลังจากพบว่า PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน คพ.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อกำหนดและดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนในแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการเฝ้าติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับสื่อมวลชนและประชาชน ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะโดยเพิ่มจุดตรวจจับรถควันดำและบังคับใช้กฎหมาย การเข้มงวดการตรวจสภาพรถโดยสาร ตรวจสอบตรวจจับการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นการลดมลพิษจากการจราจร การลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดถนน และการขอความร่วมมือจากภาคประชาชนดูแลรักษารถยนต์ของตนเองให้อยู่ในสภาพดี ช่วยลดการนำยานพาหนะส่วนบุคคลเข้าในเขตเมือง ให้ใช้รถร่วมกัน "ทางเดียวกันไปด้วยกัน" การใช้รถขนส่งสาธารณะ รวมทั้งการงดการเผาขยะ ใบไม้ กิ่งไม้
          "ด้านมาตรการดูแลสุขภาพ ให้ประชาชนหลีกการสัมผัสฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือใช้ผ้าชุบน้ำ เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ ซึ่งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังและรายงาน 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง ที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก" นางสุณีกล่าว
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอนใน กทม. ทางกรมมีความเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องอาศัยหรือทำงานอยู่บริเวณพื้นที่ค่าฝุ่นละอองสูง โดยอาชีพที่น่าห่วงคือวินมอเตอร์ไซค์ ปัญหาคือหลายครั้งผลกระทบจากฝุ่นละอองไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เป็นระยะยาว ซึ่งต้องมีการตรวจและติดตามอย่างสม่ำเสมอ และหลายครั้งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนเองในการเข้ามาตรวจสุขภาพของตน แต่ความเป็นจริงก็ค่อนข้างลำบาก เพราะหลายคนต้องทำงานและหากต้องการไปพบแพทย์ก็ต้องมีอาการก่อน เช่น ปวดหัว ไอ หรือมีอาการหายใจติดขัด เพราะหากไม่มีอาการก็จะไม่ไปตรวจ ขณะที่สถานพยาบาลบางแห่งก็ยังไม่มีเครื่องมือในการตรวจเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ยกเว้นสถานพยาบาลขนาดใหญ่
          "ทางกรมได้มอบให้ทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักโรคติดต่อทั่วไป ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิด 'คลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดี' ขึ้น นอกจากนี้เตรียมจะเสนอและผลักดันให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เพื่อให้สิทธิในการตรวจหากลุ่มโรคที่เกี่ยวกับฝุ่นละออง เบื้องต้นคาดว่าน่าเป็นรูปธรรมในกรณีของคลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดี ภายในปีนี้จะมีคลินิกนำร่องในโรงพยาบาลขนาดใหญ่" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
          พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม คร. กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 2.5 ไมครอนนั้น ต้องระวังเป็นพิเศษใน 3 กลุ่มอาชีพ คือตำรวจจราจร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มอาชีพทำความสะอาดถนน หรือกวาดถนน ยิ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน แม้จะไม่ได้อยู่นานเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่อยู่เป็นประจำแทบทุกวันก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากไม่มีทางทราบว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง นอกจากจะป่วยและเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการป้องกัน แม้จะแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 แต่ปัญหาคือหน้ากากชนิดนี้ค่อนข้างใหญ่และอึดอัด หลายคนอาจไม่สะดวก แต่การใส่หน้ากากคาร์บอนก็พอช่วยได้
          นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งเกินกว่าค่าเกินมาตรฐานกำหนดนั้น ในส่วนของผู้ที่ต้องทำงานหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นเวลานานๆ แต่ไม่อยากใส่หน้ากาก N95 เพราะอึดอัด และมีราคาสูง เราสามารถใช้ผ้าชุบน้ำหรือใส่หน้ากากปกติทดแทนได้ เพราะจริงๆ คงไม่ได้อยู่ในสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐานตลอดเวลา โดยในการใช้ผ้าชุบน้ำหรือใส่หน้ากากปกติ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อลดปริมาณการสูดฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกาย เพราะจริงๆ เราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องการสิ่งที่เป็นไปได้เหมาะสมที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการลดเวลาในการสูดอากาศในพื้นที่เสี่ยง หรือลดการทำกิจกรรมที่ต้องสูดหายใจเข้าลึกๆ รวมถึงร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น
          นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่าสภาวะดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก เพราะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนมาตรการ 15 ลด 2 เพิ่ม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศ ว่า อาทิ มาตรการลดมลพิษจากการจราจร มาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง มาตรการลดฝุ่นละอองจากการเผาและกิจกรรมต่างๆ มาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความถี่ในการทำความสะอาดที่สาธารณะ ฯลฯ อีกทั้งยังได้หารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำชับผู้รับเหมาปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละออง และด้านการจราจร ที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมถึงจะติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเสาเหล็กเพิ่มเติม บริเวณริมถนนสายหลักกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อตรวจวัดและติดตามคุณภาพอากาศ


pageview  1204998    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved